คอลัมน์ ขอแสดงความนับถือ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) |
[email protected] เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียน "พุทธานุสติปวารณา" เนื่องในวันวิสาขบูชาปีนี้ เป็นการย้อนไปถึงการขยายความ "วิสาขบูชาใหม่" โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ "...วันวิสาขบูชานี้ เรามักรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนหก โดยเข้าใจว่า ประสูติ คือวันที่พระองค์เกิดจากครรภ์มารดา ตรัสรู้ คือวันที่พระองค์ทรงบรรลุพระอริยสัจธรรม ปรินิพพาน คือวันที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ (แต่)ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า แท้จริง ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน นั้นเป็นสิ่งที่เกิดใน "วาระเดียว" กัน คือ ขณะแห่งการตรัสรู้นั้นเอง ดังนี้ ตรัสรู้เป็นเหตุให้ประสูติซึ่งความเป็นพุทธะ ตรัสรู้เป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน เพราะฉะนั้น วาระนั้นได้บังเกิดปรากฏการณ์สามอย่าง คือ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ในขณะเดียวกัน นั้นคือ ขณะแห่งการตรัสรู้นั่นเอง..." การขยายความเช่นนี้ แน่นอนได้ผ่านการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ มาโดยกว้างขวาง เช่นเดียวกับ "วิเวกา นาคร" แห่งคอลัมน์ "ดังได้สดับมา" ในฉบับนี้ ได้นำเสนอในเรื่องการตีความ "จิตว่าง" ของท่านพุทธทาสภิกขุ เช่นกัน "...พลันที่มีคำถามเรื่อง 'จิตว่าง' ลอยเด่น บรรยากาศแห่งความขัดแย้งตั้งแต่การบรรยาย ณ หอประชุมคุรุสภา ในห้วงต้นทศวรรษที่ 2500 ก็ลอยเด่นมาพร้อมกับใบหน้าของหลายคนที่ร่วมอยู่บนเวทีอภิปราย ยิ่งกว่านั้น การที่บางสำนักหนังสือพิมพ์นำเอาประเด็น 'จิตว่าง' ไปขยายและตอบโต้ กระทั่งเหยียบเข้าไปในพรมแดนทางการเมือง อุปมาเลอะเทอะกระทั่งว่า 'จิตว่าง' คือการทำงานในสังคม 'คอมมิวนิสต์'..." นี่จึงนำมาสู่คำถามและคำตอบอันมาจากท่านพุทธทาสภิกขุ เนื่องในงานล้ออายุปีที่ 72 ของท่าน "...เขาด่าอาตมา สาดโคลนก้อนเบ้อเร่อมาใส่อาตมา เรื่องจิตว่างนั้นมันเป็นจิตว่างอันธพาลของเขาเอง อาตมาไม่เคยสอนอย่างนั้น ไม่เคยแนะนำอย่างนั้น สอนแต่เรื่องจิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า ว่า เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความหมายแห่ง ตัวกู-ของกู เมื่อไม่มีอะไรในความหมายแห่ง 'ตัวกู-ของกู' แล้ว จิตมันก็ไม่รู้จะยึดถืออะไร มันก็ไม่ยึดถือ มันก็ว่าง นี่คือจิตว่าง..." เพียงแค่ "จิตว่าง" ยังถูก ลาก ดึงไปสู่ "คอมมิวนิสต์" ได้ ดังนั้น เราจึงควรหนักแน่น และมี "โยนิโสมนสิการ" อย่างมั่นคง ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ หากอ่านคอลัมน์ "ผี พราหมณ์ พุทธ" ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในฉบับนี้ อันว่าด้วย "พระพุทธะผู้หญิง" โปรดอย่าเพิ่งสรุป นี่คือ การลบหลู่ หรือ ทำลายศาสนา เมื่อปรากฏ รูปพุทธะใส่สูท อย่างนักธุรกิจ เมื่อปรากฏ รูปหญิงสาวที่มีศีรษะคล้ายพระพุทธรูปนั่งสมาธิใส่บิกินี่สีขาว เพราะรูปนั่น อาจกำลังบอกเราว่า "--แม้ภายนอกเราจะเป็นนักธุรกิจหรือใครก็ตาม แต่พุทธภาวะนั้นเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของเรา ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสิ่งภายนอกซึ่งไม่ใช่พุทธะจริงๆ" เพราะรูปนั้น อาจกำลังบอกว่า "เมื่อเธอรู้ซึ้งใน 'ไร้เกิด' อย่างแท้จริง ขณะนั้นเอง ในไร้เกิด ไม่มีความแตกต่างไม่ว่าเธอจะเป็นบุรุษหรือสตรี ทุกๆ คนล้วนคือกายแห่งพุทธะ... แม้ว่าในทางร่างกาย บุรุษและสตรีจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทว่าในแง่จิตแห่งพุทธะนั้น ไม่มีความแตกต่างกันอย่างใดเลย" ขอย้ำว่า นั่นเป็นมุมมอง อีกมุมมองหนึ่งของพุทธบางนิกาย และมิได้มีเป้าหมายลบหลู่ ตรงกันข้าม เป็นความพยายาม เข้าใจพุทธโดย "ย้อนแย้ง" ดังนั้นจงสงบความเดือดดาลลง เพื่อที่จะมี สมาธิ-ปัญญา พิจารณาสิ่งเหล่านี้อย่าง "รู้แจ้ง" รู้แจ้งว่านี่มิใช่การทำลาย หรือลบหลู่ หากแต่เป็นการเปิดกว้าง เพื่อเสริมมุมมอง แม้อาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็อย่าตบะแตก ถึงขั้นบุกไปจับใคร "โยนบก" อย่างที่เคยเกิดขึ้นในจุฬาฯ เมื่ออดีต!! มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 |
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]