Young Guide ก(ล)างจอ เปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ชุมชนเกาะลันตา นักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน

หมวดหมู่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม , โดย : admin , 31 สิงหาคม 60 / อ่าน : 2,098


             กลุ่มละครมาหยา ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม (องค์กรสาธารณะประโยชน์ เลขที่4314) ร่วมกับ โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ โดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านนักสื่อสาร Young Guide ชุมชนเกาะลันตา

 

             เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 พลเมืองสื่อเด็กเกาะลันตา ได้จัดให้มีเวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน ก(ล)างจอ : ของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน เพื่อนำเสนอสื่อวิถีเกาะลันตาบ้านเรา ในฉบับเด็กทำ เด็กเล่น ได้เรื่อง ถือเป็นกิจกรรมพื้นที่ปฏิบัติการสร้างสรรค์ Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์ สร้างสุขภาวะชุมชนของเกาะลันตา ณ  พิพิธภัณฑ์ลันตา ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา (หลังเก่า) จังหวัดกระบี่

             นายฮาริส มาศชาย หัวหน้าศูนย์สื่อสารเด็กไทยฯ ผู้ประสานงาน เครือข่ายสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายความร่วมมือการปฏิรูปการเรียนรู้ ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม โดย 3 คณะกรรมาธิการร่วมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันประกอบด้วยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักการศึกษา ศิลปินศิลปวัฒนธรรม ภาคประชาชน  ได้ร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพคนไทยทั้งมวลให้เป็น “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (Creative Communicator) เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) และผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) การบูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่ ให้เป็นการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล (Inclusive Education) ผ่านสื่อสารมวลชนจากภาคประชาชน ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยภาคใต้ได้มอบให้ทางศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม เป็นผู้ดำเนินการ และได้เลือกพื้นที่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในหมู่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ซึ่งเวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กได้คิดและลงมือทำ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมพูดคุยในการนำเสนอสื่อดีสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากกว่า 500คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนรวมถึงสื่อมวลชนที่เข้าร่วม

             เวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน ก(ล)างจอ : ของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน เพื่อนำเสนอสื่อวิถีเกาะลันตา ได้จัดให้มีขบวนคาราวานรณรงค์ Gen Z Strong ไม่สูบไม่ดื่ม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในชุมชนเมืองเก่าลันตา ด้วยสีสันการแต่งกายนุ่งผ้าถุง-ปาเต๊ะ นิทรรศการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม นิทรรศการภาพวาดเกาะลันตาในฝัน  นิทรรศการชาวเล  ชม ชิม แชะ โชว์ บรรยากาศย้อนวิถีเมืองเก่า สื่อลันตา ลานตา ฉบับเด็กเล่นเด็กทำ ชม – นิทรรศการ และผลงาน ภายในงาน ชิม – ทดลอง เล่น ทำอาหารพื้นถิ่นลันตา แต่แรก แชะ – ถ่ายภาพบรรยากาศในงานกับมาสคอส คน แต่แรก และ โชว์ – ความสามารถของเด็กเกาะลันตา ซึ่งพิธีเปิดมีได้มีเด็กจับมือผู้ใหญ่ใจดี และสื่อมวลชนเยี่ยมชมนิทรรศการในงาน โดยมีผู้ใหญ่ใจดีที่สนับสนุนงาน อาทิ แอร์เอเชีย กระบี่ , บริษัทหาดทิพย์ กระบี่ , บิ๊กซี กระบี่ , บริษัทส่งเสริมทรานเซอร์วิส และอีกหลากหลายหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ 

             นายธีรภัทร ทะเลลึก หรือ น้องม๊อก แกนนำเยาวชนชุมชนบ้านสังกาอู้ เป็นตัวแทนของพลเมืองเด็ก Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน ได้ร่วมกับเพื่อนๆเป็นประธานในพิธีเปิดผลงานของตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อสร้างพลเมืองเด็กตื่นรู้ เท่าทันสื่อ สร้างเจ้าบ้านที่ดี ของ “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ของเกาะลันตา

