“จวลมะม๊วต” พิธีกรรมโบราณของชาวเขมรถิ่นไทย

หมวดหมู่ เหนือ , โดย : admin , 14 กรกฎาคม 59 / อ่าน : 4,174


“จวลมะม๊วต” พิธีกรรมโบราณของชาวเขมรถิ่นไทย 

         เมื่อมีผคนป่วยไม่ทราบสาเหตุในหมู่บ้านพิธีกรรม “จวลมะม๊วต” จึงเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านเลือกใช้ “จวลมะม๊วต”เป็นพิธีกรรมของชาวเขมรถิ่นไทย โดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สำคัญพิธีกรรมนี้ถือเป็นการเอาศิลปะการแสดงท้องถิ่นมาใช้เพื่อสืบทอดไม่ให้สูญหายอีกด้วย

         ชาวเขมรถิ่นไทยเป็นกลุ่มคนชนชาติเขมรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยในปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ หมู่บ้านบุแกรง ตำบลบุแกลง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เดิมทีเป็นหมู่บ้านของชาวไทกูย แต่เมื่อชาวไทกูยได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ชาวเขมรจึงได้เข้ามาอยู่แทน

         จวลมะม๊วตเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งปู่ย่าทวด จนถึงลูกหลาน ถ้าลูกหลานไม่รับจะเป็นบ้าหรืออาจตายได้ ต้องมีครูกำเนิด เรามากำมาด้วยจวล และต้องยก 1 กำ 4 ทำเพื่อรักษาคนป่วย รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยคนป่วยที่ไปหาหมอแผนปัจจุบันแต่รักษาไม่หาย แต่โรคเบาหวานกับมะเร็งไม่รับรองว่าจะรักษาหาย ทำให้เกิดความสุขในครอบครัว

         ขั้นตอนในการทำพิธีกรรมจะต้องทำพิธีกรรมอยู่ในบ้าน จัดเครื่องสักการะ และแต่งตัวเป็นเทวดาองค์ต่างๆ ผู้ร่ายรำจะเป็นคนอัญเชิญองค์เทพ เทวดาองค์ต่างๆลงมาประทับร่างของผู้นำทางพิธีกรรม ผู้ประกอบพิธีกรรมจะแต่งกายโดยใช้ผ้าโพกหัว เสื้อไหมดำแดง ผ้าถุงผ้าไหม ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า เข็มขัดเงิน สวมชุดผ้าไหม สวมชฎาทอง ตุ้มหูทอง สร้อยคอทอง ผ้าถุง กำไรข้อเท้าทอง เครื่องสักการะประกอบด้วย หมากพลู บุหรี่ เงิน 12 บาท ต้รโพธิ์เงินโพธิ์ทอง กรวย 5 อัน ฉัตร 7 ชั้น 1 คู่ พานดอกไม้บูชาครู ข้าวสาร 1 ขัน ไข่ ธูปเทียน เหล้าขาว น้ำอัดลม ประตั๊วะ ตะกร้อ กล้วย 1 หวี ใบดอกไม้(สลาแก๊ะ) ข้าวตอก จวนบูน อันกลอซีนข้าวต้ม ดาบ 1 คู่ บายศรี 1 คู่ ขันบรรจุข้าวสาร

         สำหรับองค์เทวดาที่จะลงมาประทับประกอบด้วย องค์กายสิทธิ์ การแต่งการ สวมโจงกระเบนสีม่วงเข้ม เสื้อแขนยาวสีขาว เอวผูกผ้าสีแดงเข้ม หัวโพหผ้าขาวม้า องค์แม่อุมา การแต่งการ ชุดเสื้อต่อกระโปรงสีเขียวเข็มขัดสีดำ องค์กุมาร การแต่งกาย สวมโจงกระเบนสีเหลืองเสื้อสีเหลืองแขนสั้น เสื้อกล้ามสีดำ มีผ้าดำติดเลื่อมโพกหัว สวมสร้อยสังวาลย์ประดับเลื่อมเงินซ้ายขวา เข็มขัดประดับเลื่อม และองค์อัมรินทร์ การแต่งกายสวมชุดโจงกระเบนสีส้ม เสื้อคอกลมปักเลื่อมที่คอ มีสร้อยสังวาลย์ทอง 1 เส้น มีผ้าสไบสีน้ำเงินเลื่อมทองผูกเอว มีมงกุฎผ้าปักเลื่อมคาดที่หัว

