โครงการปิ๊งส์ สสส. มอบรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สุดยอดผลงานในโครงการประกวดสื่อเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ : อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา” หลังมีเด็กและเยาวชนส่งผลงานคลิปสั้นและมิวสิควีดิโอเข้าร่วมกว่า 100 ผลงาน และมีเพียง 30 ผลงานเท่านั้นที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งผลงานทั้งหมดจะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์สร้างและปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศในทุกๆ ช่องทางต่อไป
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันไปใช้โทรศัพท์มือถือในการรับข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลักมากกว่าดูโทรทัศน์หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์ และจากการรวบรวมสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกของ “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซี่ และ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions พบว่า คนไทยใช้เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก โดยกรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์เมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก(Facebook) รวมทุกอุปกรณ์มากสุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และถ้าวัดเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนต่อวันมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาที นอกจากนี้คนไทยยังใช้เวลาในการเล่น Social Media โดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน และใช้เวลาไปกับการดูทีวี (Broadcast, Streaming, Video On Demand) ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง 3 นาทีต่อวัน ซึ่งกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 17-36 ปี มีการใช้งานในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมงต่อวัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมงต่อวันในช่วงวันหยุด โดยกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) โดยโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูป (97.1%), เฟซบุ๊ก (96.6%), ไลน์ (95.8%), อินสตาร์แกรม (56%), พันทิพย์ (54.7%), ทวิตเตอร์ (27.6%) และวอชแอป (12.1%)
“เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคมรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดโครงการประกวดสื่อเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ : อย่าปล่อยให้เหล้า-บุหรี่มาลวงเรา” ในประเภทคลิปสั้นและมิวสิควิดีโอขึ้น จากการประกาศเปิดรับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีผลงานส่งเข้าร่วมกว่า 96 ผลงาน และมีเพียง 30 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ โดยแบ่งเป็นคลิปสั้น 23 ผลงาน มิวสิควีดีโอ 7 ผลงาน ซึ่งผลงานทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์สร้างและปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติ ตามหลักประตู 5 บาน ของการรู้เท่าทันสื่อ อาทิ เอ๊ะ, อุ๊ย, โอ๊ะโอ๋, อี๋ และอ๋อ คือต้อง ..เอ๊ะ ก่อนอย่าเพิ่งเชื่อสื่อ ต้องสงสัยและตั้งคำถามสงสัยแล้วคิดวิเคราะห์ให้รู้ความจริงก่อนว่าคืออะไรเสียก่อน, ..อุ๊ย เมื่ออุ้ยแล้วอย่าเพิ่งชอบ ต้องรู้ทันว่าสื่อมักทำให้ชอบ โดยจงใจให้รู้สึกสนุกและคล้อยตาม เราต้องวิเคราะห์สื่อ การแยกแยะองค์ประกอบในการนำเสนอก่อนว่าสื่อมีวัตถุประสงค์อะไร จากนั้นต้อง ..โอ๊ะโอ๋ อย่าเพิ่งโอ๊ะโอ๋ เพราะรู้สึกว่าถูกดึงดูดใจ สื่อมักใช้เทคนิคหลากรูปแบบเพื่อดึงดูดใจให้จดจำ เช่นใช้การ์ตูนสนุกๆ มานำเสนอ ต่อมารู้จัก..อี๋ เพราะต้องรู้ว่าเจตนาของสื่อคือแอบแฝงผลประโยชน์บางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะทำให้อยากดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ตามตัวแสดง หรืออยากซื้อสินค้าของเขาบ่อยๆ แล้ว ..