             น้องม๊อก ได้เล่าให้ฟังว่า ตนและเพื่อนมีความรู้สึกยินดี และดีใจ เป็นอย่างมากที่ผู้ใหญ่ได้เล็งเห็นความสำคัญและเห็นพลังของเด็กเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วันนี้พวกเราได้ลุกขึ้นมา ทำสื่อดี และจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้ และคิดว่าพลังของสื่อที่พวกเราได้ผลิตจากการมองปัญหาในบ้านของตนเอง แล้วมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ อาจจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ แต่พวกผมคิดว่าอย่างน้อยผมได้เห็นเกาะลันตาและชุมชนบ้านของผมมากขึ้น วันนี้ถือเป็นการเปิดใจ เปิดพื้นที่ดีดีในบ้านของผม 

             ดร.กันยิกา ชอว์ ผู้แทน สสส. ได้กล่าวชื่นชมในกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะการนำเสนอสื่อการแสดงพิธีเปิด “ละครสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ของเด็กนักสื่อสาร Young Guide ในชุมชน ที่ได้กล่าวถึงแนวคิด หลักการ แนวทาง ของการจัดงาน และการแสดง วัฒนธรรมสื่อสร้างสรรค์ เด็กบันดาลใจอีกด้วย

             ด้าน นายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมชมผลงานสื่อของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน ทั้ง 4เรื่อง ได้แก่ เรื่องปูก้ามดาบ บ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนเกือบ 2,000 ไร่ นับเป็นผืนป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งปูก้ามดาบจะเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เรื่องรอยแพ ร่องรอยของแพ  จึงเป็นมุมมองที่ ในการสื่อสารความเจริญที่กำลังเข้ามา เรื่องภาษาที่กำลังหายไป ของชุมชนบ้านสังกาอู้ เป็นชุมชนเล็กๆของเกาะลันตา มองเห็นถึงความสำคัญของภาษาชาวอูรักลาโวรจ ที่กำลังจะหายไป และเรื่องทะเลปูน เรื่องผลกระทบปากท้อง เรื่องการทำมาหากิน เป็นสิ่งจำเป็นในขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตกับปัญหาในชุมชน ซึ่งทั้ง 4เรื่องเด็กสามารถนำเสนอได้อย่างดี ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวีถี วัฒนธรรม และความมั่นคงของชีวิตที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านสื่อด้วยพลังของพลเมืองเด็กได้

             เวทีหนัง ก(ล)างจอ กางแผ่เรื่องบ้านเรา ทั้ง 4เรื่อง ปูก้ามดาบ , รอยแพ , ภาษาที่หายไป , ทะเลปูน นอกจากเป็นการนำเสนอสื่อดีแล้ว ยังเปิดพื้นที่ชวนพูดคุยมุมมองชุมชน  กับผู้ใหญ่ใจกว้าง โดยนางสาวปานอุมา แหละยุหีม ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาพูดคุย

             นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ ได้กล่าวชื่นชมในผลงานของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชนที่เห็นเด็กลุกขึ้นมาทำสื่อ และจัดกิจกรรมในลักษณะของการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งโครงการครั้งนี้ นอกจากได้มีการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการสร้างพลเมืองตื่นรู้เท่าทันสื่อ และเจ้าบ้านที่ดี ในพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็งตำบลเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ และ ยังจัดให้มีพื้นที่สื่อสารสาธารณะอีกด้วยนับได้ว่าเป็นกระบวนการของการจัดกิจกรรมที่ดีที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องและความยั่งยืนทั้งในตัวเด็กที่ทำกิจกรรมและชุมชนได้รับผลประโยชน์จากสื่อที่เด็กได้หยิบยกประเด็นในการนำเสนอผลงานในครั้งนี้

             Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน จึงจะเป็นการสร้าง “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (creative communicator) ที่สื่อสารกับโลกได้อย่างมีพลัง ผ่าน “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) เป็น “พลเมืองผู้ตื่นรู้” (active citizen) พลังสื่อที่สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม ผ่านสื่อด้วยพลังเยาวชนที่ลุกขึ้นมาทำสื่อสร้างสรรค์ด้วยพลังของเด็กและเยาวชนเองที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ หลายคนในสังคมได้ 

 

 

 

มาเป็นส่วนหนึ่งกับเราสิ...



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]