หนุนพื้นที่สร้างสรรค์3ดีพัฒนาเยาวชนเท่าทันสื่อ
จากปัญหาเด็กและเยาวชนในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เติบโตมาคู่กับอินเทอร์เน็ตและสังคมโซเชียลมีเดีย ที่ไร้การควบคุม นำมาซึ่งปัญหาลอกเลียนพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การใช้ความรุนแรง แสดงออกก้าวร้าว รวมทั้งเผยภาพยั่วเย้า ลามก อนาจาร ผ่านช่องทางออนไลน์
ฉะนั้นแนวทางที่จะหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ได้คือ ต้องเริ่มปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ พร้อมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แสดงออกและมีส่วนรวมที่เชื่อว่าจะปกป้องตัวเองได้แล้ว ยังสามารถป้องกันสังคมให้รอดพ้นจากสื่อที่ไม่ปลอดภัยที่ไหลทะลักเข้ามาทุกวินาที
ดังเช่นโครงการ Spark U : ปลุกใจเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆ ที่ภาคีเครือข่าย 3 ภูมิภาคของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอกระบวนการรู้เท่าทันสื่ออย่างถูกต้องให้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อจุดประกายให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นและสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ สนับสนุนโดย สสส. ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลซึ่งเป็นทั้งผู้รับและผู้ใช้สื่อ ได้ใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงพบว่า เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น จนบางคนมีภาวะติดอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะในทุกมิติ
ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ อารมณ์ สังคม และปัญญา จึงควรกระตุ้นให้เด็ก เยาวชนพัฒนาตนเองในด้านทักษะรู้เท่าทันสื่อ รู้จักใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเปิดพื้นที่และโอกาสให้เด็กเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ จะช่วยพัฒนาเด็ก เยาวชนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ และนักสื่อสารสุขภาวะที่มีความรับผิดชอบและสำนึกต่อส่วนรวม
นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โครงการ Spark U ปลุกใจเมือง ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน โดยใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ เท่าทันสื่อ รวมถึงการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะได้อย่างมีพลัง
โดยมีภาคีเครือข่าย 3 ภูมิภาค ร่วมขับเคลื่อนสร้างพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ มีศูนย์กลางขับเคลื่อนงานในแต่ละภาค โดยภาคเหนือมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ขับเคลื่อน ภาคใต้มีจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางขับเคลื่อนงาน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ศูนย์กลางขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันขยายพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะให้ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคต่อไป
ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ทางโครงการได้เลือกจังหวัดเชียงใหม่นำร่อง เพราะมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีต้นทุนการทำงานสูงมาก Spark U เชียงใหม่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2559 มีโครงการย่อยสำคัญๆ เช่น โครงการปลุกใจเหมืองฝายพญาคำ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาการจัดการน้ำใน 8 ตำบล ส่งผลทำให้เกิดแนวทางการจัดทำแผนแม่บท และกลุ่มนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น, โครงการกาวิละสวนชวนอ่าน เปิดพื้นที่สาธารณะในค่ายกาวิละให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต ด้วยความร่วมมือของมณฑลทหารบกที่ 33, โครงการช่วยข่าด้วย ความพยายามของคนหนุ่มสาวเพื่อร่วมฟื้นฟู เยียวยาคลองแม่ข่า ลำน้ำสายสำคัญที่ทอดยาวหลายจังหวัดภาคเหนือ ด้วยการจัดตั้งกองทุนที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมลงขัน และประกาศเป็นนโยบายของจังหวัด