         นอกจากนี้แล้วยังมีการร้องเพลงในภาษาเขมร(สุรินทร์) เป็นเพลงที่มีเนื่อหาเกี่ยวกับการทำมาหากิน โดยเครื่องดนตรีที่ให้บรรเลงประกอบด้วย แคน ปี่ ฉิ่ง ฉาบ กลอง กรับ และซอ โดยชุดนักดนตรีประกอบด้วยเสื้อสีขาว ผ้าโสร่ง(แดง-ดำ)

         จากคำบอกเล่าของยายยิน ภาสดา ปราชญ์ชาวบ้านด้านจวลมะม๊วต ได้บอกไว้ว่าต้นกำเนิดของจวลมะม๊วตเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ทำตามกันมาตั้งแต่สมัยรุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด ถ้าเรามีแล้วไม่ทำตามก็จะไม่สบาย การทำจวลมะม๊วตจะทำเพื่ออยู่สบาย มีความสุข ทำเพื่อประกำปืนให้มีของขลัง ทำเพื่อรักษา ถ้าดูแล้วมีพิษจะต้องเอาไข่ถอน คนที่มารักษาจะต้องมีความเชื่อและศรัทธาในตัวพิธีกรรมและแม่หมอด้วย

         ในสมัยก่อนจวลมะม๊วตจะทำได้แค่ในเดือน3 เท่านั้น หากใครทำนอกเหนือจากนี้จะถูกตำรวจจับ แต่ในปัจจุบันสามมารถทำได้ตลอดทั้งปี ถ้าฉุกเฉินก็ต้องทำ เมื่อมีใครไม่สบายก็ต้องทำ การที่เราจะเป็นจวลมะม๊วตจะต้องห้ามไปบุญผี(งานศพ) ห้ามกินข้าวงานศพ ห้ามกินของดิบ ห้ามกินเหล้า ถ้าเราทำผิดจะมัวหมอง เครียด บางทีปวดหัวตัวร้อน มองไปทางไหนก็ไม่ถูกตาถูกใจ วิธีแก้การทำผิดคือจะต้องไปทำพิธีบนกับผี บอกว่าทีหลังจะไม่ทำแล้ว

         ในการประกอบพิธีจะเริ่มด้วยการเล่นประกำ เพื่อเป็นการไม่ให้ผีมาทำอันตรายกับลูกหลาน และเป็นการบอกกล่าวให้ผีลงมา ลำดับต่อมาคือเล่นมะม๊วต เป็นการรำฟ้อนเพื่อขับไล่ให้สิ่งไม่ดีหรือเอาของไม่ดีออกจากร่างกายจิตใจของคนป่วย เราจะรำฟ้อนไปจนกว่าคนไข้จะลุกขึ้นมารำด้วย หลังจากนั้นจะกราบพราย(ดาบ) ร่ายรำเล่นดาบเพื่อตัดสิ่งไม่ดีออกไป และสุดท้ายเป็นการอัญเชิญองค์เทพเทวดาออกจากตัวเรา เป็นอันเสร็จพิธี

           จะเห็นได้ว่าชาวเขมรถิ่นไทยจะมีความเชื่อในเรื่องขององค์เทพเทวดา ว่าสามารถช่วยปกปักรักษาคุ้มครองไม่ให้เจ็บป่วยได้ จึงเกิดพิธีกรรมจวลมะม๊วตขึ้นมาเพื่อที่รักษาคนตามความเชื่อของตนเอง อีกทั้งยังนำมาประกอบกับการเล่นดนตรีพื้นบ้านทำให้เป็นที่น่าสนใจยิ่งนัก และทำให้ลูกหลานคนในพื้นที่สนใจที่จะอนุรักษ์เอาไว้   

 

 

 

 

เรื่องโดย : ทศพร ศิริวิทย์

ข้อมูลจาก : หนังสือนาฏลีลาเยียวยาสุขภาวะ โดย สมชัย คำเพราะ

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]