“บัดนี้ยังมีนักคะเลดล้ำ ซั้นซื่อเป็งจาน…”
เสียงขับร้อยกรองอันนุ่มหูลอยอยู่ในอากาศ พลันที่เราเดินล่วงมายังบ้านป่ากลางเมืองขอนแก่น ซึ่งโอบล้อมด้วยรั้วไม้ไผ่และแมกไม้หนาทึบ
เรากวาดสายตาดูธรรมชาติรอบทิศให้แน่ใจอีกครั้ง เมื่อครู่เรายังอยู่ที่จังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน รู้ตัวอีกทีก็มาถึงนครเป็งจาน อันเป็นฉากหลังของวรรณคดีเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย แล้ว
“คนภาคกลางเรียกเรื่องนี้ว่า สังข์ศิลป์ชัย คนภาคอีสานและคนลาวเรียกว่า สินไซ” ศิลปินผู้พักมือจากการวาดภาพชั่วคราวส่งเสียงบอกเราจากคอฟฟี่บาร์ “โฮงก็คือโรง หรือที่อยู่ของเจ้าเมืองในภาษาอีสาน”
ชายคนนั้นแนะนำตัวว่าชื่อ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ อดีตอาจารย์ประจำสายวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง ‘โฮงสินไซ’ แห่งนี้
“จริง ๆ แล้วส่วนตัวเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ เป็นคนอีสานก็จริง แต่ว่าไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองเลยนะครับ ศิลปะที่เรียนก็เป็นศิลปะสมัยใหม่ ไม่เคยได้ฟังหมอลำ ด้วยการศึกษาในแบบสมัยใหม่นี่แหละที่ทำให้เราไกลจากเรื่องราวของตนเอง ไกลจากศิลปะ ไกลจากวัฒนธรรม รวมถึงวรรณกรรม นิทานเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน”
อ.ทรงวิทย์ เปรยถึงสาเหตุที่เขาเนรมิตบ้านส่วนตัวเป็นแหล่งเรียนรู้วรรณคดีเรื่อง สินไซ พลางเสิร์ฟกาแฟที่เพิ่งชงเสร็จอุ่น ๆ ให้เราดื่ม
อดีตเด็กหนุ่มผู้มีหัวศิลป์ชาวอุบลราชธานีตบเท้าเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามด้วยปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนกลายเป็นชาวขอนแก่นเมื่อเขาย้ายมาสอนหนังสือ และศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ. 2541
ชีวิตที่ขอนแก่นนับเป็นจุดพลิกผันในชีวิตอาจารย์ศิลปะสมัยใหม่ ผู้เคยหมางเมินในรากเหง้าชาวอีสานของตนเองโดยแท้ เมื่อเขาได้ศึกษาเรื่อง สินไซ ผ่านศิลปะท้องถิ่นของจังหวัดนี้
“เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมอุษาคเนย์ เท่าที่มีการศึกษา เราพบว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพื้นที่ของคนกลุ่มมอญในประเทศเมียนมา อยู่ในประเทศกัมพูชาหรือในวัฒนธรรมเขมร ไทยก็มีทุกภาค เป็นที่นิยมมากในประเทศลาวและภาคอีสานซึ่งเป็นสำนวนร่วมกัน เนื่องจากในอดีตอีสานกับลาวถือว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เรื่อง สินไซ ฉบับที่ตัวเองนิยามว่าเป็นฉบับสองฝั่งโขงถือว่าเป็นฉบับที่นิยมที่สุด”
ท้องเรื่องก็ไม่ต่างจากวรรณคดีไทยส่วนใหญ่มากนัก เริ่มจากนางสุมนทา (สุมุณฑา) น้องสาวของท้าวกุดสะราด (กุศราช) แห่งเมืองเป็งจานถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักไปเป็นชายา ภายหลังท้าวกุดสะราดได้พระโอรสไล่เลี่ยกัน 9 พระองค์ ในจำนวนนี้มี 3 องค์ที่พระอินทร์ส่งลงมาเกิด ได้แก่สีโห (คชสีห์) สินไซ และสังข์ทอง (หอยสังข์) บรรดามเหสีองค์อื่นใส่ร้ายว่าพระโอรสเหล่านี้เป็นกาลกิณี ท้าวกุดสะราดจึงขับไล่ออกจากเมือง แต่พระอินทร์ก็มาช่วยเนรมิตเมืองใหม่ให้อยู่ ครั้นเติบใหญ่ สีโห สินไซ และสังข์ทอง ได้ออกตามหาเสด็จอาสุมนทาของพวกตน ต้องข้ามผ่าน 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย จึงได้พบนางสุมนทา สินไซฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย พากันกลับนครเป็งจาน ท้าวกุดสะราดสละราชสมบัติให้สินไซปกครองต่อมาอย่างร่มเย็นเป็นสุข
