ใครๆ ก็มักบอกว่า เด็กพิเศษน่ะ ให้เรียนดนตรีซิ
แต่ไม่มีใครพูดถึงว่า เรียนอย่างไร ?
ฐานันดร ชูประกาย หรือ คุณครูสอ ของครอบครัวดนตรีพาเพลิน เรียนจบดนตรีสากลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สายวิชาที่จบมาเพื่อเป็นนักดนตรี ไม่ใช่ครู หรือครูสอนดนตรี แต่เขามีความสนใจในดนตรีสำหรับเด็ก ว่าการให้เด็กเรียนรู้ดนตรีจะเกิดผลดีอย่างไร และควรทำอย่างไร ในระยะแรกคุณครูสอจึงเป็นนักดนตรีอาชีพควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนดนตรีโรงเรียนในระบบจนกระทั่งมีโอกาสได้ทำงานกับเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนรุ่งอรุณ
เขาคิดว่าดนตรีน่าจะมีอะไรให้มากกว่าการพัฒนาสุขภาวะทางดนตรีเท่านั้น เพราะเห็นผลจากเด็กบางคนมีพัฒนาการบางอย่างที่จับต้องได้ ผ่านการทดลองทำกิจกรรมดนตรีสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นเหมือนห้องทดลองอยู่หลายปี ต่อมาจึงออกมาเปิดเป็นโรงเรียนดนตรีพาเพลิน
“ระบบกลุ่มทำให้เราจำแนกความคิดของเรา จากวิธีคิดเดิมคือครูสอนดนตรี ก็ต้องสอนให้เด็กเป็นดนตรี แต่การที่เราเรียนมาแบบนักดนตรี พอเรามาอยู่ในระบบโรงเรียน เห็นเด็กๆ ผมเห็นว่า เราควรก้าวข้ามจากความเป็นดนตรีเพียวๆ เพราะดนตรีมันมีคุณค่าน่าจะไปช่วยอะไรได้มากกว่านั้น ก็ค่อยๆ ไล่ดู ดนตรีกลุ่มน่าจะสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้ จะมีกิจกรรมประเภทไหนบ้าง จะลงลึกไปถึงขั้นเล่นดนตรีไหม ก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อมา พบว่าถ้าเราทำกิจกรรมกลุ่ม เอาจังหวะ ทำนอง นำให้เขาได้เคลื่อนไหวกายก่อนจะเข้าถึงเด็กได้เร็วมาก แต่ถ้าเราไปแตะเทคนิค ให้เล่นเครื่องก่อน จะเข้าถึงเด็กแต่ละคนยาก”
“เครื่องดนตรีนี่เวลาเล่นเราใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดละเอียดมาก ต้องใช้นิ้วทั้งนั้นเลย ซึ่งเด็กของเราก็ติดปัญหาตรงนี้ทั้งนั้น มันถึงเป็นโจทย์ใหญ่ของพ่อแม่ทุกคน เรามักพูดกันว่าเด็กพิเศษหรือแม้แต่เด็กทั่วๆไป ต้องเรียนดนตรีสิ แต่เรียนอะไรล่ะ เรียนยังไง ตรงนี้ไม่ค่อยพูดถึงกัน
ผมเห็นว่าเรายังไม่ควรที่จะเริ่มจากการเล่นเครื่องดนตรีเลย อันดับแรก ต้องขยับกายก่อน แล้วก็ดูใจเขา ให้เขาเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อเข้ามาเรียนแล้วมีความสุข สนุก ซึ่งก็จะใช้เวลาค่อยๆ ทำไป แล้วค่อยมาประเมินอีกทีว่า เราจะเจาะช่องให้เขาได้สัมผัสเครื่องดนตรีมากน้อยแค่ไหน ใครมีศักยภาพตรงไหน”
“จากประสบการณ์การทำกิจกรรมกลุ่ม การเปิดโอกาสให้เรียนร่วมสำคัญมาก เด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ถูกฝึกมาให้เรียนร่วมได้แล้ว (หมายถึงไม่กวนกลุ่ม ถึงยังไม่ทำไม่ร่วมกิจกรรม ก็ไม่เป็นไร) ถ้าเขาได้เริ่มตั้งแต่เล็กๆ จะได้ประโยชน์มาก ซึ่งงานที่ยากคือ การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่าพื้นที่นี้ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษ จะได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่เราขอโอกาส ขอเวลาให้เขาได้ปรับตัว ได้เรียนร่วมกัน ทางพ่อแม่เด็กพิเศษก็มักจะกลัวว่าลูกจะไปเป็นภาระคนอื่น ก็ต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย
เด็กบางคนร้องไห้เป็นเดือน แต่พอเด็กหยุดร้องเพราะเขาเห็นแล้วว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยเขาจะเริ่มทำได้ ให้ทำซ้ำเรียนรู้ต่อเนื่องเป็นปี เราพบว่าในกลุ่มนี้หลายคนสามารถพัฒนาเขาไปสู่การเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
