โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
วันที่ 27 พฤษภาคม 2449 เป็นวันเกิดท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ครบ 111 ปีในปีนี้พอดี เลข 1 สามตัวนี้เป็นมงคล ประการ 1 คือ โดยส่วนตัวมีโอกาสพบท่านโดยตรง ท่านให้ข้อคิดด้วยธรรมสามข้อ ในต่างกาละแต่เทศะเดียวกัน คือที่สวนโมกขพลาราม
วันแรกพบท่าน เราบวชเป็นพระ หลังออกพรรษาสอบได้นักธรรมตรีแล้วจึงไปกราบท่านขอมาอยู่สวนโมกข์เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมสักระยะ
ได้ข้อมูลมาว่า พระจะมาอยู่สวนโมกข์ต้องมีพื้นความรู้ ได้นักธรรมเอกเป็นอย่างน้อย เราเองเพิ่งได้นักธรรมตรี แต่แอบกระหยิ่มว่า แถมได้ปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์แล้วด้วย จึงเรียนถามท่านตรงๆ ว่า
"อยู่สวนโมกข์ต้องใช้ความรู้และปัญญาระดับใดครับ"
ท่านอาจารย์หัวเราะเสียงหึๆ แล้วว่า
"ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้ว"
จบเลย คือเคยได้ฟังมาว่า คนทั่วไปชอบตั้งคำถามที่เป็น "ปัญหาปรุงแต่ง" คือ ปัญหาไม่จำเป็นจริงๆ กับชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ หาไม่ก็ที่มักเป็นปัญหาประเภท "โอ่ภูมิ" ต้องการแสดงตัวตนของตนเป็นสำคัญ และบางทีก็เป็นประเภท "ลองภูมิ" ว่ารู้จริงหรือไม่
"ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้ว" คำตอบของท่านอาจารย์เหมือนเขกกบาลเราทันที ตั้งแต่นั้นก็เลยหุบปากเงียบ
เริ่มใคร่ครวญถึง "ปัญญา" ที่ทำให้มาสวนโมกข์นี่คือสิ่งที่ได้จากท่านอาจารย์โดยตรงเป็นคำรบแรก เป็นธรรมข้อแรก
ข้อสอง ได้เมื่อวันลาจากสวนโมกข์ว่าจะต้องกลับไปสึกหาลาเพศ อยากได้คติธรรมจากท่านไว้เตือนใจ ท่านยิ้มน้อยๆ แล้วว่า
"ทำจิตให้เป็นปกติ" นี่เหมือนท่านตบหลังอีกหนึ่งฉาด เล่นเอาสะดุ้งทันที คือเริ่มได้ตระหนักถึงคำที่ท่านอธิบายถึงความหมายของคำว่า "ทุกข์" แปลโดยศัพท์ว่า "ทนได้ยาก" คือจิตที่มัน "ทนเป็นปกติ" อยู่ไม่ได้นั่นเอง
เมื่อเป็นสุข จิตก็ฟู เมื่อโศกเศร้า จิตก็แฟบ ดังนั้น ไม่ว่าฟูว่าแฟบ จิตมันเหนื่อยทั้งนั้น ดึงมันกลับมาเป็นปกติได้ก็ไม่ทุกข์
ง่ายๆ อย่างนี้เอง ทางลัดของการ "ดับทุกข์" รู้เท่าทันอาการของจิตแล้วคืนสู่ความเป็นปกตินี่คือธรรมข้อสองที่ทำให้ต้องไปรู้ธรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อจะทำ "จิตให้เป็นปกติ" อีกหลายประการ เช่น สติสัปชัญญะ
ธรรมข้อสามที่ได้จากอาจารย์โดยตรง ได้เมื่อสึกออกมาเขียนหนังสือแล้วมีโอกาสไปกราบท่านที่สวนโมกข์ ท่านเตือนเราถึงข้อเขียนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "อนัตตา" ซึ่งเราไปเขียนไว้ในบทความในทางว่า อนัตตา แปลว่า "ไม่มีตน"
ท่านอาจารย์บอกว่า "อนัตตาไม่ได้หมายถึงไม่มีตน แต่อนัตตาหมายถึงไม่ใช่ตน
เรื่องนี้พวกฝรั่งดูจะเข้าใจง่ายเมื่อหมายถึงอนัตตา คือ you with out you
