“การเหยา” ความเชื่อ “รักษาอาการป่วย” ชาวไทโส้

หมวดหมู่ เหนือ , โดย : admin , 5 กรกฎาคม 59 / อ่าน : 5,176


 

 

“การเหยา” ความเชื่อ “รักษาอาการป่วย” ชาวไทโส้

 

          หากจะพูดถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นหลายคนอาจนึกถึงหมอ แต่ถ้าเป็นคนไทโส้แล้ว เมื่อเวลามีคนเจ็บป่วย ชาวบ้านที่นี่จะคิดว่าผีเป็นผู้กระทำ การรักษาด้วย “การเหยา” ตามความเชื่อจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่เคยหายไป.... 

 

          ชาวไทโส้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มมองโกลอยด์ตระกูลออสโตรเอเชียติค ได้ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองมหาชัยกองแก้ว ประเทศสปป.ลาว ปัจจุบันชาวไทโส้ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกุดสะกอย จ.สกลนคร ชาวไทโส้ในอดีตไม่นับถือศาสนา แต่นับถือผีบรรพบุรุษ ผีไร่ ผีนา ผีบ้าน ผีเรือน เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะใช้การเหยารักษาตามความเชื่อของชาวบ้าน

          “การเหยา” เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบ้าน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การเหยาลงสนาม จะทำในช่วงเดือน 3 ถึงเดือน 5 แต่ถ้าชาวบ้านกำหนดไว้แล้วว่าจะทำเดือนไหนก็จะปฏิบัติตามกันในทุกๆ ปี การเหยาลงสนามถือได้ว่าเป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ(ผีมูล) และผีเร่ร่อน(ผีน้ำ) เพื่อแสดงความเคารพต่อผี การเหยาคูณ เป็นการเหยาก่อนลงทำนา และเหยาเมื่อนำข้าวขึ้นยุ้งฉางเพื่อเป็นการขอพรให้มีผลผลิตในด้านการเกษตรมากขึ้น และเพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการทำการเกษตร เหยารักษา เป็นการเหยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของผี ก่อนการรักษาจะมีการเหยาเสี่ยงทายก่อนเพื่อให้รู้ว่าอาการเจ็บป่วยมาจากการกระทำของผีหรือไม่



          สำหรับเครื่องคายหรือสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีเหยา จะเป็นสิ่งที่ผีบอกให้จัดหาว่าจะต้องมีประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง และจะต้องจัดตามรูปแบบที่ผีบอก เครื่องคายจะประกอบด้วย ข้าวสารขาว นำมาเพื่อการเสี่ยงทาย ดอกลีลาวดี ใช้ในการเสี่ยงทายได้เช่นกัน แต่ถ้าขาดดอกลีลาวดีพิธีก็ไม่สามารถเริ่มได้ เหล้า แต่เดิมใช้เหล้าสาโทกลั่นเพราะถือว่าเป็นน้ำที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันนิยมใช้เหล้าขาวเพราะหาง่าย น้ำส้ม ในอดีตใช้น้ำเปล่า แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปจึงต้องมาใช้น้ำส้ม เพราะสีสวย ผ้าแดง ถือว่าเป็นผ้ามงคล บุหรี่ หมาก ในอดีตมีการต้อนรับด้วยยาสูบและหมาก หากไม่มีถือว่าไม่ให้เกียรติกัน หมอน เครื่องนอนใช้รองศีรษะ เงิน คายของแต่ละคนจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ดาบ ใช้ตัดขวัญสิ่งไม่ดี ไข่ดิบ ใช้ในการเสี่ยงทาย

          จากการสอบถาม นางวาสนา บัวศรี (ครูวาสนา) ครูโรงเรียนบ้านกุดสะกอย เกี่ยวกับการเหยาครูบอกว่า การเหยาเป็นพิธีกรรมการรักษาคนป่วย เมื่อไปโรงพยาบาลแล้วไม่ดีขึ้น ก็ทำพิธีรักษาคนป่วยขึ้นในบ้านเรือน โดยมีความเชื่อกันว่าสาเหตุความเจ็บป่วยของคนเกิดจากการกระทำผิดต่อผี แต่บางคนถูกผีเข้าสิงอย่างกะทันหันแล้วบอกว่าให้ไปรักษาคนนั้นคนนี้ คนป่วยก็จะทดลองว่าถ้าดีก็จะไปรักษา ผีหมอที่สิงจะบอกให้ตั้งเครื่องคาย แล้วทำการเสี่ยงทาย ว่าคนป่วยนี่ผิดตรงไหน ละเมิดตรงไหน แล้วผีหมอจะนัดเวลาว่าให้หายป่วยภายใน 7 วัน เมื่อหายป่วยแล้วให้ไปเซ่นไหว้ตามที่บนบานไว้

          คนที่จะเป็นหมอเหยานั้นผีจะเป็นคนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็น ถ้าใครถูกเลือกแล้วจะต้องมีศาลพระภูมิประจำผี แต่งขันดอกไม้มาบูชาผีอยู่นอกบ้านข้างๆ กับตัวเรือน ห้องพระกับห้องผีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เด็ดขาด และมีข้อห้ามกินเนื้อ 10 อย่าง คือ เสือ, ช้าง, ม้า, งู, หมา, ปลาไหล, คน, เต่า, ลิง และโค เมื่อหมอเหยาตาย ผีก็จะออกและจะไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งหมอเหยาแต่ละคนนั้นจะไม่มีการสืบทอดไปยังบุคคลอื่นต่อๆ ไปได้ นอกจากผีตนนั้นจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะต้องการอยู่กับใคร ซึ่งวิธีการมาอยู่ด้วยนั้นจะเป็นเวลาที่ทำพิธีเหยา ผีอยากอยู่กับใครก็เข้าสิงทันที




          สุดท้ายครูวาสนายังกล่าวไว้อีกว่า พิธีกรรมเหยาน่าจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะโส้ยังนับถือผีและมีความเชื่อเช่นนี้อยู่ ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดหรือขั้นตอนปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากเดิมบ้างก็ตาม

 

          จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นความเชื่อมักจะติดตัวมากับชาวบ้านไม่ว่าจะไปอยู่ที่แห่งไหนพวกเขาเหล่านี้จะนำความเชื่อติดไปด้วยเสมอ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเขาปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจึงทำให้พิธีกรรมต่างๆ ยังคงอยู่เพียงแต่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้นเอง 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ทศพร ศิริวิทย์

ข้อมูลจาก : หนังสือนาฏลีลาเยียวยาสุขภาวะ โดย สมชัย คำเพราะ

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]