ท่าพระที่นี่เคยมีโรงหนัง
ย้อนอดีตไปช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กว่าหรืออาจจะย้อนไปมากกว่านั้นตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจ เส้นทางคมนาคมที่ใช้ในการเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเห็นจะเป็นรถไฟที่ใช้กันเป็นประจำในสมัยที่ยังไม่มีรถทัวร์หรือเครื่องบินให้นั่งสบาย ๆ ใครมาจากไหนก็ลงที่นี่มาจากโคราชก็ลงที่ท่าพระ สถานีรถไฟคับคั่งไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ยิ่งคนเยอะเศรษฐกิจก็ยิ่งดีค้าขายอะไรก็เป็นกำไรไปหมด
โดยเฉพาะเรื่องของความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เขาบอกว่าคนอีสานชอบร้องรำทำเพลง ชอบความสนุกสนานเห็นจะเป็นเรื่องจริง คนในท่าพระก็เช่นเดียวกันแต่ที่เห็นจะชอบมาก ๆ คงเป็นลิเก ถึงขนาดมีโรงลิเกก่อตั้งที่นี่เลยทีเดียว เช่นกันกับหนังกลางแปลงเป็นอีกหนึ่งมหรสพที่ให้ความบันเทิงกับคนที่นี่ได้เป็นอย่างดี สมัยนั้นถ้าจะได้ดูหนังกลางแปลงก็ต้องรอหน่วยงานราชการที่จะจ้างมา หรือเรียกอีกอย่างว่าหนังจ้างเพื่อประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์เรื่องการกินอาหาร การป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ สมัยนั้นเป็นหนังการ์ตูนของ ปยุต เงากระจ่าง เช่น เรื่องของการรับประทานอาหารที่สุก การป้องกันโรคอหิวาห์ตกโรคซึ่งระบาดหนักอยู่ในช่วงนั้น ผู้ที่นำมาฉายเห็นจะเป็นนายพิมพ์ ชินคำหาร ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ แถมปิดท้ายคืนนั้นด้วยอ้วนผอมจอมตลก นอกจากจะนำมาฉายแล้วนายพิมพ์ก็เป็นทั้งผู้พากย์หนังเองอีกด้วย
ที่ท่าพระในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นอกจากหนังราชการที่มักจะจ้างมาแล้วก็จะมีหนังขายยาของบริษัทโอสถสภาเต๊กเฮงหยู หนังขายยาถือเป็นต้นกำเนิดของหนังกลางแปลงเลยก็ว่าได้ ก่อนที่จะมีหนังกลางแปลงในรูปแบบอื่น ๆ ตามมาอีก ขายยาก็จะขายไปตั้งแต่ ยาทันใจ ยาสตรีเพ็ญภาคตราพญานาค ยาแก้ปันดงตราหอยสังข์ หมากหอมเยาวราช ยาบวดหาย ไปจนถึงยาหม่องตราถ้วยทอง ถ้าหากถามคนรุ่นใหม่จะมีสักกี่คนที่รู้จักยาพวกนี้
ในรถหนังกลางแปลงแต่ละคันจะมีเครื่องทำไฟฟ้าหรือเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าติดยื่นออกไปทางด้านหลัง จอหนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 4 เมตร เป็นหนังสีขาว-ดำ พอเริ่มฉายก็จะมีข่าวในพระราชสำนัก การเสด็จเยือนต่างประเทศและพระราชกรณียกิจในเมืองไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙ ต่อจากนั้นจึงเริ่มฉายหนังยาวไปตลอดทั้งคืน หนังที่นำมาฉายก็จะมีทั้งหนังจีน สมัยนั้นคนในท่าพระส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจึงค่อนข้างเป็นที่นิยม
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ หนังกลางแปลงเจ้าแรกในท่าพระเห็นจะเป็นของ นายพั่ว โพธิ์ศรี เป็นเจ้าแรกที่ฉายหนังกลางแปลงเป็นหนังขายยา ก่อนหน้านี้ที่กิจการหนังกลางแปลงเข้ามาในท่าพระก็จะเป็นเจ้าอื่นที่เดินทางมาเร่ฉายในท่าพระก่อนที่นายพั่วจะให้ความสนใจและมีกิจการหนังขายยาเป็นของตนเอง
นายพั่วออกฉายหนังตามจังหวัดอื่นไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๑ เดือนจะกลับมาบ้านแต่ละครั้ง หนังจะเป็นขนาด ๑๖ มม. พากย์เองด้วยลีลาการพากย์ที่สนุกสนาน ตลกเลยทำให้มีคนชอบใจเยอะกิจการหนังกลางแปลงของนายพั่วจึงถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก เป็นที่รู้กันดีของคนภายในหมู่บ้านว่านายพั่วไม่ได้เรียนหนังสือแต่กลับเป็นคนที่ขยันขันแข็ง ชอบหาของป่าเช่น ปอ ครั่ง นุ่น ขี้ยาง ขี้ซีไปขายตามตลาดท่าพระ อัธยาศัยไมตรีดี ชอบพูดตลก เป็นคนร่าเริง พออ่านออกเขียนได้ด้วยการฝึกฝนตนเอง การหาหวยเบอร์ได้ทำให้บวกลบคูณหารเป็น