ยูวิธเอาต์ยู คือมันไม่ใช่ "ตน" ตามที่เราไปยึดมั่นสำคัญหมายอยู่นั้น
นี่แหละยากสุดเลยละปัญญา คือสัมมาทิฏฐิ ปกติ คือจิตที่เข้าถึงความดับทุกข์
อนัตตา คือเข้าใจความหมายของสุญตาและความว่าง
นี่คือธรรมสามข้อที่ได้จากท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นส่วนตัวโดยตรง
ประการ 2 คือมรดกธรรมที่ท่านให้ไว้แก่ศาสนิกชนทุกศาสนา มีสามข้อคือ
1. ทำความเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน
2. ทำความเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่น
3. ไม่ตกเป็นเหยื่อของวัตถุ ข้อหนึ่งนั้นต้องเข้าใจหัวใจของศาสนาตนพร้อมเข้าถึงหัวใจของศาสนาตนด้วย คือทั้งเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนา ซึ่งทุกวันนี้เรามักเข้าใจและเข้าถึงแค่เปลือกกระพี้ของศาสนาเท่านั้น
ข้อสองนั้นแค่ทำความเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่นโดยไม่ต้องเข้าถึงก็ได้ ซึ่งโลกวันนี้กำลังยกเปลือกกระพี้ของศาสนามาตีกันอย่างน่าอเนจอนาถนัก
ข้อสามนั้นก็คือหัวใจของธรรมข้อสันโดษนั่นเอง ความหมายลึกๆ ของสันโดษคือ "การแสวงหาความสุขโดยพึ่งวัตถุให้น้อยที่สุด"
นี่คือมงคลของอีกเลข 1 จากสามเลข 111
ประการ 3 สังคมไทยเรายังอาจไม่เห็นความเป็นเอกภาพของสามมหาบุรุษผู้ร่วมสมัย ต่างร่วมครรลองการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยมาด้วยกัน พร้อมกันทั้งสามท่าน สามแนวทาง สามพลัง คือ
1. ศรีบูรพา ผู้คืนอุดมทัศน์ สู่วรรณกรรม 2. พุทธทาส ผู้คืนพุทธธรรม สู่พุทธศาสน์ 3. ปรีดี พนมยงค์ ผู้คืนอำนาจสู่ประชาชน สามพลังนี้ได้ "สานพลัง" ในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับสังคมไทย ในยุคสมัยของท่านอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง
วรรณกรรม คือการสร้างสวรรค์ทางปัญญาแก่สังคม ศาสนา คือหลักคิดอันเป็นคุณธรรมแก่สังคม
การเมือง คือธรรมาภิบาลแก่สังคม
ท่านพุทธทาสเป็นหนึ่งในสามมหาบุรุษของสังคมไทย ที่เราต้องรอนับร้อยปี
จึงอาจจะมีสักคน
พุทธทาส
พุทธทาส นามท่านปานขุนเขาทว่าเบาสบายอย่าง ว่างน้ำหนักและตัวตน ของท่านนั้น ใหญ่นักใหญ่ด้วยหลักให้สละ ละตัวตน
เราต้องรอไม่น้อย เป็นร้อยปีจึงจะมีคนอย่างนี้ เกิดสักหนอาจร้อยปี พันปี มีสักคนอยู่ในโลก แต่หลุดพ้นจากโลกไป
อยู่ในโลกและได้ เข้าใจโลกอยู่เหนือโศก เหนือสุข เหนือยุคสมัยจุดประทีปธรรมกระจ่างที่กลางใจสะอาดใส สว่างภพ สงบงาม
ควรยินดีที่ได้เกิด เป็นมนุษย์ได้พบพุทธศาสน์แพร้วพระแก้วสามได้ฟังธรรมจากสวนโมกขพลารามได้เดินตามรอยพระ อริยมรรค
พุทธทาส นามท่านปานขุนเขาทว่าเบาสบายอย่าง ว่างน้ำหนักและตัวตนของท่าน นั้นใหญ่นักใหญ่ด้วยหลักให้สละ ละ ตัวตน ฯ
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]