Young Guide นักสื่อสารชุมชนสร้างพลเมืองตื่นรู้ เป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ

หมวดหมู่ ใต้ , โดย : admin , 2 สิงหาคม 60 / อ่าน : 3,355


    Young Guide นักสื่อสารชุมชนสร้างพลเมืองตื่นรู้ เป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ



  ...ปัญหาเด็กและเยาวชนไทยติดอินเทอร์เน็ต และเกม เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และเครือข่ายผู้ปกครอง พยายามแก้ไขกันมาต่อเนื่อง  

        หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับภัยจากสื่อออนไลน์ หรืออาชญากรรมอื่นๆ ใช้ความรุนแรง ถูกนำเสนอตามสื่อต่างๆ ไม่เว้นในแต่ละวัน อาทิ การใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ล่อลวงเด็ก และวัยรุ่นชาย-หญิง ไปล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่มขืนกระทำชำเรา แล้วถ่ายรูปไว้แบล็คเมล์เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

          สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า “สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย ถือว่ามีอิทธิพลมากในชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ทั้งใช้เพื่อศึกษาข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวในสังคม แต่ในโลกของสื่อชนิดนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ซึ่งบางครั้งถูกนำเสนอออกไปโดยไม่ผ่านการคัดกรอง ดังที่เห็นว่าเมื่อมีเหตุอะไรที่จูงใจและทำให้สื่อชนิดนี้แพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบตามมาอย่างที่เห็นในหน้าข่าว

          ในทางกลับกัน!! เด็กและเยาวชนได้หันหลังให้กับชุมชน ไม่เกิดการตระหนักและรับรู้ข้อมูลดีดีที่มีอยู่ในชุมชน การเกิดแนวคิดในการสร้างพลเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เกิดการตระหนักและรู้ เท่าทันสังคม เท่าทันสื่อ และสามารถใช้สื่อในการสื่อสารให้เกิดเป็น ชุมชน 3 ดีวิถีสุขได้ นั่นจะช่วยให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนสามารถทำได้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาชุมชนของตัวเอง

          ชุมชน3ดี วิถีสุข เป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่าน  “สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี” จึงถือเป็นการสร้างสรรค์ มีความเกี่ยวข้องและสอดรับจาก “ต้นน้ำ” สู่ “ปลายน้ำ” การมี “สื่อดี” ก็เหมือน “ต้นน้ำ” ที่ไปทำให้เกิดกระบวนการของการจัดการด้าน “พื้นที่” ในชุมชน ทำให้เกิดพื้นที่ดี พร้อมกับภูมิปัญญาและภูมิคุ้มกันที่ดี

          ในการทำงานของ "กลุ่มละครมาหยา" ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิม โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกระบี่ ร่วมกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จัดเวทีเชิงปฏิบัติการสร้างนักสื่อสารนักสื่อสารสร้างสรรค์ชุมชน Young Guide สร้างพลเมืองตื่นรู้เท่าทันสื่อ และเจ้าบ้านที่ดี ในพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็งตำบลเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ งานนี้ได้เลือกตัวแทนเยาวชนจากพื้นที่บ้านสังกาอู้และทุ่งหยีเพ็ง จำนวน 25 คน พร้อมนักวิชาการ สื่อมวลชน และพี่เลี้ยง จำนวน 15คน จากเครือข่าย KIDDEE IDOL นักศึกษานิเทศก์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงผลิตสื่อสารคดีสร้างสรรค์ในชุมชนร่วมกับน้องๆ ในชุมชน

          Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน เพื่อสร้างพลเมืองเด็กตื่นรู้ เท่าทันสื่อ สร้างเจ้าบ้านที่ดี ของ “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” กับการสร้างแกนนำของพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็ง ของเด็กและเยาวชนในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์สื่อ จากสภาวการณ์ของเด็กในเรื่องการเสพสื่อนั้น เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มปัญหาของเด็กและเยาวชนที่กำลังเป็นโรค “เสพสื่อ เสพกระแส” อย่างชัดเจนและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทุกเวลา ทุกที่ ทุกวินาที และทุกช่วงวัย

 

นายฮาริส มาศชาย หัวหน้ากลุ่มละครมาหยา บอกว่า Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน ได้มีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้จากเวทีประชุมทำความเข้าใจในพื้นที่ เพื่อร่วมกันมองปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ผ่านการผลิตสื่อด้วยเด็กและเยาวชน ซึ่งจากแนวคิด ของกระบวนทัศน์ใหม่สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ตามเครือข่ายความร่วมมือการปฏิรูปการเรียนรู้ ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่ริเริ่มในปี 2558 โดย 3 คณะกรรมาธิการร่วมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันประกอบด้วยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ได้ร่วมกับ สสส. และเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักการศึกษา ศิลปินศิลปวัฒนธรรม ภาคประชาชน ถึงแนวคิด หลักการของพลเมืองตื่นรู้ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม จึงได้เกิด Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน และภาคใต้ได้เลือกพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

          กระบวนการจัดการเรียนรู้การสร้างพลเมืองตื่นรู้ ในครั้งนี้ น้องๆ ได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง จากอาจารย์ยุทธนา กาเด็ม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ไปพร้อมกับการปลุกพลัง Active Citizen สร้างพลเมืองเด็ก มองปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ โดยผู้ใหญ่บ้านสังกาอู้ นายนิรันดร์ หาญทะเล เป็นผู้เล่าเรื่อง การสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย จากดีแทคเน็ตอาสา การเขียนข่าวเชิงสารคดี โดยคุณรุ่งทิพย์ จันทร์คง การสร้างถังข่าว ผ่านการทดลองการรายงานข่าวใช้เครื่องมือใน SMART PHONE พร้อมลงพื้นที่ในการถ่ายทำและการผลิตสื่อผ่านสารคดี และเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตและถ่ายทำ จากกลุ่มละครมาหยา   