“การเรียนรู้ของคน ไม่ได้อยู่ที่ต้องทำเท่านั้น กิจกรรมกลุ่มนี่เราประเมินแล้วว่า ไม่ได้ยากเกินความสามารถหรอก แต่เขายังไม่พร้อมที่จะทำ เราแยกเป็นสองส่วนคือ ดูความเข้าใจ เด็กมีปฏิภาณไหวพริบที่จะเข้าใจได้ไหม กับอีกส่วนคือ พฤติกรรม บางคนที่เขาไม่ทำ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แต่ติดเรื่อง ไม่ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัว เขาติดข้อนี้ต่างหาก ผมก็เข้าไปจัดการกับตรงนี้ ภาวะที่มันบังตัวเขาอยู่ ไม่ใช่ระดับสติปัญญา เขาไม่ทำแต่เขามองเห็น ได้ยิน เมื่อพฤติกรรมเขาคลาย การทำ ได้ยินซ้ำๆ ไป มันก็มีทางที่จะพัฒนาขึ้นได้”
“ตอนอยู่ในระบบ รร. นี่ทำอะไรได้เยอะมากขอความร่วมมือครูให้ส่งเด็กมา เราก็ทำงานได้เยอะ พอมาเริ่มทำโรงเรียนของตัวเอง ข้อดีคือได้เห็นเด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เห็นความหลากหลาย ได้ลองและเรียนรู้ว่า จะหาวิธีไหนมาช่วยเด็กแต่ละคน ก็เน้นมาที่การพัฒนาแต่ละบุคคล (แบบเดี่ยว) มากขึ้น
การสอนผมดูเด็กเป็นหลัก เด็กเข้าใจแต่ติดขัดที่พฤติกรรม เด็กที่มีเซ้นส์ด้านดนตรี บางคนจังหวะดี หูดี แต่พอเจองานยากนิดนึงก็จะท้อแล้ว เล่นไปก็ชวนคุยถ่วงเวลาเพราะเขาฉลาดไง หรือถ้าเราอยู่ด้วยก็จะให้เราช่วย เราก็ต้องดู อ่ะอันนี้เข้าใจแล้วนะ เล่นเองนะ ถ้าเล่นเสร็จได้กลับเร็ว เสร็จช้ากลับช้า เด็กก็ต้องชั่งใจ การเรียนต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย ไม่ใช่เราจัดการทั้งหมด เราดูทั้งดนตรีด้วย ดูเรื่องที่เขาติดขัดด้วย ว่าช่วยอะไรเขาได้ มีภาวะยืดหยุ่นน้อย ชอบอู้ ชอบ…ฯลฯ เราออกแบบการเรียนการสอนให้ไปช่วยเขา ผ่านดนตรี “
“เด็กบางคนยังเล็กอยู่พาไปเคลื่อนไหว เล่นผ่านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พาไปฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกร้องเพลงเพื่อให้เขาพูดตรงจังหวะ ร้องได้ตรงจังหวะ ทำหลายๆ อย่าง จนสุดท้าย ถึงดูว่าเขาจะเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้บ้าง ในหนึ่งชั่วโมงทำหลายๆอย่างให้มันไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่หนึ่งชั่วโมงมานั่งเรียนเปียโนอย่างเดียว ถ้ากายมีปัญหาแล้วไปลงเครื่องดนตรีที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเลย นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ เราต้องช่วยให้กายเขาพร้อมก่อน ใจสนุก แล้วค่อยย้อนกลับมาที่เครื่องดนตรี”
“อ่านโน้ตออกแล้วยังไง ครูโดยมากจะอยากให้เด็กอ่านเป็น แต่ขนาดเราเป็นนักดนตรี บางทีเห็นโน้ตยากๆ เรายังเหนื่อย ท้อ ไม่อยากอ่านเลย การสอนดนตรีส่วนใหญ่มักเอาหลักสูตรปกติมาใช้ สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเราต้องวิเคราะห์ว่าเด็กมีเซ้นส์ทางดนตรีไหม จำเป็นต้องสอนโน้ตไหม บางคนไปได้ ก็สอน แต่บางคนเขามีความสุขจากการเล่นด้วยความจำ”
“คนมักรู้สึกว่าเรียนดนตรี ต้องเรียนเปียโนคือสุดยอดของเครื่องดนตรี ความจริงคือ เปียโน ต้องใช้สองมือ มือขวาทำนอง มือซ้ายเล่นเสียงประสาน มือต้องสอดประสาน มันยากมากนะ ไม่ใช่เด็กทุกคนเรียนเปียโนได้ แต่มันดูเหมือนง่าย นิ้วกดลงไปก็มีเสียง แต่ถ้าเด็กสมาธิไม่ดีก็เตะเปียโน วิ่งไปแล้ว”
แซ็คโซโฟน
เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ดีกว่า
