ฮูปแต้มในวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
ฮูปแต้ม : มรดกวัฒนธรรมสองฟากฝั่ง
หากพูดถึงจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีกระจายอยู่ในวัดทั่วประเทศ แต่ละพื้นถิ่นล้วนมีเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังนั้น ได้มีการวาดมากที่สุดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากบ้านเมืองเราอยู่ในความสงบสุขและบูรณะ ซ่อมแซม วัดวาอารามที่เก่าแก่ โดยเฉพาะวัดอรุณราชวรารามที่มีการต่อเติมให้สวยงาม แต่กลับมีประเด็นถกเถียงกันเรื่องเร็ว ๆ นี้ ถึงเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์ ที่ทำใหม่จนไม่เหลือเค้าความงามที่เคยมีอยู่
ในภาคอีสานเอง จิตรกรรมฝาผนังมีอยู่ในวัดเกือบจะทั่วไป แต่มีมากหน่อยในพื้นที่อีสานกลาง ไม่ว่าจะเป็น ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และเลย แต่คนอีสานไม่ค่อยเรียกว่าจิตรกรรมฝาผนัง แต่มีชื่อเรียกขานที่ติดปากว่า “ฮูแต้ม”
คำว่า “ฮูปแต้ม” เป็นภาษาลาวอีสาน ฮูปแปลว่า รูป ส่วนแต้ม แปลว่า วาด หากแปลตามตัวก็คือ รูปวาด ที่วาอยู่ตามผนังโบสถ์ หรือ สิม ในภาษาอีสาน ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนเรื่องราวในฮูปแต้มนั้นมีหลากหลาย หลัก ๆ คือ พระเวสสันดรชาดก รามเกียรติ์ พระมาลัย พระลักพระลาม และ สังข์สินชัย หรือสินไซ
แต่หลายคนหากไม่รู้เรื่องราวในวรรณกรรม เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน พอไปดูฮูปแต้มก็จะไม่เข้าใจภาพที่ปรากฎ จะต้องให้ปราชญ์ หรือผู้รู้มาคอยแนะนำ นี่จึงเป็นประเด็นที่วงการวรรณกรรมอีสานและลาว โดยสโมสรนักเขียนภาคอีสาน และสมาคมนักประพันธ์ลาว แห่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว ได้ร่วมกันเสนอประเด็น การสัมมนาวิชาการเรื่อง ฮูปแต้ม มรดกวัฒนธรรมสองฟากฝั่ง เพื่อนำไปสู่การวิจัยศึกษา หาข้อมูล และเชิญผู้รู้ที่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาบอกเล่า ให้กับคนที่ไม่รู้ ได้รู้ โดยเฉพาะคนในแวดวงวรรณกรรมที่หลงลืมในการใส่ใจ เรียนรู้ เรื่องราวพื้นถิ่นเหล่านี้
การจัดงานครั้งนี้ได้รับการตอนรับจาก สำนักวัฒนธรรม และ ศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ที่ได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและเรื่องศิลปวัฒธรรม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในการเข้ามาหนุนเสริมให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จดังเป้าประสงค์ โดยได้จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จ.ขอนแก่น
รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒธรรมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า เรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสานความร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ภารกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเรื่องของการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ถือเป็นภารกิจหลัก ที่จะต้องดำเนินการ ทั้งในพื้นที่ประเทศไทย และ กับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
“โครงการสานสัมพันธ์วรรณกรรมสองฝั่งโขงนี้ ได้ดำเนินการมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยปีนี้เน้นเรื่องฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนัง เพราะมองว่าเป็นมรดกร่วมของทั้งสองประเทศ ไทยก็มี สปป.ลาวก็มี เหมือนทั้งสองประเทศมีเรื่องเล่าเรื่องเดียวกัน จิตรกรบางคนอาจจะข้ามไปมาทั้งสองฝั่งเพื่อฝากผลงานเอาไว้ นี่คือเป็นอีกหนึ่งงานสัมมนาวิชาการที่สำคัญที่จะได้ทั้งแง่มุมความรู้ทางวิชาการ และเป็นโอกาสอันดีที่จะสานสัมพันธ์ของสองประเทศด้วย”รศ.เกรียงไกร บอก
