ศรีสะเกษ สสส.เปิดตัวโครงการโฮมพลคนสี่เผ่าไม่เอาโรคอ้วน รณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวานมันเค็มเพิ่มผักและผลไม้ ผลการดำเนินงานมา 3 ปีพบว่า น.ร.ที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่ ร.ร.บ้านโนนสูง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย กรรมการพี่เลี้ยงทีมพัฒนาสื่อและนวัตกรรมนำโดย นายชูเกียรติ ครูทรงธรรม และนายบัณฑิต ครุฑฑานนท์ กรรมการพี่เลี้ยงทีมพัฒนาโครงการฯนำโดย นางจุรี สุวรรณศิลป์ และนางวิชญาพร เลียบใย ได้เดินทางมาเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามโครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ในภูมิภาค ปีที่ 3 เทอม 2 จัดนิทรรศการโครงการโฮมพลคนสี่เผ่า ไม่เอาโรคอ้วน ซึ่ง ร.ร.นี้เป็น 1 ใน 22 ร.ร.ต้นแบบของโครงการ โดยมี น.ส.ดนตรี บุญลี ผอ.ร.ร.บ้านโนนสูง พร้อมด้วยคณะครู น.ร.กรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับ
น.ส.ดนตรี บุญลี ผอ.ร.ร.บ้านโนนสูง กล่าวว่า จากการศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก น.ร.ใน ร.ร.บ้านโนนสูงในปีการศึกษา 2560 มีจำนวน น.ร.ทั้งหมด129 คน พบว่ามีเด็กอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 6.72 และเด็กกำลังจะอ้วนคิดเป็นร้อยละ 2.52 จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอ้วนเหล่านี้น่าจะมาจากนิสัยการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ชอบรับประทานน้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ และการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อได้รับพลังงานจากอาหารเสริมมากกว่าที่ร่างกายนำไปใช้จึงส่งผลให้เด็กอ้วน ที่สำคัญเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมักมีความเสี่ยงของโรคหัวใจ มีคลอเลสเตอรอลสูง ระดับอินซูลินสูง และมีความดันโลหิตสูง จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ ลดหวานมันเค็ม และสร้างความตระหนักแก่ผู้ปกครอง ทำให้ครู ผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจหันมาพัฒนาอาหารและสุขภาพของตนเองและลูกหลาน ส่วนครูและ น.ร.เริ่มหันมาดูแลเรื่องสุภาพ และเด็กก็ได้เรียนรู้วิธีดูแลสุภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันจะส่งผลให้ภาวะโรคอ้วนในเด็ก น.ร.ลดลง ร.ร.บ่านโนนสูง จึงได้ทำโครงการที่มีชื่อว่า “โฮมพลคนสี่เผ่าไม่เอาโรคอ้วน” ขึ้น
น.ส.ดนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ แบ่งเป็น 6 ฐานการเรียนรู้ดังนี้ ฐานที่ 1 ปั่นพอเพียง ฐานที่ 2 สะพานล้อ ฐานที่3 กบหรรษา ฐานที่ 4 ลดแลกพลัง ฐานที่ 5 การละเล่นพื้นบ้าน และฐานที่ 6 สัญญาณไฟจราจร โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ต้องการให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการมีโภชนาการที่ดีและปฏิบัติได้อย่างจริงจังและยั่งยืน สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในการรับประทานอาหารไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ในทุก ๆ มื้ออาหาร และชวนออกกำลังกายเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มีใจรักการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ ที่สมบูรณ์แข็งแรง ที่สำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้แล้ว สามารถขยายความรู้และถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นๆ ให้และเข้าใจในแบบเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหา “โรคอ้วน” ในสังคมลงได้
ทางด้าน นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็ก น.ร. พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ครู และ น.ร.ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใน ร.ร.สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้ผลการดำเนินงานโครงการ 3 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย ซึ่งผู้ที่สนใจและต้องการติดตามการทำงาน ความเคลื่อนไหวของ ร.ร.บ้านโนนสูง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และ ร.ร.อื่นๆ ทั้ง 22 ร.ร. ได้ที่ www.artculture4health.com
ศิริเกษ หมายสุข / ศรีสะเกษ
ที่มา:http://thaisaeree.info/news/index.
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]