“ถ้าจะเอาแค่ความสนุกสนาน เราก็พูดถึงเรื่องการผจญภัย รักโลภโกรธหลงตามแบบของนิยายนิทานต่าง ๆ แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้มีการสอดแทรกให้เราได้คิดพิจารณาตามตัวบท”
อ.ทรงวิทย์ ยกตัวอย่างชื่อยักษ์ ‘กุมภัณฑ์’ แปลว่าผู้มีอัณฑะใหญ่เท่าหม้อ คือภาพแทนของตัณหาราคะที่มากล้น ส่วนสามพี่น้องล้วนมีนัยของไตรสิกขา สีโหคือศีล สังข์ทองคือสมาธิ และสินไซคือปัญญา ที่พวกเขาต้องไปทวงนางสุมนทาคืนมา ก็เพื่อทวงคืนความถูกต้องจากความลุ่มหลงมัวเมา
วรรณคดีเรื่องนี้จึงให้ทั้งอรรถรสความบันเทิง หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา หากอ่านฉบับสองฝั่งโขงก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่ชาวอีสานเรียกว่า ‘ฮีตสิบสองคองสิบสี่’ และยังได้เพลิดเพลินไปกับคำประพันธ์อันสละสลวยอีกด้วย
ยิ่งอาจารย์ได้ศึกษา ก็ยิ่งเกิดความรักความหลงใหลในยอดวรรณคดีคำกลอนเรื่องนี้ และพบว่า สินไซ ได้ซึมลึกอยู่ในวัฒนธรรมของคนลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไม่อาจแยกจากกันได้
“เราพบว่า สินไซ ปรากฏอยู่ในทั้งจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้ม อยู่ในเพลงหมอลำ แล้วเราย้อนกลับไปพบเอกสารใบลาน ไปพบคนมาปริวรรตมากมายในพื้นที่อีสาน โดยเฉพาะขอนแก่นเรา”
ในปี 2548 อ.ทรงวิทย์ ร่วมทำวิจัยให้กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ขณะนั้นเทศบาลนครขอนแก่นกำลังค้นหาอัตลักษณ์ในการพัฒนาเมือง เขาจึงได้นำเสนอข้อมูลเรื่อง สินไซ ที่เคยค้นคว้าไว้แก่เทศบาลนครขอนแก่น ทางเทศบาลก็นำวรรณคดีเรื่องนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองขอนแก่นระหว่าง พ.ศ. 2550 – 2554
“ร่องรอยต่าง ๆ ของยุทธศาสตร์ยังหลงเหลืออยู่มากในขอนแก่น เช่น เสาไฟฟ้า ที่นี่ไม่ใช่เสาหงส์ พญานาค แต่เป็นเสาสินไซ มีตัวสีโหที่ดูคล้าย ๆ คชสีห์ ถนนอีกเส้นหนึ่งก็มีรูปหอยสังข์ อีกเส้นหนึ่งเป็นรูปคนมีพระขรรค์กำลังแผลงศร คนไม่รู้ว่าคืออะไรก็ตั้งคำถาม แต่คนที่รู้ก็พอมี เพราะว่าช่วงนั้นก็มีการบรรจุเข้าไปในโรงเรียน ไปทำหลายอย่างมาก เช่น ละครเวที เพื่อยกชูวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมา”
กระทั่งยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองช่วงปีนั้นสิ้นสุดลง กิจกรรมเกี่ยวกับ สินไซ จึงซาลงไป หากแต่ความรู้และความสนใจที่ อ.ทรงวิทย์ มีต่อวรรณคดีเรื่องนี้ไม่มีวันหมดอายุ
“ก่อนหน้านั้นมีนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้แวะเวียนมาสัมภาษณ์บ่อย เราก็ต้องเอาสิ่งที่รวบรวมมาให้เขาดู พอบ่อยขึ้นก็คิดว่าถ้างั้นเราลองมาจัดพื้นที่ให้สะดวกต่อการเข้ามาศึกษาดีมั้ย เพื่อที่พวกเขาจะได้เห็นภาพรวมทั้งหมด เลยจัดพื้นที่หนึ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จะเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ๆ ก็ได้ครับ”
นั่นคือความคิดที่จุดประกายให้อาจารย์อุทิศพื้นที่บ้านตัวเองเป็นโฮงของท้าวสินไซ
“แรก ๆ ก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมากมาย ก็แค่เก็บรวบรวมและจัดแสดง มีตู้เก็บเอกสารหนังสือให้เป็นระบบมากขึ้น มีสิ่งของต่าง ๆ จัดให้เป็นสัดเป็นส่วน”
