เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับพื้นที่ภาคีเครือข่ายภาคเหนือ ดำเนินกิจกรรมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ณ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร เทศบาลเมืองน่าน (บ้านพระเนตร) จังหวัดน่าน
การตรวจเยี่ยมผลการดำเนินกิจกรรมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ครั้งนี้ นำโดย ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส., ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส., คณะทำงาน และผู้ประสานงานโครงการฯ ได้รับการต้อนรับจากนางจันทรัช สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร เทศบาลเมืองน่าน (บ้านพระเนตร) พร้อมคณะครูและนักเรียน
คณะตรวจเยี่ยมได้ชมผลงาน และประเมินผลโครงการอย่าปล่อยเด็กอ้วนฯ ประจำปี 2567 ระยะที่ 1 โดยสัมภาษณ์ คุณครู และนักเรียนแกนนำ ทั้งนี้คณะตรวจเยี่ยมได้ให้คำแนะนำในเรื่องทิศทางการทำงานสนับสนุนของ สสส. และกล่าวให้กำลังใจในการดำเนินงานโครงการฯ
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร เทศบาลเมืองน่าน (บ้านพระเนตร) จังหวัดน่าน ได้เข้าร่วมกับโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ฯ ครั้งแรกในปีที่ 5 นี้ โดยมาในธีม Good Health เตียวแวดเวียง ได้ดำเนินกิจกรรมระยะที่ 1 อาทิ ให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงโทษของโรคอ้วน การลดอาหารหวานมัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ซึ่งมีทีมงานจากสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดน่าน เข้ามาให้ความรู้ นักเรียนแกนนำเข้าร่วมอบรมการอ่านฉลากอาหาร จากสำนักงานคณะกรรมารอาหารและยา พร้อมทั้งส่งต่อความรู้การอ่านฉลากอาหาร การจัดโซนสีตามไฟจราจร หน้าเสาธงและในห้องเรียน และโรงเรียนได้จัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ตามห้องเรียนต่าง ๆ ทั้งดึงชุมชน/ผู้ปกครอง ให้มามีส่วนร่วม มีการจัดบูธให้ความรู้อาหารโซนสีแก่ผู้เข้าร่วมงานในกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ อีกทั้งมีกิจกรรมการทำอาหารจากผักพื้นบ้านในกิจกรรม “ผักเซ็งคนบ่เซ็ง” (ผักเชียงดา) จัดแข่งขันโดยให้ตัวแทนนักเรียนกับผู้ปกครองเข้าร่วมแข่งขันทำอาหาร
ครูและนักเรียนร่วมกันออกกำลังกาย พร้อมออกแบบท่ากายบริหาร โดยบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงการออกกำลังกายผ่านกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ (Aerobic Exercise) เช่น ซิกกระแดะ (กระโดดกระต่ายขาเดียว) , เต้ยสี (การเล่นเตย)
มีการนำแอปพลิเคชัน “แอ่วน่าน…พาเพลิน” ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน มาจัดกิจกรรมรถรางโล๊ะโล่ (รถรางท่องเที่ยว) โดยให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายปั่นจักรยาน ที่ออกแบบเป็นรถรางท่องเที่ยว พร้อมกับบรรยายถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่พบเจอ
กิจกรรมทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) และติดอาวุธความรู้ให้เยาวชนมีสุขภาพดีในทุกมิติ ด้วยการผลิตสื่อในประเด็นสุขภาวะและเผยแพร่นวัตกรรมสู่สังคม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)
ปีนี้เราขยายผลไปสู่พื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการจากฐานภูมิพลังวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้การดูแลของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ให้เกิดนิเวศสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกทัศนคติที่ดี และสร้างพฤติกรรมอย่างยั่งยืนในด้าน 3 อ. ได้แก่เรื่อง อาหาร (รู้จักคุณค่าทางโภชนาการ) การออกกำลังกาย การมีสุขภาวะที่ดีทางอารมณ์ และการรู้เท่าทันสื่อ ผ่านนวัตกรรมสื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์