โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
"สุนทรภู่ครูฉัน เกิดวันจันทร์ปีม้า ยี่สิบหกมิถุนา เมื่อเวลาแปดโมง" ใครแต่งไว้ไม่รู้ จำขึ้นใจทุกปีเมื่อถึง "วันสุนทรภู่" คือ 26 มิถุนายน ปีนี้ตรงกับวันจันทร์พอดี
"อันหม่อมฉันนั้นที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร ฯ" เมื่อคราวครบสองร้อยปีสุนทรภู่ พ.ศ.2529 สถานทูตไทยในรัสเซียจัดฉลองที่กรุงมอสโก เชิญผู้เขียนกับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ไปร่วมงาน ก็เลยอยากเปลี่ยนวรรคท้ายกลอนของท่านสุนทรภู่ที่ว่า "เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" เป็นดังนี้
"เขมรลาวลือตลอดถึงมอสโก" เพื่อเผยแผ่เป็นประจักษ์ถึงเกียรติที่ท่านได้รับเป็นสากลเมื่อท่านได้ล่วงลับแล้วถึงสองร้อยปี แม้จนบัดนี้ก็เถิด กระทรวงวัฒนธรรมไทยเราได้เทิดเกียรติท่านด้วยการมอบรางวัลสุนทรภู่แก่กวีกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ด้วยคิดว่าน่าจะคงมีอยู่นะผู้รู้ท่านว่า "กวีนิพนธ์นั้นเป็นมงกุฎวรรณ กรรม"
กลอนสุนทรภู่นั้นเป็นเพชรน้ำเอกที่ประดับมงกุฏวรรณกรรมไทยอย่างเจิดจ้า แม้จนวันนี้และวันหน้า ถ้าจะอวดอะไรที่เป็นไทยๆ แก่ชาวโลกกัน
แล้ว กาพย์กลอนไทยนี่แหละโอ่ภูมิแก่นานาอารยประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว
โดยเฉพาะกลอนสุนทรภู่ สุนทรภู่ได้พัฒนากลอนไทยอันมีมาแต่เดิมให้มีจังหวะจะโคนและเสียงกลอนให้ไพเราะอย่างมีมาตรฐาน
น่าเสียดายที่ปัจจุบันความใส่ใจในเรื่องนี้ดูจะเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
อีกส่วนก็คือ คนอ่านหนังสือกันน้อยลง อย่าว่าแต่วรรณคดีเลย หนังสือธรรมดาก็ไม่อ่านกันแล้ว
เหมือนคำที่ว่า "คนรู้หนังสือแต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนไม่รู้หนังสือ"
บ้านเราเวลานี้มีคนไม่รู้หนังสือ เพราะไม่อ่านหนังสือมากจนน่าตกใจ
กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์การศึกษา นอกจากอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังต้องอ่านหนังสือกี่เล่มอีกอย่างมีนัยยะสำคัญ ฝากเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาด้วยละกัน
ที่ว่ากลอนสุนทรภู่เป็นเพชรน้ำเอกประดับมงกุฎวรรณกรรมไทยอย่างเจิดจ้านั้น ขอแจกแจงดังนี้ กลอนแปดนั้นทั้งได้สะท้อนและสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของภาษาไทยอย่างครบถ้วนในเรื่องจังหวะและเสียงอักษร
จังหวะคือกลุ่มคำและสัมผัส เช่น
ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย
จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม
ไม่เทียมโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย
แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย
ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน ฯ
กลุ่มคำก็คือ วรรคละแปดคำ และในแต่ละ
วรรคยังจัดกลุ่มคำออกเป็นสามช่วง คือ
ในเพลงปี-ว่าสาม-พี่พราหมณ์เอ๋ย
สัมผัสคือเสียงสระที่ส่งรับกันสอดคล้องดัง
เรียกว่า คล้องจอง เช่น
ยังไม่เคย เชย ชิด พิสมัย
ดังคำที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น นี่เรียกว่า "สัมผัสใน" คือในวรรค นอกวรรค หรือระหว่างวรรค จากกลอนนี้ก็คือคำ "เอ๋ย-เคย" "สมัย-มาลัย" เป็นต้น นี่เรียกสัมผัสนอก สอดรับคล้องจองกันไปตลอด
การสอดรับคล้องจองนี่แหละคือ "กลอน"
เสียงอักษรนี่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยทีเดียว คือมีเสียงตายตัวเพียงห้าเสียงเท่านั้น ดังนี้ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา อันกำหนดด้วยวรรณยุกต์ซึ่งจะแปรไปตามพื้นฐานอักษรสูงกลางต่ำอีกด้วย
ห้าเสียงนี้เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของภาษาไทย ทั้งนี้ ไม่นับสำเนียงพื้นถิ่นที่ผันไปตามภูมิภาค เหนือ ใต้ ออก ตก กลาง นั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษ
มีสูตรจำเสียงคำท้ายวรรคกลอนดังนี้ คำท้ายวรรคแรกใช้ได้ทุกเสียง ดังกลอนข้างต้น คำ เอ๋ย (จัตวา) โพยม (กลาง) คำท้ายวรรคสอง ห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี คำท้ายวรรคสาม-สี่ ต้องใช้เสียงสามัญกับตรีเท่านั้น
ลองเทียบกับกลอนข้างต้นดูเถิดจะเห็นมาตราเสียงตามสูตรนี้ไม่พลาดเลย
นี้เป็นเอกลักษณ์จำเพาะที่มีอยู่ในภาษาไทยอันกำกับไว้ด้วยจังหวะกับเสียงเป็นสำคัญ จังหวะคือสัมผัสด้วยสระและกลุ่มคำ เสียงก็คือเสียงอักษรสามัญ เอก โท ตรี จัตวา ลงตัวและตายตัวนั้น
กลอนแปดของท่านสุนทรภู่ที่ท่านแต่งมาทั้งชีวิต ด้วยชีวิตของท่านนี่แหละ
คือเพชรน้ำเอกประดับมงกุฎวรรณกรรมของภาษาไทยโดยแท้
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]