คอลัมน์ สดจากเยาวชน: ปลูกลานปลูกหมาก ฝากไว้..กับแผ่นดิน (สดจากเยาวชน) - ข่าวสด

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 27 กรกฎาคม 60 / อ่าน : 2,834


 ปลูกลานปลูกหมาก ฝากไว้..กับแผ่นดิน

          ปฤษณา กองวงค์

          ลูกลานอ่อนเริ่มร่วงหล่นสู่พื้นดิน เป็นสัญญาณธรรมชาติที่บ่งบอกว่าลานกำลัง ยืนต้นตาย เพราะวงจรของต้นลานจะออก ดอกและผลเพียงครั้งเดียวในรอบ 60-80 ปี
          "หลังโพสต์ภาพลานกำลังยืนต้นตาย บริเวณแจ่งหัวริน จ.เชียงใหม่ ลงไปในสื่อ โซเชี่ยลก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย บ้างไม่รู้จักต้นลาน บ้างว่าเสียดายที่มันกำลังตาย บ้างอาสาเสาะหากล้ามาให้ซึ่งหายากมาก กลายเป็นปรากฏการณ์ของผู้คนที่รักเมือง ชักชวนกันมาปลูกต้นลานแทนต้นแม่ที่กำลังจะตาย"
          คำบอกเล่าของ นายชัชวาล ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนาในงาน "ปลูกลาน ปลูกหมาก ฝากไว้กับแผ่นดิน"
          จัดโดยวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ มูลนิธิสืบสานล้านนา ศูนย์ ใบลานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ "Spark U Chiang Mai" ที่วัดเจ็ดยอด
          โดยมี พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด ผศ.สุชานาฏ สิตานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นายชัช พชรธรรมกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายบรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่เมืองมรดกโลก รวมถึงพลังเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มเครือข่ายบ้านเรียนล้านนาฯ ร่วมงานกว่า 100 ชีวิต
          นายชัชวาล กล่าวว่า ได้รับความอนุเคราะห์ จาก มรภ. ขอกล้าลานจากสวนจิตรลดา โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุน 50 กล้า โดยต้นกล้ามีอายุ 2 ปี ในช่วงตลอดเข้าพรรษาเราจะปลูกลานให้อยู่คู่กับวัด 25 วัด วัดละ 2 ต้น โดยเริ่มที่วัดเจ็ดยอดเป็นแห่งแรก เพราะที่นี่ มีประวัติศาสตร์สำคัญ เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกของโลกในปี พ.ศ.2020 จากนั้นจะทยอยปลูกตลอดช่วงเข้าพรรษาจนสิ้นสุดโครงการในวันออกพรรษา อีกส่วนคือลานป่าได้มาจากเขาแผงม้า โดย ลุงโชค นายโชคดี ปรโลกานนท์ แม่โจ้ รุ่น 45 ปราชญ์ชาวบ้านเขาแผงม้า จะปลูกที่คูเวียงเชียงใหม่ โดยวันนี้ปลูก 15 ต้น ที่แจ่งหัวริน แทนต้นเดิมที่กำลังออกดอกและกำลังยืนต้นตาย

 

  พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด เล่าว่าต้นลานนั้นมาจาก อินเดีย ศรีลังกา สมัยก่อนการเขียนธรรมะใช้ใบลานทั้งนั้น วันนี้ท่านทั้งหลายได้ร่วมใจกันเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก เป็นพันธุ์ไม้ ที่อยู่ในศาสนา ปรากฏในคัมภีร์ธรรมบท ขณะที่ต้นหมากเดี๋ยวนี้เริ่มหายไป หมากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ผูกพันกับวิถีและวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณ นอกจากนำมาบริโภคแล้วยังใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การยกขันตั้งครู การตกแต่งเครื่องครัวทาน
          นายดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการ ศูนย์ใบลาน ศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่าลานมี 3 ชนิด คือ ลานป่า ลานพรุ และลานวัด ใบลานนำมาเขียนธรรมะ คัมภีร์ ต้องเป็นใบที่ไม่แก่และ ไม่หนุ่มเกินไป โดยเลือกตัดใบลานก้านที่ 3-4 นำมาต้มใส่มะขาม ใช้เวลาต้ม 1 วัน 1 คืน แล้วจึงแกะม้วนใบลานนำมาขัดผิวใบลานให้เหลืองนวล ขจัดคราบสกปรก ตากแดดตากน้ำค้างไว้ 3 วัน 3 คืน แล้วม้วนดัด หนีบไว้ อย่างน้อย 1 ปี ใบลานจะได้ไม่บิดงอ สมัยก่อนใช้เหล็กแหลมจารอักษรลงใบลาน เขียนให้เป็นรอยบางๆ แล้วใช้เขม่าไฟผสมน้ำมันยางลูบลงไป เกิดเป็นตัวอักษรขึ้นมา เมื่อจารแล้วนำมาร้อยผูกเชือก ลงรัก ชาด และ ปิดทองให้สวยงาม กลิ่นของยางรักทำให้แมลง มอด ปลวก ไม่กิน แต่สัตว์ที่มักทำลายใบลานคือหนู

 

          "ใบลานมีบทบาทสำคัญในวงการศาสนา สมัยก่อนวัดต่างๆ มีใบลาน อยู่ แต่ปัจจุบันหายไป ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่มาร่วมกันอนุรักษ์ ต้นลานซึ่งมีความสำคัญในการบันทึกเอกสารสำคัญ ประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ต่างๆ ก็อยู่ในใบลาน และเก็บไว้ได้นาน เราพบคัมภีร์ใบลานที่จารแล้วในปี พ.ศ.2014 ก่อนการสังคายนาพระไตรปิฎก นานถึง 6 ปี ใบลานอายุ 500 ปีนี้ยังอยู่ในสภาพดี เก็บรักษาไว้ที่วัดไหล่หิน จ.ลำปาง" นายดิเรกกล่าว
          อร น.ส.อรอนงค์ อริยะ อายุ 19 ปี และ ข้าว น.ส.อุมินทร์ โสดาดี อายุ 18 ปี สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันบอกเล่า โดย อร สาวเชียงใหม่ เล่าว่า วันนี้รุ่นพี่และเพื่อนๆ แบ่งกลุ่มกระจายกันไปพัฒนาชุมชน วัด สถานที่ต่างๆ ในจังหวัด เช่น กวาดลานวัด พัฒนาลำเหมือง คูคลอง ปลูกป่าเพื่อพ่อ ร้อยดวงใจ สายสัมพันธ์สองฝั่งดอย วันนี้ภูมิใจและดีใจที่ได้มาปลูกต้นไม้ เชียงใหม่จะได้ร่มรื่น สวยงาม มองไปทางไหนมีแต่สีเขียว
          ขณะที่ ข้าว สาวนครปฐม บอกว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่ง ที่อยากมาอยู่ อยากให้เชียงใหม่อนุรักษ์ความเป็นล้านนาที่มีเสน่ห์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เยอะๆ เคยได้ยินแต่ชื่อต้นลาน ไม่เคยเห็นต้นลานและใบลานมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
          "อยากให้คนรุ่นต่อไปช่วยกันอนุรักษ์ต้นหมาก-ต้นลานไว้ แล้วปลูกฝากไว้ บนผืนแผ่นดิน ให้คนรุ่นลูกหลานสืบทอดทำนุบำรุงพุทธศาสนาและรักษาวิถีประเพณี สืบต่อไป

 

 

บรรยายใต้ภาพ 
          ลูกลานอ่อนที่ร่วงหล่น
          กล้าอ่อนต้นลานอายุ 2 ปี
          ต้นลานกำลังยืนต้นตาย
          ปลูกลาน ปลูกหมาก ที่แจ่งหัวริน
          นำใบลานมาทำให้เรียบหลังต้ม
          เด็กแม่โจ้ช่วยกันปลูกต้นหมาก
          ข้าว อุมินทร์
          อร อรอนงค์



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]