“แซ็คโซโฟนมันมีน้ำหนัก คนเล่นต้องประคองเครื่อง วิ่งไม่ได้ เขาต้องรักษาสมดุลร่างกาย ยืดตัวขึ้นเพื่อรับน้ำหนัก แล้วจะออกเสียงมั่วๆ ก็ไม่ได้ ต้องบีบปากแล้วเป่าให้มันออก การวางปาก วางลิ้น นี่มันอธิบายยาก ต้องตั้งใจมีสมาธิ ต้องทำให้ถูกท่า เพราะมันหนัก มันเจ็บ เขาต้องให้ความร่วมมือ”
“ก่อนที่จะให้เริ่มจับแซ็ค เด็กเล็กที่เรียนกันมาหลายปี ผมมักให้ฝึกขลุ่ยก่อนจนวางนิ้วได้ เล่นเป็นเพลงได้ ค่อยให้แซคเพิ่มน้ำหนัก บางคนมาตอนโต ดูแล้วไปเปียโนมันยากไป เด็กหลายคนเรียนเปียโนแล้วไม่รอด แต่เด็กของเราเป่าแซ็คได้สิบกว่าคน คือแซ็คนี่เมื่อเป่าถูกต้อง เสียงเริ่มออกจะเริ่มเล่นเพลงได้ มันประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า เขาเล่นทำนองได้จบเพลง แต่เปียโนพอเล่นทำนองแล้ว ยังต้องรอมือซ้ายมาประสาน เพลงจึงจะสมบูรณ์ มันใช้เวลานานกว่า
โดยสรุปกระบวนการทำงานกับเด็กๆ ที่คุณครูสอถอดประสบการณ์ออกมา คือ ขยับกาย สร้างปฏิสัมพันธ์ ให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก จัดกิจกรรมที่สนุก เด็กรู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดใจ แล้วจึงดูโอกาสด้านดนตรี เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว เราจะเห็นความพร่อง และ ศักยภาพ จึงสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเขา จุดสำคัญคือผู้ปกครองควรให้เวลาเด็กในการพัฒนา ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สำหรับเด็กที่มีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นนักดนตรี การมุ่งไปที่การฝึกและสร้างความพร้อมให้เป็นอาชีพจะได้ประโยชน์มากกว่าการพยายามสอบเพื่อคะแนนเท่านั้น
คุณครูสอรู้ดีว่าการทำงานพัฒนาลำพังด้วยตัวครูคนเดียวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงขยายไปสู่วงกว้างได้ จึงใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งพัฒนาหลักสูตรและยินดีออกไปเป็นวิทยากรให้กับคุณครูทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้ง หลักสูตรบูรณาการดนตรีสู่ห้องเรียน (สำหรับครูประจำชั้นที่ไม่ต้องใช้ทักษะดนตรี) มีทั้งกิจกรรมและเพลงที่แต่งใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งคุณครูสามารถนำไปใช้ออกแบบสร้างการเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม
และการรวบรวมหลักสูตรดนตรีพาเพลิน สำหรับครูดนตรีในโรงเรียน ที่ออกแบบให้เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีที่มีต้นทุนอุปกรณ์การสอนที่ถูกมาก (ตามภาพประกอบ) เด็กอ่านโน้ตได้ทุกคน เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมได้
โรงเรียน และ ศูนย์การศึกษาพิเศษที่สนใจ ติดต่อได้ที่ facebook : สอ พาเพลิน
ชมผลงานของกลุ่มนักเรียนดนตรีพาเพลิน ได้ที่นี่
ขอขอบคุณ โรงเรียนดนตรีพาเพลิน คุณครูฐานันดร ชูประกาย (ครูสอ) ครอบครัว ดช.วรพรต บุญฉาย (นักปราชญ์) ด.ช.กัลยกฤตย์ อิทธิพันธกร (ต้าตี้) พิรัชย์การ ชัยประเสริฐสุข (ฟิโก้) ธนัท สันฟูวัน (อิก) สิตา แอ่งสมบัติ (ฟ้า)
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า 128/177 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
16th Fl., Phayatai Plaza, 128/177 Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-298-0987-8 โทรสาร : 02-298-0989
อีเมล : [email protected]