Young Guide ก(ล)างจอ เปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ชุมชนเกาะลันตา

31 สิงหาคม 60 / อ่าน : 3,102

            กลุ่มละครมาหยา ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม (องค์กรสาธารณะประโยชน์ เลขที่4314) ร่วมกับ โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ โดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านนักสื่อสาร Young Guide ชุมชนเกาะลันตา


             เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 พลเมืองสื่อเด็กเกาะลันตา ได้จัดให้มีเวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน ก(ล)างจอ : ของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน เพื่อนำเสนอสื่อวิถีเกาะลันตาบ้านเรา ในฉบับเด็กทำ เด็กเล่น ได้เรื่อง ถือเป็นกิจกรรมพื้นที่ปฏิบัติการสร้างสรรค์ Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์ สร้างสุขภาวะชุมชนของเกาะลันตา ณ  พิพิธภัณฑ์ลันตา ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา (หลังเก่า) จังหวัดกระบี่ 


            นายฮาริส มาศชาย หัวหน้าศูนย์สื่อสารเด็กไทยฯ ผู้ประสานงาน เครือข่ายสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายความร่วมมือการปฏิรูปการเรียนรู้ ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม โดย 3 คณะกรรมาธิการร่วมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันประกอบด้วยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักการศึกษา ศิลปินศิลปวัฒนธรรม ภาคประชาชน  ได้ร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพคนไทยทั้งมวลให้เป็น “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (Creative Communicator) เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) และผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) การบูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่ ให้เป็นการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล (Inclusive Education) ผ่านสื่อสารมวลชนจากภาคประชาชน ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยภาคใต้ได้มอบให้ทางศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม เป็นผู้ดำเนินการ และได้เลือกพื้นที่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในหมู่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ซึ่งเวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กได้คิดและลงมือทำ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมพูดคุยในการนำเสนอสื่อดีสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากกว่า 300คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนรวมถึงผู้ใหญ่ใจดีและสื่อมวลชนที่เข้าร่วม 

 


            เวทีสื่อสารสาธารณะผลงานสื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน ก(ล)างจอ : ของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน เพื่อนำเสนอสื่อวิถีเกาะลันตา ได้มี ดร.กันยิกา ชอว์ ผู้แทน สสส. ร่วมชมกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ โดยเฉพาะได้จัดให้มีขบวนคาราวานรณรงค์ Gen Z Strong ไม่สูบไม่ดื่ม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในชุมชนเมืองเก่าลันตา ด้วยสีสันการแต่งกายนุ่งผ้าถุง-ปาเต๊ะ นิทรรศการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม นิทรรศการภาพวาดเกาะลันตาในฝัน  นิทรรศการชาวเล  ชม ชิม แชะ โชว์ บรรยากาศย้อนวิถีเมืองเก่า สื่อลันตา ลานตา ฉบับเด็กเล่นเด็กทำ ซึ่งพิธีเปิดมีละครสื่อเป็นโรงเรียน พร้อมเวทีเสวนาหลังชมสื่อ โดยมี นายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกระบี่ , นางปรียา แก้วบำรุง ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์และ เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม , นางเรวดี ไหวพริบ ผอ.โรงเรียนบ้านสังกาอู้ , นางหัสนะ ใบลาภ สื่อมวลชนจังหวัดกระบี่ และ นางสาวปานอุมา แหละยุหีม ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ การกิจกรรมครั้งนี้ ถือว่ามีผู้ใหญ่ใจดีที่เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนกิจกรรม อาทิ สายการบินแอร์เอเชีย กระบี่ , บริษัทหาดทิพย์ กระบี่ , บิ๊กซี กระบี่ , บริษัทส่งเสริมทรานเซอร์วิส , ดีเทค เน็ตอาสา , ไปรษณีย์ไทย สาขาเกาะลันตา และอีกหลากหลายหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ 


            นายธีรภัทร ทะเลลึก หรือ น้องม๊อก แกนนำเยาวชนชุมชนบ้านสังกาอู้ เป็นตัวแทนของพลเมืองเด็ก Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน ได้ร่วมกับเพื่อนๆเป็นประธานในพิธีเปิดผลงานของตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อสร้างพลเมืองเด็กตื่นรู้ เท่าทันสื่อ สร้างเจ้าบ้านที่ดี ของ “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ของเกาะลันตา 


