“รำผีฟ้า” ความเชื่อของคนไทลาว
บริเวรลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่ตั้งของชาวไทลาว มีพิธีกรรมรักษาผู้ป่วยวิธีหนึ่งเป็นความเชื่อเรื่องผี เชื่อว่าผีเป็นผู้สร้างโลกแม้แต่ใครเจ็บป่วย ชาวไทลาวก็เชื่อว่าผีสามารถรักษาได้ ความเชื่อเรื่องผีนี้สะท้อนออกมาเป็นพิธีกรรมที่เชื่อว่า “การรำผีฟ้า” เพื่อรักษาโรคนั่นเอง
แต่เดิมชาวไทลาวตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม แต่เนื่องจากสมัยนั้นเกิดปัญหาภัยแล้ง จึงได้อพยพมาอยู่ที่อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เมื่อย้ายมาอยู่ได้สักระยะหนึ่งได้เกิดโรคอุจจาระร่วง ผู้คนล้มตาย จึงได้ย้ายถิ่นฐานอีกครั้งไปอยู่ห่างจากเดิม 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ บ้านท่า ตำบลหนองแม็ก อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
“รำผีฟ้า” หรือ “หมอลำผีฟ้า” เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สามารถสืบทอดโดยวิธีการรำรักษาสุขภาพ โดยมีความเชื่อว่าผีเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งและดูแลรักษาโลกมนุษย์ ตามความเชื่อของคนลาว ผีฟ้า หรือ ผีฟ้าพญาแถน เป็นผีดีหรือเทวดาบนฟ้าที่สามารถรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนได้ จะช่วยคุ้มครองผู้คนให้หายจากอาการบาดเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ
หมอรำผีฟ้าจะมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เมื่อประกอบพิธีกรรม ผู้หญิงจะใส่โสล่ง ผู้ชายจะใส่ผ้าถุงแทน และผู้ชายจะเป็นได้แค่ลูกผึ้ง ลูกเทียน โดยจะเรียกหมอรักษาว่า “ครูบา” และจะเรียกผู้ป่วยว่า “ลูกผึ้ง ลูกเทียน”และมีการตั้งเครื่องคายเพื่อใช้ประกอบพิธี เครื่องคายประกอบด้วย ขัน5 ขัน8 ใช้เชิญครูบาเข้ามาทรง แส้ ใช้ตีคนป่วยเพื่อให้โรคที่เป็นอยู่หาย มีดดาบ ใช้ป้องกันผีสาง ตัดไล่ผีสัมภเวสี ดอกจำปาสีขาว ใช้บูชาผี ขันน้ำมนต์ใส่ขมิ้น ใช้นิมนต์ผี แคน ใช้เป่าเป็นทำนองรำเซิ้งให้ผีฟ้าลงมาร่วมพิธี เงินเหรียญบาทจำนวน 4 บาท 1 สลึง
จากคำบอกเล่าของยายสาลี กางสิว แม่ครูบา วัย 72 ปี ได้บอกไว้ว่า หมอลำผีฟ้ามีมาตั้งแต่สมัยปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ผู้นำประกอบพิธีจะเรียกว่า แม่ครูบา จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีหรือทำหน้าที่สื่อสารระหว่างคนกับครูบา เรียกครูบา ชื่อว่า อ้ายจำปา และอ้ายขูลู คนที่มาร่วมประกอบพิธีจะเรียกว่า ลูกผึ้งลูกเทียน คือคนป่วยที่เคยได้รับการรักษาจากครูบาจนหายป่วยแล้ว ลูกผึ้งลูกเทียนจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของแม่ครูบาระหว่างประกอบพิธี
โดยขั้นตอนในการรักษาจะจัดเครื่องบูชาพระ คือขัน 5 และขัน 8 และเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย มีผ้า 9 ผืน ผ้าซิ่น 9 ผืน นอกจากนี้มีหมู เป็ด ไก่ วัว ควาย อย่างละ 9 ตัว เงิน 9 อัน ทอง 9 อัน คือนำแป้งข้างเหนียวใส่ขมั้นมาปั้นเป็นเงินเป็นทอง นก 2 ตัว และหุ่น 1 คู่ หลังจากนั้นก็ส่อง (เสี่ยงทาย) ดูก่อนโดยใช้ไข่มาเสี่ยงดูขวัญ แล้วก็ร่ายรำรักษาคนป่วย เสร็จแล้วสอบถามอาการเหมือนหมอถามคนไข้ เมื่อหายแล้วก็แต่งแก้ส่งวิญญาณผีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรให้ไปสู่สุขคติ สุดท้ายก็จะทำบายศรีสู่ขวัญผูกแขนให้
การสืบทอดครูบานั้นจะสืบทอดจากการที่ครูบาเป็นคนเลือกลูกผึ้ง ลูกเทียน ที่ดูแล้วน่าจะเป็นคนที่มีความสามารถรักษาคนป่วยได้ โดยจะมีแม่ครูบาเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยผู้ที่ได้คัดเลือกนั้นจะต้องทำพิธีเลี้ยงแม่ครูบา เป็นสิ่งที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นการทำพิธีครอบครูบาหรือเซ่นไหว้ ในหนึ่งปีจะทำ 2 ครั้ง โดยทำได้ทุกวันยกเว้นวันพระ แต่ในครั้งแรกจะทำในช่วงเดือนยี่ (เดือนสอง) และครั้งที่ 2 จะทำในเดือน 6 ก่อนที่จะเริ่มทำนา
สุดท้ายคุณยายได้บอกไว้อีกว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ยังคงมีลูกหลานให้ความสนใจให้พิธีกรรมหมอรำผีฟ้า และสนใจที่จะอนุรักษ์เอาไว้สืบต่อไปหากใครอยากรู้อะไรมากกว่านี้ยายก็พร้อมยินดีที่จะบอกและสาธิตให้ดูทุกขั้นตอน
จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนเชื่อในเรื่องของผีที่ให้ความคุ้มครองมาก จึงเกิดเป็นพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมาตามที่เห็นกัน ซึ่งที่จริงแล้วพิธีกรรมต่างๆ ได้แฝงได้ด้วยความที่ต้องรู้จักเคารพนับถือและทำบุญให้กับบรรพบุรุษซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะทำให้เขาคอยช่วยเหลือคุ้มครองเรา
เรื่องโดย : ทศพร ศิริวิทย์
ข้อมูลจาก : หนังสือนาฏลีลาเยียวยาสุขภาวะ โดย สมชัย คำเพราะ
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]