ตำนาน เกาะหนู เกาะแมว เรื่องเล่าพื้นบ้านเมืองสงขลา

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 1 กันยายน 67 / อ่าน : 138


ตำนาน เกาะหนู เกาะแมว เรื่องเล่าพื้นบ้านเมืองสงขลา

 

 

ชายฝั่งแหลมสมิหลานอกจากจะเป็นชายหาดที่มีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล ทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า "ทรายแก้ว" ร่มรื่นด้วยป่าสน ยังมีทิวทัศน์อันงดงามที่สามารถมองเห็นไกล ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดีอีกหนึ่งอย่างของจังหวัดสงขลาคือเกาะหนู เกาะแมว โดยเกาะที่ใกล้ชายฝั่ง มีลักษณะคล้ายหนูและอีกเกาะหนึ่งซึ่งอยู่ไกลออกไปมีลักษณะคล้ายแมว

มีตำนานเรื่องเล่าถึงการเกิด เกาะหนู เกาะแมว ว่า มีพ่อค้าจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางค้าขายแถบชายทะเลจากเมืองจีนมาถึงเมืองสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็เข้าเมืองสงขลา เพื่อซื้อสินค้ากลับไปขายเมืองจีน ระหว่างที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้นพ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อหมากับแมวคู่นั้นเอาลงเรือไปด้วย ล่องเรือไปขายสินค้ากับพ่อค้าชาวจีนนานวันเข้าหมาและแมวเกิดความเบื่อหน่าย เพราะแต่ละวันก็อยู่แต่บนเรือ ทำให้ทั้งคู่คิดถึงและอยากจะกลับไปอยู่ที่สงขลาบ้านเกิด ทั้งคู่จึงคิดจะหาวิธีการกลับบ้าน ได้คุยกันว่าจะหนีจากเรือสำเภา หมาได้พูดกับแมวว่า พ่อค้าเรือสำเภานั้นมีแก้ววิเศษที่ไม่ทำให้จมน้ำ หากใครครอบครองก็จะสามารถว่ายน้ำได้โดยที่ไม่จม เมื่อรู้เรื่องเช่นนี้แล้วแผนการจึงเริ่มขึ้น แมวได้คิดอุบายที่จะไปนำแก้ววิเศษมาให้ได้ แมวจึงไปขู่หนูที่อยู่บนเรือให้เป็นผู้ขโมยแก้ววิเศษมาให้ ฝ่ายหนูก็รับปากว่าจะไปขโมยแก้ววิเศษมาให้แต่จะขอติดตามหมาและแมวไปด้วย เมื่อเรือล่องมาถึงเมืองสงขลาอีกครั้ง หนูก็ได้ขโมยแก้ววิเศษมาโดยการอมไว้ในปากแล้วกระโดดลงจากเรือไปพร้อมกับหมาและแมว โดยมีจุดมุ่งหมายคือชายฝั่งเมืองสงขลา เมื่อว่ายน้ำด้วยกันมาสักพัก หนูที่คาบแก้ววิเศษและเป็นผู้ว่ายน้ำนำหน้า ก็เกิดความโลภที่จะเก็บแก้ววิเศษไว้เพียงผู้เดียว เพราะนึกขึ้นได้ว่าแก้ววิเศษนี้มีค่ามหาศาล ประกอบกับเกิดการระแวงหมาและแมวจะแย่งแก้ววิเศษไปจากตน แต่ทว่า แมวที่ว่ายตามหลังของหนูมาก็มีความคิดเช่นเดียวกันกับหนู แมวจึงได้ว่ายน้ำด้วยความเร็วตรงเข้ามายังหนู หนูที่ตกใจคิดว่าแมวจะมาทำร้ายตนจึงว่ายน้ำหนีสุดแรงเกิดและไม่ทันระวัง ทันใดนั้นเองลูกแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็หลุดร่วงลงสู่ก้นทะเล ทำให้พลังจากแก้ววิเศษก็หมดลงไปด้วย ประกอบกับทั้งหนูและแมวที่ว่ายน้ำกันมาไกลต่างพากันหมดแรงว่ายน้ำต่อไปไม่ไหวจึงได้พากันขาดใจตายกลายเป็นเกาะหนู และเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาที่ว่ายน้ำตามมาทีหลังก็สามารถขึ้นฝั่งได้แต่ด้วยความเหนื่อยล้าเต็มที่ ทำให้ได้ขาดใจตายตามหนูและแมวไป และกลายเป็นหินเรียกว่า เขาตังกวน ส่วนแก้ววิเศษที่จมลงทะเลนั้นก็ได้แตกละเอียด กลายเป็นหาดทรายและเรียกว่า หาดทรายแก้ว อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนยื่นออกไปในอ่าวสงขลา จังหวัดสงขลา

เมื่อได้อ่านตำนานเรื่องเล่า เกาะหนู เกาะแมว จะพบจุดแลนด์มาร์กสำคัญในปัจจุบันของเมืองเก่าสงขลา ทั้ง เกาะหนู เกาะแมว เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดสงขลาคู่กับแหลมสมิหลา เขาตังกวน บริเวณยอดเขาตังกวนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา จัดเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเช็คอิน แวะถ่ายรูป พร้อมกับชื่นชมความงามของทะเลแห่งนี้

จากจุดแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองเก่าสงขลาอย่างเกาะหนู เกาะแมว กลุ่มสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัท สงขลาเฮอริเทจ จำกัด ได้นำสัญลักษณ์สำคัญแห่งนี้มาถ่ายทอดเป็นผลงานให้ทุกคนได้เข้าถึงง่าย “ผ่านการกอด” เงือกแมวหนู กระโดดแย่งชิงลูกแก้ว ให้ความหมายผ่านการเคลื่อนไหว มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ รับน้องไปไว้ในอ้อมอก สั่งผ่าน inbox @SKA Heritage ราคา 350 บาท

 

อ้างอิง

ทรูไอดี. (2563). แวะชม "เกาะหนู เกาะแมว" แหล่งท่องเที่ยวในตำนาน @สงขลา. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม2567. จาก https://travel.trueid.net/detail/Wg5MM9O3dVlg.

เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). เขาตังกวน. ". สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2567. จาก https://www.songkhlacity.go.th/2020/travel/detail/7/data.html.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 2562. เกาะหนูเกาะแมว. ". สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2567. จาก https://folktales.sac.or.th/folktale-details.php?id=202.

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา กรมประชาสัมพันธ์. (2565). เกาะหนู – เกาะแมว "ตำนาน เรื่องเล่า แห่งสงขลา". สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2567. จาก https://bit.ly/4dKEFEi.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป). แหลมสมิหลา. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2567. จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/1573/.



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]