             น้องม๊อก ได้เล่าให้ฟังว่า ตนและเพื่อนมีความรู้สึกยินดี และดีใจ เป็นอย่างมากที่ผู้ใหญ่ได้เล็งเห็นความสำคัญและเห็นพลังของเด็กเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วันนี้พวกเราได้ลุกขึ้นมา ทำสื่อดี และจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้ และคิดว่าพลังของสื่อที่พวกเราได้ผลิตจากการมองปัญหาในบ้านของตนเอง แล้วมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ อาจจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ แต่พวกผมคิดว่าอย่างน้อยผมได้เห็นเกาะลันตาและชุมชนบ้านของผมมากขึ้น วันนี้ถือเป็นการเปิดใจ เปิดพื้นที่ดีดีในบ้านของผม 


            ด้าน นายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมชมผลงานสื่อของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน ทั้ง 4เรื่อง ที่เลือกมานำเสนอ ได้แก่ เรื่องปูก้ามดาบ บ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนเกือบ 2,000 ไร่ นับเป็นผืนป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งปูก้ามดาบจะเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เรื่องรอยแพ ร่องรอยของแพ  จึงเป็นมุมมองที่ ในการสื่อสารความเจริญที่กำลังเข้ามา เรื่องภาษาที่กำลังหายไป ของชุมชนบ้านสังกาอู้ เป็นชุมชนเล็กๆของเกาะลันตา มองเห็นถึงความสำคัญของภาษาชาวอูรักลาโวรจ ที่กำลังจะหายไป และเรื่องทะเลปูน เรื่องผลกระทบปากท้อง เรื่องการทำมาหากิน เป็นสิ่งจำเป็นในขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตกับปัญหาในชุมชน ซึ่งทั้ง 4เรื่องเด็กสามารถนำเสนอได้อย่างดี ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวีถี วัฒนธรรม และความมั่นคงของชีวิตที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านสื่อด้วยพลังของพลเมืองเด็กได้ 

 


             เวทีหนัง ก(ล)างจอ กางแผ่เรื่องบ้านเรา ทั้ง 4เรื่อง ปูก้ามดาบ , รอยแพ , ภาษาที่หายไป , ทะเลปูน นอกจากจะมีสารคดีให้ดูแล้วยังมีสื่อละครที่นำเสนอ “ละครสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ของเด็กนักสื่อสาร Young Guide ในชุมชน ที่ได้กล่าวถึงแนวคิด หลักการ แนวทาง ของการจัดงาน และการแสดง วัฒนธรรมสื่อสร้างสรรค์ เด็กบันดาลใจอีกด้วย 

            นางปรียา แก้วบำรุง ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์และ เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้กล่าวชื่นชมในผลงานของนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชนที่เห็นเด็กลุกขึ้นมาทำสื่อ และจัดกิจกรรมในลักษณะของการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งโครงการครั้งนี้ นอกจากได้มีการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการสร้างพลเมืองตื่นรู้เท่าทันสื่อ และเจ้าบ้านที่ดี ในพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็งตำบลเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ และ ยังจัดให้มีพื้นที่สื่อสารสาธารณะอีกด้วยนับได้ว่าเป็นกระบวนการของการจัดกิจกรรมที่ดีที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องและความยั่งยืนทั้งในตัวเด็กที่ทำกิจกรรมและชุมชนได้รับผลประโยชน์จากสื่อที่เด็กได้หยิบยกประเด็นในการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ 


Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน จึงจะเป็นการสร้าง “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (creative communicator) ที่สื่อสารกับโลกได้อย่างมีพลัง ผ่าน “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) เป็น “พลเมืองผู้ตื่นรู้” (active citizen) พลังสื่อที่สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม ผ่านสื่อด้วยพลังเยาวชนที่ลุกขึ้นมาทำสื่อสร้างสรรค์ด้วยพลังของเด็กและเยาวชนเองที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ หลายคนในสังคมได้

 

 

 




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]