ที่นี่มีเนื้อที่กว้างขวางถึง 3 ไร่ โดยอาจารย์แบ่งเนื้อที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน
เริ่มจากส่วนแรกคือพื้นที่จัดนิทรรศการถาวร ซึ่งเน้นหนักไปที่วรรณคดี
บ้านสองชั้นหลังนี้เป็นที่รวบรวมข้าวของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ สินไซ เมื่อเข้ามาจะได้พบกับตู้กระจกเก็บรวบรวมเอกสารประมาณ 140 – 150 รายการ ประกอบด้วยในแง่รัฐศาสตร์-การเมือง 10 เล่ม ฉบับร้อยแก้วคำธรรมดา 8 เล่ม กลอนลำ 8 เล่ม หนังสือภาพ 10 เล่ม เอกสารเชิงวิเคราะห์อันเนื่องในสินไซ 8 เล่ม, สินไซฉบับปริวรรตภาษาไทย-ลาว 30 เล่ม งานวิจัยสินไซภาษาไทย-ลาว 16 เล่ม เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 40 – 50 รายการ และยังมีฉบับแปลภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม อีก 8 เล่ม
ผนังห้องประดับภาพเขียนสีน้ำเล่าเรื่อง สินไซ แบ่งเป็น ‘บั้น’ หรือตอนในเนื้อเรื่อง ซึ่งอาจารย์เป็นผู้วาด และของสะสมอีกนานัปการ ทั้งหนังตะลุง เสื้อยืด ถ้วยกาแฟ ภาพถ่าย แผ่นพับ ของที่ระลึก ฯลฯ ส่วนหนึ่งเป็นมรดกที่หลงเหลือมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองขอนแก่น พ.ศ. 2550 – 2554
ส่วนที่สองคือนิทรรศการหมุนเวียน ที่อาจารย์นิยามว่าเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้กับการต่อยอด โดยนำผลงานของช่างพื้นบ้านพื้นเมืองและผู้ด้อยโอกาสมาเผยแพร่ เป็นต้นว่าภาพวาดของน้อง ๆ ที่มีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมและกลุ่มผู้พิการที่มาร่วมทำกิจกรรมที่นี่
และส่วนที่สามคือพื้นที่จัดกิจกรรมซึ่งไม่มีอาณาเขตตายตัว ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ในตัวบ้าน นอกตัวบ้าน ไปจนถึงพื้นที่ป่าทั้ง 3 ไร่ เขียวขจีด้วยต้นไม้ประมาณ 300 – 400 ต้น
“ตอนนี้พื้นที่โฮงสินไซไม่ได้เป็นพื้นที่แค่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีเท่านั้น ข้อมูลเหล่านั้นเป็นแค่ฐานความรู้ สาระสำคัญของพื้นที่โฮงสินไซก็คือ การเชื่อมโยงเรื่องเล่าหรือว่าภูมิปัญญาในอดีตกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ที่นี่ โดยเราบูรณาการเรื่องธรรมชาติ-วัฒนธรรม-ศิลปะ”
ธรรมชาติตามความหมายของอาจารย์มีทั้งธรรมชาติภายในและธรรมชาติภายนอก ต้องใช้ผัสสะหรือประสาทการรับรู้ทั้ง 6 และประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้เข้าใจ
วัฒนธรรมคือการมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ เคารพซึ่งกันและกัน
ศิลปะก็คืองานสร้างสรรค์ ซึ่งอาจารย์มีองค์ความรู้ด้านนี้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ใช้วรรณคดีเป็นตัวบูรณาการ ดังที่อาจารย์ได้ย้ำกับเราเสมอว่า สินไซ ฉบับลุ่มน้ำโขงสอนความจริงทุก ๆ มิติตั้งแต่การเกิดจนถึงการตาย
“กลุ่มที่เรากำลังทำกิจกรรมด้วยอยู่ในตอนนี้คือกลุ่มบุคคลออทิสติกและผู้พิการ” อ.ทรงวิทย์ เล่าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักที่โฮงสินไซชวนมาร่วมสนุกอยู่บ่อยครั้ง “เรามองว่าวรรณกรรมนี้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้ เช่น การเชื่อมโยงประเด็นอุปสรรคในชีวิตกับคนพิการเข้ากับอุปสรรค 9 ด่านที่ตัวละครต้องฟันฝ่า หรือว่าจินตนาการให้เขาตีความเรื่องราวด้วยกระบวนการต่าง ๆ”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เราจะเห็นกลุ่มเยาวชนผู้ด้อยโอกาสเดินทางมาเยือนโฮงสินไซ เพื่อทำงานศิลปะ สำรวจต้นไม้ และทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องอยู่บ่อยครั้ง