 





 

อาจารย์ยุพิน หะสัน อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ทีมวิชาการ พูดถึง Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชนว่า เด็กๆ ได้มีแนวคิดในการเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเองผ่านเรื่องราวสารคดี 4 เรื่องราว ได้แก่ เรื่องภาษาอูรักลาโวยจ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นำเสนอเรื่องราวของภาษาที่กำลังจะเลื่อนลางหายไป โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เรื่องทะเลปูน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงมุมมองของการทำมาหากินที่ยากขึ้น เนื่องจากเรือที่บรรทุกปูนที่เป็นภัยเงียบที่เด็กๆเห็นแล้วต้องการสะท้อนมุมมองผ่านสื่อสารคดีในครั้งนี้ เรื่องปูก้ามดาบ เป็นเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอมุมมองของดัชนีของปูก้ามดาบในพื้นที่บ้านทุ่งหยีเพ็งถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ต้องรักษา และเรื่องรอยแพ ที่กล่าวถึงความเจริญที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่อำเภอเกาะลันตา จุดเปลี่ยนเรื่องของการคมมาคมการเดินทางข้ามฝากระหว่างฝั่ง จุดนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการรับรู้จากมุมมองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านสังกาอู้ และบ้านทุ่งหยีเพ็ง ผ่านสื่อสารคดีที่เด็กๆได้ช่วยกันสะท้อนและนำเสนอมุมมองในครั้งนี้

          และจากเวทีเสวนามีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ พร้อมปลุกพลัง Active Citizen สร้างพลเมืองเด็ก โดยมีนายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ นายตรีธวัช รักษ์เมือง นายอำเภอเกาะลันตา นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ  สสส. นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนลันตาราช นางเรวดี ไหวพริบ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสังกาอู้ คุณรุ่งทิพย์ จันทร์คง ตัวแทนสื่อมวลชนจังหวัดกระบี่ และคุณไรนา บิลหมัด ดีแทคเน็ตอาสา ร่วมเสวนาครั้งนี้

          นายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่  ได้บอกถึงมุมมองของการขับเคลื่อนพลังเด็กและเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองที่ดีว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของพลังสื่อที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทั้งจากตนเองในฐานที่เป็นผู้ใช้สื่อ เราจึงต้องมีความเท่าทันสื่อ และในขณะเดียวกันเราเองก็สามารถเป็นผู้สื่อสาร คำว่า พลเมืองก็จะเกิดเพราะถ้าหากเราใช้สื่อสื่อสารที่ดี เรื่องดีๆก็จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

          นางสาวพัชราภา ประโมงกิจ โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ สมาชิกในทีมที่ผลิตสารคดี เรื่องทะเลปูน บอกว่า รู้สึกแปลกใจกับเรื่องราวที่ตนเองและเพื่อนสมาชิกในทีม ได้นำเสนอถึงสถานการณ์ปัญหาในชุมชนบ้านสังกาอู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวในชุมชน แต่เราไม่เคยหยิบหยกมาพูดถึง ทำให้มองลึกถึงผลกระทบที่ตามมาหลายด้านต่อชุมชน ทั้งอาชีพ เศรษฐกิจ สภาพการเป็นอยู่สิ่งนี้ คือส่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างตอนที่ลงพื้นที่ผลิตสารคดีและได้สอบถามชาวบ้านบ้านสังกาอู้ ที่เป็นภัยเงียบต่อพื้นที่ ตนเองรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะได้รับความรู้พร้อมสาระ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการผลิตสื่อสารคดี ผ่าน SMAT PHONE การใช้สื่ออย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เข้าใจถึง สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่เราสามารถใช้สื่อในการสร้างพลังจากการสื่อสารในครั้งนี้ ได้อย่างมีพลังผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เราใช้อยู่แต่ใช้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

          นางสาว Sokchea Heng นักศึกษาทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จากประเทศกัมพูชา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อโครงการว่า รู้สึกประทับใจที่ได้เป็นพี่เลี้ยงโครงการ เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างของน้องๆ ทุ่งหยีเพ็งและสังกาอู้ โดยเฉพาะได้ลงมือในการเป็นพี่เลี้ยงสอนน้องๆชาวอุรักลาโวยจ พร้อมเรียนรู้สัมผัสกับชุมชนและได้ฝึกฝนการคิดสร้างสรรค์และผลิตสื่อสารคดีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนในเกาะลันตา โดยตนเองมองว่า สื่อ มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคม หากนำมาใช้ให้ถูกทางก็จะเกิดเป็นการพัฒนาสังคมหรือชุมชนได้

 









 

Young Guide นักสื่อสารสร้างสรรค์สร้างสุขภาวะชุมชน จึงจะเป็นการสร้าง “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (creative communicator) ที่สื่อสารกับโลกได้อย่างมีพลัง ผ่าน “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) เป็น “พลเมืองผู้ตื่นรู้” (active citizen) ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ หลายคนในสังคมได้ ทั้งนี้สามารถติดตามผลงานสารคดีและเรื่องราวของนักสื่อสารสร้างสรรค์ Young Guide ได้ที่แฟนเพจ Kiddeeidol ...

 

 @จากจุลสารศิลป์สร้างสุข ฉบับที่ 31 เดือนมิถุนายน 2560



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]