เมื่อย่างเข้าเดือนสาม หากมีใครสักคนได้ยินเสียงฟ้าร้องเป็นครั้งแรก ผู้เฒ่าจะพูดกับลูกหลานว่า “ฟ้าฮ้องแล้ว พวกเจ้าได้ยินไหม วันฮ่งต้องกำฟ้าเน้อ ถ้าไม่มีผีฟ้าจะลงโทษเจ้ามิให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ใดบ่เชื่อฟัง ฟ้าผ่าถึงตายเน้อ”
ประเพณีกำฟ้า หรือประเพณีเดือน 3 เป็นประเพณีของชาวไทพวนที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 200 ปีแล้ว โดยชาวไทพวนได้ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเวียงจันทร์ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ก่อตั้งมาเมื่อประมาณ 108 ปี แบ่งออกเป็น 2 คุ้ม คือ ชุมชนบ้านผือนอกและชุมชนบ้านผือใน ถึงแม้ว่าชาวไทพวนจะอพยพมาแต่พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะทำประเพณีโบราณของพวกเขามาด้วย
พิธีกรรมกำฟ้า เป็นพิธีกรรมที่ชุมชนจัดขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนเกิดความรักสามัคคี และการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข โดยประเพณีนี้จะเริ่มในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำของทุกๆ ปี พอก่อนเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ พ่อแม่ หรือ ปู่ย่า ตายาย จะบอกให้ลูกๆ หลานๆ ทราบล่วงหน้าให้เตรียมข้าวปลาอาหาร น้ำกินน้ำใช้ภายในเรือนชานให้สมบูรณ์ภายในตัว เนื่องจากว่าเมื่อถึงวันนี้จะต้องหยุดทำงานการทุกอย่างห้ามตำข้าว ห้ามผ่าฝืน ห้ามซักผ้า เป็นเวลา 3-5 วัน ดังนั้นจึงต้องเตรียมข้าวของไว้ให้เรียบร้อย พอรุ่งเช้าผู้ใหญ่ในเรือนจะนำเอาอาหารคาวหวาน ไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์ที่วัด ครั้นตอนค่ำจะมีการละเล่นงานรื่นเริง จะถือว่าวันนี้ถวายแด่เทพเจ้าสรวงสวรรค์หรือมอบแด่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
สำหรับการรำฟ้อนบวงสรวงในพิธีกรรมกำฟ้าของชาวไทพวนประกอบด้วย การจัดแต่งเครื่องสักการะบูชาครู และนางรำจำนวน 10 คน การแสดงรำฟ้อน ชุดรำ ประกอบด้วย ซิ่น สร้อยคอ กำไร แขน สไบ ชุดราตรี ประกอบด้วย สร้อยเงิน รองเท้า กระเป๋าย่าม ทรงผม ผู้หญิงจะเกล้ามวยม้วนผมยาวอยู่ปลายยอดศีรษะ ทัดด้วยพวงมาลัยดอกจำปาสีขาวสวยงาม ท่ารำฟ้อนประกอบกับเสียงแคน คือ รำเซิ้ง
จากการสอบถาม คุณยายโควิน ศรีสว่าง ปราชญ์ชาวบ้าน ได้บอกไว้ว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านได้กำหนดไว้ว่าให้ทำพิธีกำฟ้าในเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ หมายถึงวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม โดยในวันนี้ห้ามทำอะไรทุกอย่างให้ถือเป็นวันหยุด ห้ามนอนตอนเช้าในวันนั้น ห้ามทำทุกอย่างที่ทำให้เกิดเสียงดัง ห้ามแม้กระทั่งสามีภริยากันก็ไม่ให้แตะต้องกัน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดเหตุฟ้าผ่า
การทำนายเสียงฟ้าร้อง ในวันทำพิธีกำฟ้าจะมีคำทำนายอยู่ว่า ถ้าฟ้าร้องทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือประตูลมประตูน้ำเปิด ฟ้าร้องทางตะวันตกเฉียงเหนือ คือ พายุลมแรง ฟ้าร้องทางทิศใต้ คือ ชาวบ้านอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศเหนือ คือ ชาวบ้านอดข้าว ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก คือ ชาวบ้านจะเอาจอบมาทำหอก บ้านเมืองจะเกิดสงคราม ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก คือ ชาวบ้านจะนำหอกมาทำจอบ บ้านเมืองจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
ผู้ที่จะนำในการทำพิธีต่างๆจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ก่อนจะเรียกว่า “พวนบ้าน” แต่ในการฟังเสียงฟ้าร้องนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนหูไม่สู้ดีนักหรือคนหูตึง เรียกได้ว่าเป็นเคล็ดอย่างนึงของชาวบ้านเมื่อมีผู้ได้ยินเสียงแล้วผู้ใหญ่บ้านก็จะประกาศให้ชาวบ้านทราบ ใครทำอะไรอยู่ก็ขอให้งดให้หยุดทันที จนกว่าดวงอาทิตย์จะตกดิน การคือเคล็ดการฟังเสียงจริงๆเป็นการสอนให้ลูกหลานเป็นคนช่างสังเกต ให้รู้เรื่องดินฟ้าอากาศ
หลังจากเสร็จพิธีกำฟ้าแล้วในวันขึ้น 9 ค่ำ ก็จะเป็นพิธีกำดิน เป็นการบูชาพระแม่ธรณี ผู้หยั่งน้ำให้กิน ผู้ค้ำดินให้อยู่ โดยวันนั้นชาวบ้านจะไม่ทำการขุดดิน ถ้ามีข้าวเหนียวร้อน น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง ก็จะนำมาคละเคล้ากันใส่กะลามะพร้าวทำของหวานแล้วนำไปวางไว้กับดินเพื่อบูชาพระแม่ธรณี และจะนำดอกไม้หนึ่งคู่ เทียนหนึ่งคู่ ธูปหนึ่งดอก ไปเสียบนอกชายคาบ้าน ฉีกใบตองหรือใบตองแห้งมาวางก็ได้ ทำเช่นนี้เก้าสำรับ แล้วปีกธูป เทียน เพื่อบวงสรวงต่อฟ้า
จะเห็นได้ว่าประเพณีของชาวไทพวนที่สืบทอดต่อกันมานั้น ไม่ใช่มีไว้เพียงแค่ให้ลูกหลานสืบต่อแต่เป็นสอนให้รู้จักการบูชาสิ่งศักดิ์ที่ปกปักรักษาที่ดินที่ทำมาหากิน และยังให้เป็นการสอนให้รู้จักสังเกตเรียนรู้จากธรรมชาติที่มีอยู่อีกด้วย
เรื่องโดย : ทศพร ศิริวิทย์
ข้อมูลจาก : หนังสือนาฏลีลาเยียวยาสุขภาวะ โดย สมชัย คำเพราะ
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]