อาจารย์กล่าวว่าสาเหตุที่อยากช่วยเหลือกลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ก็เพราะคนเหล่านี้มีด้านที่คล้ายคลึงกับตัวละครเอกในเรื่องที่ผิดแผกจากคนทั่วไป เช่น เกิดมาเป็นหอยสังข์ เป็นสิงห์ผสมช้าง เป็นเด็กที่ถืออาวุธติดมือมาจากครรภ์มารดา ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่คนเลวร้าย แต่เพราะมีสภาพร่างกายไม่เหมือนคนปกติ จึงถูกเนรเทศออกจากเมืองเกิด ทำนองเดียวกับกลุ่มคนพิเศษที่ถูกสังคมหันหลังให้
“พอน้อง ๆ ออทิสติกมาเที่ยวที่นี่ เราก็จัดกิจกรรมให้เขาเดินป่า แล้วเชื่อมโยงกับด่านมหาภัยทั้ง 9 ให้เขาจินตนาการไปต่าง ๆ นานาว่าเป็นด่านอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะได้เรียนรู้พฤกษศาสตร์จากต้นไม้ที่พบระหว่างทาง ได้สัมผัสโดยใช้ตา ใช้หู ใช้การดมกลิ่น สัมผัสลิ้มรส แล้วก็ให้อยู่กับความเป็นปัจจุบัน” คำบอกเล่านั้นพอจะไขความข้องใจให้เราได้ว่า เหตุใดพื้นที่นี้จึงมีหุ่นงูปลอมตัวใหญ่ยักษ์ ดูราวกับว่าจำลองมาจากด่านงูซวง (งูใหญ่) ที่สินไซได้พบระหว่างทางไปล่านางสุมนทาคืนมา
เราดื่มกาแฟที่อาจารย์ชงให้จนหมดแก้ว ครั้นถามถึงราคา เขากลับส่ายหน้าปฏิเสธ
“กาแฟนี่ไม่ได้จำหน่าย แค่เจ้าของชอบทานกาแฟ มองว่าตรงนี้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยกันได้ เลยทำเป็นสินไซคอฟฟี่บาร์ขึ้นมา ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ถ้าอยากสนับสนุนให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ หรือว่าจะจ่ายให้กับคนอื่นที่ไม่มีกำลังก็ได้ทั้งสิ้น”
เจ้าของพื้นที่ยังเสริมอีกว่า ที่โฮงนี้ไม่เคยคิดค่าเข้าชม อยากมาศึกษา สินไซ หรือวรรณกรรมเรื่องไหน ๆ ก็เข้ามาศึกษาได้ฟรี หรืออยากมาแค่พักผ่อนหย่อนใจก็ย่อมได้ มาถึงแล้วท้องยังว่างก็ทานอาหารของที่นี่ได้ หรือจะนำอาหารมาปรุงทานที่นี่ก็ทำได้เช่นเดียวกัน
“เราออกแบบไว้ว่าอยากให้มันสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ไม่ได้ออกแบบให้เป็นหน่วยงาน สถาบัน หรืออะไรที่เป็นระบบ ที่ผ่านมาเราจัดกิจกรรมกับน้อง ๆ กับผู้ปกครองกลุ่มออทิสติก เขาก็รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน ที่นี่เป็นพื้นที่ของเขา มาแล้วเขาสบายใจ ได้รับการโอบอุ้ม สามารถจะมีตัวตน ได้รับการยอมรับซึ่งกันและกัน พื้นที่ตรงนี้เลยมีลักษณะไม่เป็นทางการ มีความเป็นเครือญาติ มีความเป็นชุมชนแบบอีสานที่ผ่านมา”
อ.ทรงวิทย์ เผยแนวทางที่เขาใช้ดำเนินการศูนย์การเรียนรู้ของตนเองมาแรมปี และมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปตราบเท่าที่บ้านหลังนี้ยังเป็นพื้นที่เล่าขานตำนานสินไซ สีโห สังข์ทอง และด่านมหาภัยทั้ง 9 อยู่
“ถึงไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาก็ไม่เป็นไร ถือว่ามาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกันนะครับ”
โฮงสินไซ
ที่ตั้ง : 257 หมู่ 17 ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 16.00 น.
โทรศัพท์ : 08 9499 2256 (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
Facebook : โฮงสินไซ
ติดตามงานเขียนต้รนฉบับ ที่นี่
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]