หนองโพKiDดี-วิสาหกิจชุมชน

หมวดหมู่ กลาง , โดย : admin , 2 สิงหาคม 60 / อ่าน : 3,313


หนองโพKiDดี-วิสาหกิจชุมชน : ศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ เด็กสร้างหนัง หนังสร้างชุมชน

 

ชวนมาทำ “นม”  “นม” พาไปทำ “หนัง(สั้น)”  รู้จัก “นม” ก็รู้จัก “หนัง(สั้น)”

“ใครจะเชื่อว่า “นม” ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ มารวมกลุ่มกันเพื่อทำ “หนัง” ให้กับชุมชนได้...”

         แต่ที่นี่... ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เขาทำมันแล้ว จากจุดกำเนิดของโครงการจัดฝึกอบรมศิลปะไม่จำกัดรูปแบบเพื่อการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้น (แอนิเมชั่น) แก่เยาวชน และการจัดเทศกาลหนังสั้นเยาวชน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 และ พ.ศ.2556 รวมถึงโครงการล่าสุดที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปในเดือนเมษายน พ.ศ.2559 อันเป็นโครงการย่อย : การจัดฝึกอบรมศิลปะร่วมสมัยด้านการสร้างสื่อภาพยนตร์สั้นแก่เยาวชนชุมชนหนองโพและเยาวชนทั่วไป หัวข้อ “How Will We Live Together in the Next 10 Years?” เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า เรื่อง My Miracle Man โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีอายุตั้งแต่ 6-15 ปี จากสภาพปัญหาที่ผ่านมา การสร้างจิตสำนึกและการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิด ความหวงแหนในวัฒนธรรม วิถีชีวิตการเป็นอยู่ในชุมชนของเยาวชน โครงการหนองโพKiDดี-วิสาหกิจชุมชน ภายใต้เครือข่ายเมืองสามดี สานสุขภาวะชุมชน โดยบ้านนอกสตูดิโอ ตามแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงเกิดขึ้นในปีนี้

         นายจิระเดช มีมาลัย ผู้รับผิดชอบโครงการหนองโพKiDดี–วิสาหกิจ หรือ NPKD–Enterprise ในปีนี้ บอกว่า วิถีชีวิตหลักในชุมชนเดิมมีรากฐานในการประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรโคนม เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของเกษตรกรโคนมในชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนสะท้อนมุมมองความ­­คิดเห็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์โคนม รวมทั้งแนวคิดในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นมในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ทางโครงการจึงได้ชวนเด็กๆ ในพื้นที่ มาศึกษาเรียนรู้ทุกขั้นตอนของการเกษตรโคนม ฝึกอบรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการทำสื่อชุดความรู้ที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกันระหว่างเยาวชนและชุมชน, การแปรรูปน้ำนมดิบเป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆ นั้นมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ นมยูเอชที โยเกิร์ต นมสดพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว ไอศกรีม จากนั้นจึงนำกระบวนการของจัดฝึกอบรมศิลปะไม่จำกัดรูปแบบฯ ผสมผสานกับการจินตนาการ การเล่าเรื่อง การตั้งคำถาม การค้นหาคำตอบ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ตอบสนองกับสิ่งที่ตนคิดและจินตนาการ เป็นศิลปะรูปแบบต่างๆ แล้วนำผลที่ได้มาทำเป็นหนังสั้นออกเผยแพร่สู่ชุมชนและสังคมต่อไป

 

ทำนม













 

