ขุนช้างขุนแผน แดนลดพุง นิทรรศการแสดงผลงานสื่อสร้างสรรค์ และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ ในโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ จังหวัดสุพรรณบุรี

หมวดหมู่ ข่าวสาร/กิจกรรม , โดย : root , 14 มีนาคม 2567 / อ่าน : 615

ขุนช้างขุนแผน แดนลดพุง นิทรรศการแสดงผลงานสื่อสร้างสรรค์ และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ ในโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ จังหวัดสุพรรณบุรี

(วันที่ 5 มีนาคม 2567) ที่โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ จังหวัดสุพรรณบุรี แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานใน โครงการสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 5 ของโรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ ที่นำเสนอมาในธืม ขุนช้างขุนแผนแดนลดพุง

หลังจากที่โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน“ (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้) ให้กับแกนนำโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนกว่า 26 โรงเรียน ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และผ่านเข้ารอบมาร่วมดำเนินโครงการในธีมดังกล่าวมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 และผ่านการดำเนินกิจกรรมมาแล้ว 2 ครั้ง จากคณะกรรมการที่เป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการของโครงการ อย่างคุณวิชญาพร เลียบใย และพี่เลี้ยงด้านสื่อนวัตกรรม คุณอารียา พรศิริวิวัฒน์ มาอย่างเข้มข้น ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อสรุปการดำเนินโครงการในเทอมที่ 1 นี้ออกมา โดยโรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ได้ทำกิจกรรมออกมาทั้งหมด 4 ฐานกิจกรรมด้วยกัน

โดยนางสาวสันธณีย์ เนียมเพราะ หรือครูปุ๊ก หัวหน้าทีมในการทำงานโครงการสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ ปีที่ 5 ของโรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ บอกว่า โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุพรรณบุรีเขต 2 มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 245 คน และจากการสำรวจข้อมูลด้านพฤติกรรมในการรับประทานอาหารของนักเรียนในโรงเรียน พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม คือ ไม่ชอบรับประทาน ผัก และผลไม้ ชอบทาน น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารทอด มัน เค็ม ทำให้เกิดปัญหาด้านโภชนาการ โครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงตั้งใจทำเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งนำเสนอมาในชื่อธีมที่ว่า “ขุนช้าง ขุนแผน แดนลดพุง” เพื่อผลิตสื่อ และจัดกิจกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนไม่มีภาวะทุพโภชนการ และมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผ่านกิจกรรมทั้งหมด 4 ฐาน คือ ฐานกิจกรรมที่ 1 ขุนช้าง ล้างไขมันหันมาหล่อ กิจกรรมนี้เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ โภชนาการและการเรียนรู้เรื่องการทานอาหารตามหลัก 3 อ. อาหาร อารมณ์ การออกกำลังกาย และการรู้เท่าทันสื่อโดยเฉพาะการอ่านฉลากโภชณาการตามสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ฐานกิจกรรมที่ 2 ขุนแผนแสนสะท้านต่อต้านพุง กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายด้วยการเต้นประกอบเพลงอีแซว มารีมิกให้เร็วขึ้น ประกอบท่าทางต่างๆ อาทิ ท่าชักดาบฟ้าฟื้น , ท่ากุมารทองประลองสู้ศึก , ท่าแก้วกิริยา , ท่าม้าสีหมอก และท่าแม่สายทองจดจ้องต่อสู้ ซึ่งเพลงอีแซวที่ใช้ประกอบนี้ได้ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่มาแต่งให้ ฐานกิจกรรมที่ 3 วันทองห่วงใยสุขภาพ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองได้มีเวลาด้วยกันจากการทำอาหารเมนูต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติในท้องถิ่น อย่างน้ำพริกแก้วกิริยา เมี่ยงดอกบัว หลนปลาหมำ ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ และเมนูของหวานชื่อว่านางพิมปะแป้ง ทั้งหมดนี้เป็นเมนูสุขภาพ และมีการลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ลงไปด้วย และปิดท้ายที่ฐานกิจกรรมที่ 4 ตั้งเต เลห์รัก ชิงตัวนางวันทอง เป็นการเล่นเกมที่มีการบูรณาการจากฐานที่ 1 2 และ 3 เข้าด้วยกัน และให้ขุนช้าง และขุนแผน แข่งกันเพื่อชิงตัวนางวันทอง โดยใช้ความรู้ต่างๆ จากฐานที่ผ่านมา และมีการจับเวลาด้วยกะลาเจาะรู

ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เด็กและนักเรียนในกลุ่มเป้าหมายรู้และเข้าใจประโยชน์ของการดูแลตัวเองไม่ให้อ้วนได้ และต่อไปมีเป้าหมายว่าจะขยายผลไปยังนักเรียนในโรงเรียนชั้นอื่นๆ ให้ทั่วทั้งโรงเรียน และจะมีการขยายผลซึ่งในกิจกรรมครั้งนี้นายณัฐพงษ์ พันธุ์ขะวงศ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 บอกว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นน่าสนใจมากตนจึงได้มีร่วมศึกษาและดูงานที่จัดขึ้นและจะนำสิ่งที่โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ทำไปขยายผลต่อยังโรงเรียนที่อื่นๆ ในเขตพื้นที่ 2 ด้วย

ด้านคุณวิชญาพร เลียบใย พี่เลี้ยงด้านวิชาการของโครงการ ตัวแทนแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ดี และน่าสนใจ โดยเฉพาะฐานที่ 3 ที่ได้นำเมนูอาหารท้องถิ่นมารณรงค์ให้เข้ากับโครงการซึ่งทุกเมนูโดดเด่น เชื่อว่าจะขยายผลทำให้ทั้งสุขภาพดี และเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียน และชุมชนได้ ส้วนในด้านของวิชาการก็น่าสนใจแต่เพื่อเป็นการให้เด็กในโรงเรียนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้ชัดขึ้นน่าจะมีสื่ออื่นๆ เพิ่มเข้ามาให้มากขึ้น อาทิ แผ่นพับต่างๆ เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและการอ่านฉลากโภชนาการตามสัญญาณไฟเขียว เหลือง แดงเข้ามาเพิ่มอีกหน่อย อย่างการใช้ถุงขนมเป็นสื่อเพื่อให้นักเรียนได้อ่านเป็นก่อนที่จะตัดสินในซื้อหรือเลือกกินในชีวิตประจำวันต่อไป

ส่วนคุณอารียา พรศิริวิวัฒน์ พี่เลี้ยงด้านสื่อนวัตกรรมของโครงการ ตัวแทนแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า กิจกรรมที่ทำออกมาเพื่อเป็นสื่อนวัตกรรมที่เกิดขึ้นน่าสนใจมากโดยเฉพาะฐานกิจกรรมที่ 4 ที่นำเอาความรู้ทั้งหมดจากกิจกรรมมาประยุกต์เข้าด้วยกันเชื่อได้ว่าโรงเรียนนี้มีแนวโน้มพัฒนาการที่ดีที่จะขยายผลต่อไปในอนาคตได้แน่นอน

 

 


ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ของโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ได้ที่
.