เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับพื้นที่ภาคีเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินกิจกรรมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ณ ห้องประชุม โรงเรียนอนุบาลจันทรัตน์ จังหวัดกาพสินธุ์
การตรวจเยี่ยมผลการดำเนินกิจกรรมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ครั้งนี้ นำโดย ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส., ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส., คณะทำงาน และผู้ประสานงานโครงการฯ ได้รับการต้อนรับจากดร.ธรัชพร จันทรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลจันทรัตน์ พร้อมคณะครูและนักเรียน
คณะตรวจเยี่ยมได้ชมผลงาน และประเมินผลโครงการอย่าปล่อยเด็กอ้วน ประจำปี 2567 ระยะที่ 1โดยสัมภาษณ์ คุณครู และนักเรียนแกนนำ ทั้งนี้คณะตรวจเยี่ยมได้ให้คำแนะนำในเรื่องทิศทางการทำงานสนับสนุนของ สสส. และกล่าวให้กำลังใจในการดำเนินงานโครงการฯ
โรงเรียนอนุบาลจันทรัตน์ จังหวัดกาพสินธุ์ ได้เข้าร่วมกับโครงการอย่าปล่อยอ้วน ฯ ครั้งแรกในปีที่ 5 นี้ โดยมาในธีม “Sahatsakhan City ขยี้พุง“ ได้ดำเนินการกิจกรรมระยะที่ 1 อาทิ กิจกรรม Taste food for good health เป็นการปรับสัดส่วนเมนูอาหารกลางวัน โดยเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ตามฤดูกาลแทนขนมหวานทั้งสัปดาห์ ทั้งจัดทำ healthy diary Book สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวของผู้รับบริการเป็นสมุดบันทึกทำมือ และกิจกรรม Sahatsakhun Fun Firm Fit ครู นักเรียน และบุคลากรหมวดศิลปะและพละร่วมกันผลิตสื่อเพลงสหัสขันธ์ “Fun Firm Fit” และจัดประกวดกิจกรรมการแข่งขันเต้นประกอบจังหวะเพลง
กิจกรรมทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) และติดอาวุธความรู้ให้เยาวชนมีสุขภาพดีในทุกมิติ ด้วยการผลิตสื่อในประเด็นสุขภาวะและเผยแพร่นวัตกรรมสู่สังคม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)
ปีนี้เราขยายผลไปสู่พื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการจากฐานภูมิพลังวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้การดูแลของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ให้เกิดนิเวศสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกทัศนคติที่ดี และสร้างพฤติกรรมอย่างยั่งยืนในด้าน 3 อ. ได้แก่เรื่อง อาหาร (รู้จักคุณค่าทางโภชนาการ) การออกกำลังกาย การมีสุขภาวะที่ดีทางอารมณ์ และการรู้เท่าทันสื่อ ผ่านนวัตกรรมสื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์