“แม่แฝกใหม่” หนุนเด็กสานต่อแนวคิดการพัฒนา

หมวดหมู่ เหนือ , โดย : admin , 7 กรกฎาคม 59 / อ่าน : 3,223


“แม่แฝกใหม่” หนุนเด็กสานต่อแนวคิดการพัฒนา  

ใช้สื่อพื้นบ้านนำทาง ลดช่องว่างระหว่างวัย ตอกย้ำสำนึกรักบ้านเกิด

 

           ชุมชนแม่แฝกใหม่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่นัก สภาพโดยทั่วไปของสังคมในชุมชนจึงคล้ายชุมชนเมือง คือมีความเจริญในทุกๆ ด้าน มีโรงงาน มีฟาร์มขนาดใหญ่ มีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาพักอาศัยในชุมชน มีแหล่งบันเทิงท่องเที่ยว ร้านคาราโอเกะ อินเตอร์เน็ต ร้านเกมส์ วิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่จึงทำงานนอกบ้าน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็กและเยาวชนจึงมีพฤติกรรมมั่วสุมจนเกิดเป็นปัญหา ทั้งด้านโจรกรรม อาชญากรรม ความเสื่อมในด้านศีลธรรม

 

           พระครูสมุห์วิเชียรคุณธมฺโม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์แม่ครัว เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงใช้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชนของตำบลแม่แฝกใหม่ ผ่านโครงการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมแก่เด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีพื้นฐานในการเสริมสร้างอุดมการณ์ ใฝ่เรียนรู้ รู้คุณค่า มีความภาคภูมิใจ รู้สึกหวงแหน และช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของชุมชนในสังคมยุคปัจจุบันนั่นเอง

 

            อุ้ยสอนหลาน เป็นกระบวนการที่พระครูสมุห์วิเชียรคุณธมฺโมเลือกใช้ เพื่อสานสัมพันธ์คนสามวัยเข้าด้วยกัน ระหว่างผู้สูงอายุในชุมชน ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน โดยมีการถ่ายทอด การสอน สาธิต ฝึกปฏิบัติ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนรู้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ประเพณีพื้นบ้าน การอ่านเขียนอักษรภาษาล้านนา และศิลปวัฒนธรรม การฟ้อนรำ ดนตรีพื้นบ้าน การทำเครื่องพิธีต่างๆ มารยาท และการแต่งกาย

 

           จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด กลุ่มเด็กและเยาวชนพันธุ์แท้แม่แฝกใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่ในกิจกรรมต่างๆให้คนในชุมชนเกิดการยอมรับ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน โดยใช้งานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเป็นจุดเริ่ม เลือกสื่อพื้นบ้านเพื่อสร้างความสุข และตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย นำครูภูมิปัญญาที่หลากสาขาเข้ามาในฐานะของผู้ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย ผู้เฒ่า ผู้แก่ พ่อ แม่ และเยาวชน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมในแต่ละบทบาท

 

            “งานประเพณีสานสามวัยไตรภาคี สืบสานประเพณี ปี๋ใหม่บ้านเฮา ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ในชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และภาคส่วนอื่นๆ เด็กๆ และเยาวชนจะเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า กลุ่มผู้ใหญ่ใจดี เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นภาพความร่วมมือ ร่วมใจของคนในชุมชน โดยในงานดังกล่าว จะกำหนดให้คนสามวัยมีกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบและดำเนินการร่วมกัน เช่นการรดน้ำดำหัวจากลูกหลาน การทำอาหาร การตัดตุง การฟ้อนรำ การจักสานงานฝีมือต่างๆ การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ สืบชะตาแบบล้านนา การประกอบพิธีขึ้นต้าวตังสี่สรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ทราย กิ๋นอ้อผญ๋า เป็นต้น

 

           โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนพันธุ์แท้แม่แฝกใหม่ เป็นเสมือนผู้ส่งสาร ที่สะท้อนความเป็นคนล้านนา ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ แทนผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้รู้ ผ่านการสาธิต และการแสดง สู่เด็กๆ และชุมชน ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกระบวนการสืบสานสื่อพื้นบ้านและขยายเครือข่ายในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรชุมชนอย่างกว้างขวาง

 

           ในวันข้างหน้า เด็กและเยาวชนพันธุ์แท้แม่แฝกใหม่ และผู้ใหญ่ใจดี ต่างวาดฝันที่จะสานต่อแนวคิดการพัฒนา โดยใช้สื่อพื้นบ้านเป็นประเด็นร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินงาน โดยจะเพิ่มกระบวนการสืบค้นองค์ความรู้สื่อพื้นบ้าน เพื่อให้ซาบซึ้งถึงภูมิปัญญา รากเหง้าวิธีคิด และการปฏิบัติอย่างแท้จริง พร้อมสร้างรูปแบบกระบวนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอกย้ำสำนึกรักภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนทุกวัยในชุมชนอย่างจริงจัง และเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย พัฒนาความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับชมรมผู้ใหญ่ใจดี ในแต่ละหมู่บ้าน ให้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยสนับสนุนกิจกรรม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา โดยรับเป็นนโยบาย แผนพัฒนาตำบล และดำเนินการอย่างต่อเนื่องสู่การพัฒนาเด็ก และเยาวชนทุกระดับต่อไป



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]