อ๋อ จะเกิดขึ้นได้ถ้ารู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แล้วการรู้เท่าทันสื่อก็จะเกิดขึ้น” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวต่อว่า จากผลงานที่เข้ารอบทั้งหมดได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการ ปรากฏว่า ในประเภทคลิปสั้นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ผลงานเรื่องSa-ti ทีม Art’ Gallery จากมหาวิยาลัยศรีปทุม, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ผลงานเรื่องUnreason-ขาดสติ ทีม Prologue Film จากโรงเรียนชลกันยานุกูล, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ผลงานเรื่องปลอม ทีม Box film production จากโรงเรียนสตรีอ่างทอง และรางวัลชมเชย ได้แก่ผลงานเรื่องหลงรวย ออนไลน์ ทีม ATT Production จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนในประเภทมิวสิควิดีโอ จากการตัดสินของคณะกรรมการไม่มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 โดยรางวัลสูงสุดของประเภทนี้ได้แก่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ซึ่งผลงานที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มี 2 ผลงานได้แก่ ผลงานเพลงเอ๊ะ! อะไรยังไง ทีม Cheu Di จากโรงเรียนตราษตระการคุณ และผลงานเพลง believe it or not ทีม Matchstick Production จากวิทยาลัยนานาชาติมหิดล และรางวัลชมเชย ได้แก่ผลงานเพลงแอลกอฮอล์ ทีมTHRIVE จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำหรับรางวัลสูงสุดจากการประกวดในครั้งนี้คือ Best of the best ซึ่งจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการนำผลงานของเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของทั้งสองประเภท มาลงคะแนนอีกครั้ง ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลนี้คือผลงานเรื่องSa-ti ทีม Art’ Gallery จากมหาวิยาลัยศรีปทุม สำหรับผลงานทั้งหมดที่ได้ในโครงการนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์ ปลูกฝัง และสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนเชื่อ-กระจายออกสู่สังคมด้วยสติให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศในทุกๆ ช่องทาง ซึ่งสามารถติดตามผลงานทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ www.artculture4health.com, www.Pings.in.th
เกี่ยวกับผลงานนายประพัฒน์ คูศิริวานิชกร (Director & creative บริษัท Duck ba doo จำกัด) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมิวสิควีดิโอให้กับศิลปินมากมาย กล่าวว่า ทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากแต่เด็กและเยาวชนก็ยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีมาเป็นตัวกำหนดให้เขามีโอกาสสร้างสรรค์ และมีทางออกในการผลิตชิ้นงานออกมาได้หลากหลายมากขึ้น ผลงานที่ออกมานอกจากจะสามารถสื่อสารให้คนในกลุ่มเพื่อนหรือคนในเดียวกันเข้าใจได้แล้ว เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้คนได้รู้จักการรู้เท่าทันสื่อและไม่มองข้ามการสื่อสารในปัจจุบันได้เช่นกัน
ซึ่งนายอภิชาติ ทวีอภิรดีวิชา ผู้กำกับอิสระและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ผลงานที่ออกมาจากการสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในโครงการนี้มีความชัดเจนในเรื่องประเด็น และมุมมองของภาพที่โดดเด่น มีองค์ประกอบของโปรดักชั่นที่แตกต่างน่าสนใจ คิดว่าถ้านำไปสื่อสารต่อก็น่าจะทำให้คนดู เอ๊ะ, อุ๊ย, โอ๊ะโอ๋, อี๋ และอ๋อ เข้าใจและหันมามองเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อได้
ด้านนายวิทยา จิรัฐติกาลสกุล พี่เลี้ยงในโครงการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเด็กและเยาวชนสมัยใหม่มีข้อดีในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การใช้โปรแกรมในการทำงาน การถ่ายทำดีขึ้นกว่ายุคสมัยก่อน การเปิดโอกาส ให้เด็กสมัยใหม่มีโอกาสในการก้าวเข้ามาเป็นคนทำสื่อ ให้เขาได้เป็นผู้ส่งสารในการรู้เท่าทันสื่อให้กับคนในสังคมก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะปลูกฝังให้เขารู้เท่าทันสื่อไปในตัวร่วมกับการบอกต่อไปยังคนอื่นๆ ผ่านคลิปสั้น และมิวสิควีดิโอที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาในครั้งนี้ด้วย เพราะความคิดเล็กๆ สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ให้สังคมได้จริงๆ สำหรับเด็กและเยาวชนคนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถเป็นผู้สื่อสาร สร้างสรรค์ และส่งสารดีๆ สู่สังคมได้เช่นกันเพียงแค่ต้องรู้เท่าทันสื่อและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะสื่อสารอะไรออกไปต้องไม่ชี้นำให้เชื่อหรือคิดต่อไปทางไหน แบบไหน ปล่อยให้เขาคิดและรู้สึกกับสิ่งที่นำเสนอด้วยตัวของเขาเอง แค่นี้ก็ถือเป็นการสร้างเสริมศักยภาพให้ตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสังคมร่วมกันได้แล้ว
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]