ศรีปทุม คว้าถ้วยพระราชทานฯ โครงการ Design Hero 2024 : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E-Cigarettes

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : root , 19 กุมภาพันธ์ 68 / อ่าน : 34


ศรีปทุม คว้าถ้วยพระราชทานฯ โครงการ Design Hero 2024 : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E-Cigarettes

 

ปี 67 เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 18.6% สาเหตุ เข้าใจผิดคิดว่าช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% เข้าใจว่าสารนิโคตินดีต่อร่างกาย 51.19% ทำเด็กป่วยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า 100 คน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการโชว์ผลงานสื่อรณรงค์ “ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า”  ฝีมือเยาวชน 15 ทีม จากทั่วประเทศ หนุนเป็น “นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ต้นแบบ” สร้างความเข้าใจภัยบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยเด็ก-เยาวชน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ก.พ. 2568 ที่พิพิธบางลำพู กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับนิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) เปิดนิทรรศการโชว์ผลงานสื่อรณรงค์ “ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า” ฝีมือเยาวชน 15 ทีม จากทั่วประเทศ จากโครงการ Design Hero 2024 : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E-Cigarettes ภายใต้โครงการรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาวะ นำเสนอผ่านรูปแบบกราฟิกดีไซน์ อาร์ตทอย คลิปวิดีโอ และศิลปะ แสดงพลังของเด็กและเยาวชนที่ร่วมกันออกแบบสื่อรณรงค์เตือนภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในสังคม พร้อมประกาศสุดยอดผลงานต้นแบบสื่อสร้างสรรค์ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เยาวชนไทยกำลังถูกคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภัยทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย จำนวน 40,164 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-27 พ.ค. ปี 2567 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร พบกลุ่มเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18.6% โดยมีความเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย  51.19%  มีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.28% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 23.28%

 “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีสารนิโคติน โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง สารเคมีหลายชนิดในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสพติดได้ง่ายและเลิกสูบได้ยาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการสมองเด็ก ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบผู้ป่วยเยาวชนที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ราย เยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดนิโคตินและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นในอนาคต จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ครู และผู้แวดล้อมเด็ก ด้วยการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมเป็นพลังในการสื่อสารและสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะดี ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.comนางญาณี กล่าว

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่าโครงการ Design Hero 2024 ได้นำพลังของเด็กและเยาวชนมาสร้างสรรค์สื่อเพื่อรณรงค์เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าในสังคม ผลงานเยาวชนทั้ง 15 ทีม จากเยาวชนที่ให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 472 ทีมทั่วประเทศ ได้รับการบ่มเพาะโดยวิทยากรมืออาชีพจากแบรนด์ต่างๆ เช่น Q DESIGN & PLAY ศิลปินด้านกราฟิกดีไซน์และผลิตเสื้อยืด, WISHULADA ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้, TOYLAXY ผู้ผลิตอาร์ตทอยเบอร์ 1 ของไทย และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคือ คุณสมชาติ ศรีมารัตน์ จากช่อง บิ๊กกี้ แครี่ จนนำมาสู่การเป็นพัฒนาเป็นผลงานต้นแบบสื่อรณรงค์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทีมมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการทำงานรณรงค์อย่างต่อเนื่อง  

“สำหรับผลงานต้นแบบสื่อสร้างสรรค์ที่ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลพิเศษสาขา The Best of Art Toy Design, The Best of T-Shirt Design, The Best of Video Content และ The Best of Art Project จะถูกนำไปใช้นำร่องขยายผลในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงโทษที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป” ดร.ดนัย กล่าว

ดร.ดนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานสร้างสรรค์ผลงานของเด็กและเยาวชนมันมาของทั้ง 15 ทีม ผลปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลพิเศษ The Beat ในสาขาต่างๆ ที่โครงการตั้งไว้ คือ

1.The Best of Art Toy Design ทีมที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ  ทีม  SheepMate ชื่อผลงาน Lost SHEEP เจ้าของผลงาน คือ คุณพิชชา ตังควานิช คุณปภาพินน์ งั่นบุญศรี คุณเอมม่า ลี เฟรี่ จากสถาบัน ศูนย์การเรียนรู้โอเพ่นสคูล

2. The Best of T-Shirt Design ทีมที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ  ทีม  Lost Sock - ชื่อผลงาน Love me right (?)  เจ้าของผลงาน คือ คุณสิมิลัณ นฤภัย คุณณนิดา พิชวงศ์ คุณสลิลทิพย์ ต.ไชยสุวรรณ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ 

3. The Best of Video Content  ทีมที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ  ทีม  JT  - ชื่อผลงาน ศิลปินปลอดควัน  เจ้าของผลงาน คือคุณพีรกานต์ อุทัยเลิศ คุณอิทธิพล ศรีกำเเหง จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม

4. The Best of Art Project  ทีมที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ  ทีม   Bamkok  - ชื่อผลงาน ผลิตภัณฑ์ดินเผาด้วยกรรมวิธีการเผารมควันสีดำ เพื่อเป็นสื่อในการรณรงค์และตะหนักถึงภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อปอด  เจ้าของผลงาน คือคุณศิริวรรณ วัฒนะจินดาวงศ์ (ฟรีแลนซ์)

​​​​​​​

โดยนายชญานิน อ่อนมา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ TOYLAXY กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าผลิตออกมาในรูปแบบของอาร์ตทอย ถูกพัฒนาให้ใช้ง่าย มีกลิ่นที่ดึงดูดใจ หากเยาวชนรู้ไม่เท่าทันถึงภัยอันตรายที่แฝงมาก็จะตกเป็นเหยื่อสุขภาพเสียและอนาคตพัง ในฐานะเจ้าของธุรกิจอาร์ตทอยที่กำลังเป็นกระแสนิยม และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ จึงได้หยิบนำเอาแนวคิดการผลิตอาร์ตทอยที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และสื่อสารออกมาเป็นภาพได้ มาผสานเข้ากับโจทย์ของน้องๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ของบุหรี่ไฟฟ้า มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงส่งผลเสียที่ไม่ใช่เพียงแค่กับตัวเอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนรอบข้างอีกด้วย

นายพีรกานต์ อุทัยเลิศ นักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทีมชนะเลิศ ได้รับรางวัลพระราชทาน กล่าวว่า ทีม JT ผลิตสื่อรณรงค์ “ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า” ในรูปแบบคลิปวิดีโอ จัดทำเป็นเอ็มวีเพลงแรป โดยใช้ชื่อว่า “ศิลปินปลอดควัน” เนื้อหาของเพลงมุ่งสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น รวมถึงน้องๆ เด็กและเยาวชนทุกคน ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายและผลกระทบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงรณรงค์ให้คนทุกคนไม่เข้าไปยุ่งและชวนเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก สามารถติดตามผลงานเพลงแบบเต็มๆ ได้ที่ช่องยูทูป “แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ” 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]