นายพั่วสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างบ้าน ซื้อที่ดินไว้มากมายในหมู่บ้านหนองบัวดีหมี นายพั่วเสียชีวิตในปี พ.ศ.๒๕๔๑ อายุได้ ๗๑ ปี แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ยังมีผู้ร่วมทีมงานขายยาของนายพั่วที่ยังคงสานต่อกิจการหนังขายยานั้นก็คือ นายนรนาถ อาษาภา ซึ่งก็เป็นชาวบ้านบ้านหนองบัวดีหมีฉายหนังขายยาเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็ได้เลิกราจากกิจการนี้ไป ยังคงเหลือไว้แต่เพียงรถขายยาเบื่อหนู ชอล์คฆ่ามด ฆ่าปลวก ที่ยังคงขายอยู่จนถึงปัจจุบันถึงแม้จะไม่ได้ฉายหนังแล้วก็ตาม
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของกิจการหนังกลางแปลงเลยก็ว่าได้ นอกจากหนังไทยที่เอามาฉายอยู่ตลอดแล้วนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕ หรือราว ๆ นี้ ยังมีหนังฝรั่ง หนังจีน หนังคาวบอย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเข้ามาฉายเพิ่ม เลยทำให้กิจการหนังกลางแปลงคึกคักเป็นเวลานานจนมาถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่กิจการหนังกลางแปลงก็เริ่มซบเซาลง เหตุด้วยกำลังเข้าสู่ยุคของโรงหนังหรือโรงภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้ามาตีตลาดแทนหนังกลางแปลง แต่ถึงอย่างไรก็ใช่ว่าจะปิดกิจการไปเสียทั้งหมด ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างประปรายหากแต่ไม่มากเท่าในช่วงปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หรือราว ๆ นี้หนังกลางแปลงได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหนังของปรมาจารย์ฮีโร่พันธุ์บู๊ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ พันนา ฤทธิไกร ด้วยนั้นเอง
การเริ่มต้นขึ้นของโรงภาพยนตร์คงสร้างความตื่นตาให้คนในท้องที่นั้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียว สถานที่ที่ให้ความบันเทิงและยังเป็นแหล่งนัดรวมตัวกันของคนวัยหนุ่มวัยสาว คงจะให้อารมณ์เช่นเดียวกับการมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห้งแรกของจังหวัดยิ่งในสมัยนั้นแล้วที่เทคโนโลยียังเข้ามาไม่มากนักแต่ถึงขั้นมีโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ก็คงจะเป็นที่จดจำของผู้คนอยู่เป็นอย่างมากเลยทีเดียว เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์แห่งแรกของท่าพระ “โรงภาพยนตร์เพชรเกษม”
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้กิจการหนังกลางแปลงเริ่มซบเซาลงนั้นก็คืออิทธิพลของโรงภาพยนตร์หรือที่เรียกสั้น ๆ ก็โรงหนังที่เราคุ้นเคยกันดี พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นช่วงที่กิจการหนังกลางแปลงเริ่มถูกลดบทบาทลงและโรงหนังได้เข้ามาแทนที่ ในท่าพระโรงหนังโรงแรกและโรงเดียวเห็นจะเป็น โรงหนังเพชรเกษม ผู้บุกเบิกยุคแรกเริ่มคือ แม่ผง-พ่อเส่ง แซ่เล่ง ทั้งสองท่านชอบดูหมอลำ ชอบดูหนัง ฟังเพลง ชอบความบันเทิงและอยากที่อยู่ในวงการบันเทิง ก่อนหน้าที่จะผันตัวมาเปิดกิจการโรงหนังก็มีกิจการโรงเลื่อยและโรงลิเกมาก่อน โรงหนังของทั้งสองท่านมาเริ่มต้นจริงจังเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทั้งสองอยากทำกิจการสักอย่างหนึ่งที่ให้ความสนุก เป็นสิ่งที่จรรโลงใจผู้คนได้ดี ทั้งยังมีผืนที่ดินที่สามารถสร้างโรงหนังได้อย่างพอเหมาะ จึงตัดสินใจเริ่มสร้างโรงหนังนี้ขึ้น และกลายเป็นตำนานให้คนท่าพระตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หากคุณมาเที่ยวท่าพระ ลองถามหาโรงหนังเพชรเกษมดู เผื่อว่าจะมีผู้รู้ ชี้ทางให้เห็น มาถึงบรรทัดนี้ก็แค่เพียงอยากจะบอกว่า “ท่าพระร้อยปีในความทรงจำ” ที่นี่เขามีเรื่องเล่า ความเจริญ มากมาย รอให้คุณมาเยือน.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]