“วันสงกรานต์ทั่วไทย ไม่ได้มีการละเล่นที่เหมือนกัน มาดูกันว่าแต่ละภาคฉลองสงกรานต์ยังไงบ้าง?”

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : Admin Latdawan , 10 เมษายน 68 / อ่าน : 127


“วันสงกรานต์ทั่วไทย ไม่ได้มีการละเล่นที่เหมือนกัน มาดูกันว่าแต่ละภาคฉลองสงกรานต์ยังไงบ้าง?”

 

 

เทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนต่างรู้จักกันดีในเทศกาลของการสาดน้ำสุดสนุก แท้จริงแล้วเป็น “วันขึ้นปีใหม่แบบไทย” ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างลึกซึ้ง และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แต่ละภาคของไทยมีวิธีการเฉลิมฉลองสงกรานต์ที่แตกต่างกัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13–15 เมษายน ซึ่งไม่ได้มีแค่สาดน้ำเหมือนกันทุกที่ แต่ยังเต็มไปด้วยประเพณีเฉพาะถิ่น เสื้อผ้าพื้นเมือง และกิจกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีเรื่องราวอย่างน่าสนใจ

และวันนี้แอดจะพาไปดูว่าสงกรานต์ใน ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน เขาเฉลิมฉลองกันยังไงบ้าง เเละแต่ละภาคจะมีเสน่ห์แบบไหนบ้าง?

ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ - ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือ

สงกรานต์ของภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” เป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยความศรัทธาและพิธีกรรมท้องถิ่นที่เปี่ยมความหมาย โดยจัดติดต่อกัน อย่างน้อย 3–5 วัน ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละวันดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง”

ถือเป็นวันสิ้นสุดปีเก่า คนล้านนาเชื่อว่าเป็นวันที่ “ปู่สังขานต์” หรือ “ย่าสังขานต์” มารอรับเอาสิ่งที่ไม่ดีในชีวิตไปทิ้งที่มหาสมุทร ล่องแพผ่านลำน้ำ นำพาสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน มีการ ปั้นข้าวแป้ง มาลูบไล้ตามร่างกายเพื่อสะเดาะเคราะห์ แล้วนำมาปั้นเป็นรูปร่างนักษัตรหรือสิ่งแทนตัวเอง ใส่ลงแพปล่อยให้ไหลไปตามแม่น้ำ จุดประทัดหรือยิงปืนไล่สิ่งชั่วร้าย ชำระล้างร่างกายด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ทำความสะอาดบ้านเรือน และนำพระพุทธรูปมาสรงน้ำด้วยน้ำอบหรือน้ำปรุง

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา หรือ วันดา”

พิธีกรรมของวันเนานี้ชาวบ้านจะเตรียมสิ่งของและอาหารเพื่อนำไปทำบุญในวันพญาวัน และในช่วงบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อสร้างเจดีย์ทราย โดยต่างมีความเชื่อว่า การขนทรายเข้าวัดถือเป็นการนำทรายมาทดแทนกับทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไป ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ลักของจากวัด” มีรูปแบบการทำโดยใช้ไม้ไผ่หรือกระบะไม้กั้นขอบเพื่อให้กองสูงเป็นทรงเจดีย์ ตกแต่งด้วย “ตุง” หรือธงสีสันต่าง ๆ เพิ่มความสวยงาม

วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน”

วันพญาวัน เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ในช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตร ทำทานขันข้าว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เเละตอนสาย จะมีการนำ “ตุง” ที่เตรียมไว้ไปปักเจดีย์ทรายที่วัด โดยเชื่อว่าจะมีอานิสงส์สามารถช่วยดวงวิญญาณที่ตกนรกให้พ้นจากขุมนรกได้

ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน - บุญสงกรานต์ หรือ บุญเดือนห้า

มีพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ ในวันสงกรานต์ที่สะท้อนถึงความเคารพต่อบรรพบุรุษและการรวมญาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละวันดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “มื้อสงกรานต์ล่อง” หรือ “มื้อสงกรานต์พ่าย”

ซึ่งเป็นวันสิ้นปีตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสาน มีความหมายว่า เป็นวันที่สิ่งไม่ดี ความทุกข์โศก และเคราะห์ร้ายต่าง ๆ จะถูกปล่อยไปกับปีเก่า กิจกรรมที่ชาวอีสานมักทำในวันนี้ ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือน งดการทะเลาะวิวาท ตามความเชื่อดั้งเดิม วันนี้ถือเป็น “วันพ่าย” จึงไม่ควรทะเลาะหรือพูดจาหยาบคาย เพราะอาจส่งผลให้ชีวิตมีแต่ความพ่ายแพ้ในปีใหม่

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “มื้อเนา”

ชาวบ้านจะร่วมกันแต่งกายสวยงาม นำอาหารไปตักบาตรที่วัด เพื่อขอพรจากพระภิกษุผู้ใหญ่ และสรงน้ำพระพุทธรูป หนุ่มสาวมักรวมกลุ่มไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ มีการจัดทำบายศรีสู่ขวัญผู้ใหญ่ หลังจากนั้นจึงเล่นรดน้ำกันเอง และช่วงกลางคืนมีการร่วมกันสวดมนต์เย็นและฟังธรรม

วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “มื้อสงกรานต์ขึ้น”

ชาวอีสานจะรวมตัวกันที่วัดเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีกรรมนี้เรียกว่า “สักอนิจจา” ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูและระลึกถึงผู้ที่จากไป และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อพบปะและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เเต่บางพื้นที่ในภาคอีสานนิยมฉลองสงกรานต์ต่อเนื่องยาวนานถึง 7-15 วัน ซึ่งนอกจากการทำบุญและรวมญาติแล้ว ยังมีกิจกรรมสังสรรค์และการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเพณีสงกรานต์ไม่ได้มีแค่สาดน้ำ แต่เต็มไปด้วยความหมายและเรื่องราวที่สืบทอดกันมาช้านาน

บางที่อาจมีการปั้นเจดีย์ทราย บางที่มีบายศรีสู่ขวัญ หรือบางบ้านอาจจะมีการรวมญาติเพื่อรอวันที่ได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาพของความรัก ความศรัทธา และความผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สงกรานต์นี้จึงไม่ใช่แค่วันหยุดยาว แต่คือช่วงเวลาแห่งความหมายที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความทรงจำ และสายใยของครอบครัว

ส่วนประเพณีสงกรานต์ของทางภาคกลาง และ ภาคใต้ จะมีเสน่ห์เฉพาะถิ่นอะไรซ่อนอยู่บ้าง? รอติดตามกันได้ในสัปดาห์หน้า แล้วบ้านของเพื่อน ๆ มีการเฉลิมฉลองสงกรานต์กันแบบไหนบ้าง มีพิธีหรือกิจกรรมอะไรที่ทำกันทุกปีไหม คอมเม้นต์มาแชร์ให้ฟังกันหน่อยน้า อยากรู้จังว่าประเพณีในแต่ละบ้านอบอุ่นขนาดไหน?

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/875735

https://www.thansettakij.com/lifes.../travel-shopping/593339

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่

Official Web : http://artculture4health.com/

Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h

Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5

Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/

Twitter : https://twitter.com/art_culture4h

Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health

#สสส #แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สงกรานต์บ้านฉัน #เรื่องเล่าประเพณีไทย



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]