ในขณะที่ สมคิด สิงสง บอกว่า ความสัมพันธ์ด้านวรรณกรรมของนักเขียนไทยอีสาน กับนักเขียนสปป.ลาวนั้นมีมายาวนาน ทั้งความสัมพันธ์แบบทางการและแบบไม่เป็นทางการ เสมือนเป็นญาติมิตรใกล้ชิดที่ไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ เพราะเรื่องของวรรณกรรมนั้นสองแผ่นดินไทยและสปป.ลาวแทบจะไม่แตกต่างกัน สามารถยกพรมแดนเขตประเทศออกไปได้เลย เพราะมีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว
“ไทยและสปป.ลาว เรามีหลายอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การลำ งานวรรณศิลป์ งานวรรณกรรม หรือแม้แต่จิตรกรรมก็แทบจะแยกกันไม่ออก อยากจะฝากลูกหลานต่อไปให้สืบสานเรื่องราวเหล่านี้ เพราะนี่คือหัวใจหลักองงานศิลปวัฒนธรรมของไทยและเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว”สมคิด กล่าวย้ำ เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญเรื่องของวรรณกรรม ที่เป็นสะพานทองเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เช่นกันกับ ผู้แทนสมาคมนักประพันธ์ลาว คือท่านนางผิวลาวัน หลวงวันนา รองประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว หัวหน้าคณะที่นำนักเขียน ศิลปิน จากสปป.ลาว กว่า 20 ชีวิต มาร่วมงาน บอกว่า จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นของทั้งสองประเทศ ทางสมาคมนักประพันธ์ลาว คาดหวังว่าการดำเนินกิจกรรมนี้จะส่งผลให้ได้รับความรู้เรื่องฮูปแต้มอย่างลึกซึ้งด้วยดีทั้งสองฝ่าย เพราะฮูปแต้มมีหลากหลาย มีเรื่องเล่ามากมาย แต่นั่นล้วนแฝงหลักธรรม คำสอน วิถีชีวิตของคนในช่วงเหตุการณ์นั้น ๆ เอาไว้ และนอกเหนือจากเรื่องฮูปแต้มแล้วยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่จะสามารถสานสัมพันธ์กันต่อเนื่องได้ในอนาคต
นั่นคือความสำคัญของ ฮูปแต้ม ที่หน่วยงานร่วมจัดทั้งสองฝั่งได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ในขณะที่เนื้อหาและความน่าสนใจของฮูปแต้มนั้น นักวิชาการที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มานานอย่าง ศ.ดร.สุกัญญา สุจฉายา ซึ่งเป็นคนภาคกลางแต่มาสนใจและศึกษาเรื่องฮูปแต้ม ระบุว่า ศึกษาเรื่องฮูปแต้มอีสานมากว่า 30 ปีแล้ว พบสิ่งที่น่าสนใจและข้อความรู้ทางวิชาการในฮูปแต้มมากมาย โดยพบว่ามีวัดในอีสานมี 4,000 แห่ง แต่มีฮูปแต้มประมาณ 30 วัด ซึ่งฮูปแต้มของอีสานจะแตกต่างจากฮูปแต้มของภาคกลางอย่างที่วัดอรุณฯ วัดพระแก้วอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากทั้งสองวัดที่ว่ามาเป็นฝีมือช่างในราชสำนัก แต่ฮูปแต้มของอีสานคล้ายกับฝีมือเด็กวาด เด็กทำ เนื่องจากไม่ได้มีความอ่อนช้อย สวยงามอย่างที่เคยพบเจอ แต่กลับมีเสน่ห์ มีชีวิตที่ซ่อนอยู่และมีคุณค่ามากมาย
ผลิตภัณฑ์ที่นำเอาภาพจากฮูปแต้มมาสร้างชิ้นงาน
และนี่คือเนื้อหาบางส่วน ที่ได้บอกเล่า เรื่องราวของฮูปแต้ม มรดกสองฟากฝั่งในงานสัมมนาวิชาการที่ผ่านมา และยังมีข้อมูลอีกมากมายที่น่าสนใจ ท่านใดอยากจะได้ความรู้และอยากจะรู้เรื่องเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดู วีดีเทปที่บันทึกงานสัมมนาครั้งนี้ได้ที่ เวปไซต์ http://cac.kku.ac.th/ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของฮูปแต้มมรดกของชาติอย่างลึกซึ้ง.
ยักษ์กุมภัณฑ์ หุ่นกระติ๊บข้าว ที่ดึงออกมาจากตัวละครในวรรณกรรมเรื่องสินไซ ฮูปแต้มผนังสิมวัดไชยศรี จ.ขอนแก่น
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]