              “ในการทำงานเราได้เชิญวิทยากรจากภายนอกชุมชนเข้ามาให้ความรู้แก่เยาวชน พร้อมวิทยากรในพื้นที่เสริมทักษะความรู้ในการถ่ายทำหนังสั้น โดยมีกิจกรรมการสำรวจลงพื้นที่ของเยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงที่มา และความเป็นไปได้ที่จะนำน้ำนมโคจากฟาร์มของชุมชนไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ได้จริง มีกิจกรรมชวนไปทำ(ผลิตภัณฑ์)นม นมพาไปทำหนัง(สั้น) มีการสอนการทำโยเกิร์ต ด้วยน้ำนมดิบจากฟาร์มขนาดกลาง ของน้าอ๊อด นายสฤษดิ์สม มูลทรัพย์ และฟาร์มขนาดเล็ก ของน้ามนตรี นายมนตรี เจริญรักษา ฟาร์มโคนมในชุมชนหนองโพ เยาวชนได้เห็นตัวอย่างฟาร์มโคนมขนาดที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นถึงการจัดการฟาร์มโคนม อาทิ การเลี้ยงดูโคนมในแต่ละวัน การทำความสะอาด และปัญหาของคุณภาพน้ำนมของฟาร์มทั้งสองแห่ง และระหว่างรอดูนมที่จะกลายเป็นโยเกิร์ต เด็กๆ จะมีส่วนร่วมกับสมาชิกในชุมขนโดยการไปสัมภาษณ์ด้วยเกมส์ 20 คำถามก่อนนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมถัดไป” นายจิระเดช มีมาลัย เล่า

 

ทำสบู่









 

              ซึ่งนางพรพิไล มีมาลัย ผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการหนองโพKiDดี–วิสาหกิจ หรือ NPKD–Enterprise บอกว่า นอกจากได้ศึกษาและเรียนรู้แล้วเด็กๆ ทุกคนยังได้มีโอกาสสวมบทบาทเป็นนักสร้างสื่อ(สร้างสรรค์)ประชาสัมพันธ์โครงการ โดยผ่านการถ่ายทำหนังสั้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากนมภายในชุมชนหนองโพ โดยแบ่งกลุ่มออกถ่ายทำหนังสั้นในชุมชน โดยมีการแบ่งแบบเรียนรู้ไว้ 2 แบบ คือ 1. การวาดคาแรกเตอร์มะลิ (character) การตัดส่วนร่างกายของคาแรกเตอร์ประกอบการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับบท นำคาแรกเตอร์ที่เตรียมไว้ถ่ายทำเป็น Stop motion ตามอิริยาบถที่กำหนด และ 2. ออกกองในพื้นที่ชุมชน โดย การฝึกใช้ Dolly เทคนิคการใช้มุมกล้อง Pan, Tilt, Long shot, Close up การบันทึกเสียง และ การรับผิดชอบระหว่างออกกอง ได้แก่ การกำหนดคิว ลำดับภาพ กำหนดสถานที่ (Location), setting location และการแบ่งหน้าที่ในกองถ่ายให้เหมาะสม

 

ทำหนัง









 

              “ท้ายโครงการมีกิจกรรมเปิดบ้านและสถานีลองจิมใจ้ได๊ (ลองจิมใจ้ได๊ – หมายถึง ลองชิมใช้ได้ เป็นสำเนียงการพูดในภาษาไทยวน กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ตำบลหนองโพ) เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน เกิดการใช้พื้นที่สาธารณะที่เยาวชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเผยแพร่ ทดลองชิม ใช้ อุปโภค บริโภค ในผลงานและผลิตภัณฑ์ที่เยาวชนและชุมชนผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ผลิต เป็นการเปิดพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้ทางเลือกของชุมชนออกสู่สาธารณะ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและการเปลี่ยนแปลง” นางพรพิไล มีมาลัย เล่า

 

   

 

             ไม่นานหลังจากนี้ เราจะได้เห็นผลงานของเด็กๆ กลุ่มนี้กันแล้วว่าจะสื่อสารออกมาอย่างไร? และน่าสนใจแค่ไหน? เพราะเพียงแต่สองมือเล็กๆ บวกกับความตั้งอกตั้งใจในการเรียนรู้ เราเชื่อเลยว่าหนังสั้นที่ได้นั้นจะสามารถสร้างรอยยิ้ม และความเข้าใจเรื่อง “นม” และ “ชุมชน” ได้เป็นอย่างดีแน่ๆ ติดตามจ้า...

 

 @จากจุลสารศิลป์สร้างสุข ฉบับที่ 31 เดือนมิถุนายน 2560

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]