ต่อด้วยโครงการเตวแอ่วเวียง เป็นโครงการจุดประกายหัวใจชาวชุมชนให้ลุกขึ้นปรับภูมิทัศน์ ปิดถนน เดินชมวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ดำรงอยู่อย่างงดงาม จนก่อเกิดกิจกรรมดีๆ ตามมามากมาย อาทิ หมุดไม้หมายเมือง ปลูกลาน ปลูกหมากฝากไว้กับแผ่นดิน และสุดท้ายคือโครงการสืบสานสร้างสรรค์ โดยโฮงเฮียนสืบสานล้านนาที่ส่งไม้ต่อการสืบสานภูมิปัญญา คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมล้านนาแก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งได้ร่วมจัดงานเปิดตัว Spark U Chiang Mai อย่างเป็นทางการ ด้วยละครฟอร์มยักษ์ "ล้านนาที่ข้ารัก พระเจ้ากาวิละ" พร้อมเสวนาวิชาการและนิทรรศการการดำเนินงานเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา"
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สสย.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคใต้กว่า 20 เครือข่าย เช่น สงขลาฟอรั่ม กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มมานีมานะ กลุ่มศูนย์สื่อสารเด็กไทย กลุ่มละครมาหยาจังหวัดกระบี่ และเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง เป็นต้น ได้ร่วมจัดกระบวนการ Spark U ปลุกใจเมืองใต้ ในแนวคิด Spark ความสุข ความหวังภาคใต้ด้วยพลเมืองคนรุ่นใหม่ เน้นเชื่อมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายหลากหลายประมาณ 6 จังหวัด
โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในภาคใต้ผ่าน 3 ห้องเรียน หัวใจเมืองใต้ ได้แก่ ห้องเรียนฐานทรัพยากรพื้นที่ภาคใต้ ห้องเรียนภูมิปัญญา นวัตกรรม และห้องเรียนอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม เน้นให้เยาวชนเรียนรู้จากการลงพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริง และแลกเปลี่ยนความรู้กันข้ามพื้นที่ จนตกผลึกรวมเป็นองค์ความรู้และสื่อสารโดยเยาวชนพลเมือง เกิดจุด Spark บันดาลใจให้ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในพื้นที่จากหลากหลายเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ผนึกพลังกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อสื่อสารต่อสังคมในงานมหกรรมปลุกใจเมืองใต้ โดยจะมีการจัดงานแสดงผลงานในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ บริเวณกลางเมืองเก่าสงขลา
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ได้จุดประกายการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จุดสำคัญในการขับเคลื่อนคือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลท่าพระ และเทศบาลตำบลสาวะถี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญด้านการใช้กระบวนการทางศิลปวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น เทศบาลตำบลท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีเอกลักษณ์ในเรื่องของพื้นที่สถานีรถไฟเก่าที่กำลังจะถูกรื้อทิ้ง มาปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน, พื้นที่ชุมชนศรีฐาน จ.ขอนแก่น มีพื้นที่วัดเก่าได้ปรับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน, เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น จะเปิดพื้นที่ถนนคนเดินที่มีนวัตกรรมทางด้านความคิดในการเปลี่ยนเมือง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม, พื้นที่ชุมชนสาวะถี มีความเป็นเอกลักษณ์ชุมชนได้สนับสนุนให้เยาวชน วัด ชุมชน เกิดพื้นที่ดี ภูมิดี สื่อดี ร่วมกับเครือข่ายภาคอีสาน 20 จังหวัด
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่เป็นการผสมผสานเรื่องของความฝัน ความหวัง ของเด็กเยาวชน, พื้นที่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่มีการรื้อฟื้นแหล่งเรียนรู้หุ่นกระบอกหุ่นมือ เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ และเวทีจังหวัดอื่นในทุกพื้นที่จะมีการร่วมตัวกันใน จ.ขอนแก่น เพื่อจัดกิจกรรมตลอดเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม
โครงการ Spark U : ปลุกใจเมือง จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ ที่จะส่งผลให้เด็ก เยาวชน รู้เท่าทันสื่ออย่างถูกต้องควบคู่ไปด้วย ผู้สนใจติดตามข่าวสารการขับเคลื่อนงานในแต่ละพื้นที่ของทั้ง 3 ภาคได้ทาง Facebook Spark U-ปลุกใจเมือง.
บรรยายใต้ภาพ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม
นางสุดใจ พรหมเกิด
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์
ดนัย หวังบุญชัย
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]