ขนิษฐา เทพจร แม้ "สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)" จะหมดวาระตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไปแล้ว แต่การขับเคลื่อนงานปฏิรูปตามแผนและแนวทางที่ "สปช." วางไว้ในด้านการปฏิรูปสื่อมวลชน ยังคงเดินหน้าภายใต้กรอบคิด "ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม" และผลักดันโดย 4 เครือข่าย ได้แก่ "สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)" โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม กลไกเครือข่ายได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "กระบวนทัศน์ใหม่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม:แนวคิด หลักการ และแนวทางการพัฒนา" เวทีที่ 3 ส่วนของเครือ ข่ายสมาคมวิชาชีพสื่อ ภาคกลาง ซึ่งมีตัวแทน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน-ตัวแทนสื่อมวลชน จากสื่อวิทยุ, ข่าวการเมือง, ข่าวกีฬา, สื่อออนไลน์และตัวแทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมระดมสมองเพื่อหาแนวทางที่จะเป็นบันได นำไปสู่มิติการปรับบทบาทสื่อ จากสถานะผู้ส่งสาร นำเสนอข่าวสู่สาธารณะ ไปเป็นสถานะของผู้ที่ส่งข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นสาระ และ
ความรู้ ควบคู่กันด้วย ซึ่งก่อนเวทีระดมสมองจะเริ่มขึ้น จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. ฐานะกลไกร่วมไตรภาคีคณะกรรมการปฏิรูป ได้ขยายภาพต้นร่างแนวคิด "สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม" ไว้ว่า จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กระบวนการสื่อสารมีความหลากหลาย ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ จึงมีสิ่งที่น่าคิดคือ กระบวนการสื่อสารในสื่อ ควรจะปรับเปลี่ยนด้วย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ไปสู่ประชาชน ไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวรายวันเท่านั้น หากมองในหน้าที่สื่อปัจจุบัน ที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ข่าวสาร และความบันเทิง แต่ยังขาดการให้ข้อมูลที่เป็นความรู้ ทำให้ประเด็นนี้น่าห่วงว่าอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ให้การสื่อสารปัจจุบัน
กลายเป็นองค์ความรู้ ให้ประชาชนได้รับความรู้เพิ่มเติมในด้านต่างๆ เพื่อให้การสื่อสารนำไปสู่สันติสุข สันติภาพ และการใช้ชีวิตที่มีความสุข" จากนั้น เข้าสู่การระดมสมองเพื่อหาแนวทางไปสู่เป้าหมาย "สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม" ซึ่งได้ถูกเซตโจทย์-ตั้งคำถามไว้ย่อๆ เพื่อให้ผู้ร่วมโต๊ะแตกไอเดียและต่อยอดความคิด คำถามแรกต่อบทบาทของสื่อมวลชต่อจุดเริ่มต้นของโรงเรียนสังคม "ตัวแทนสื่อมวลชน" สะท้อนภาพชัด คือ ต้องจัดการปัญหาของวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ปัจจุบันยังพบว่ามี "สื่อ" ยังเลือกข้าง และแบ่งฝ่าย เพราะหากจัดการไม่ได้ สื่อจะไม่สามารถเป็นโรงเรียนของสังคมได้แน่นอน เพราะเมื่อสื่อเลือกข้างแล้ว การนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ตามข้างที่เลือกไว้แล้ว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับ ประชาชนหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วต้องปรับทัศนคติของ "คนข่าว" ที่ต้องนำเสนอข่าวรวดเร็ว แบบทันด่วน โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่สื่อ สิ่งพิมพ์ ต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่อย่างสำคัญและคงจุดยืน แม้ว่าปัจจุบัน "หนังสือพิมพ์-นิตยสาร" ไม่ใช่สื่อหลักที่คนในสังคมเลือกเสพ หรือเลือกอ่านเหมือนในอดีต เพราะด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนา ทำให้ "ประชาชน" เลือกเสพข่าวผ่านออนไลน์และเลือกเชื่อข่าวออนไลน์มากกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการนำเสนอข่าวไม่ใช่ตามกระแสความสนใจของสังคมเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่สะท้อน นำไปสู่ข้อเสนอถึงวิธีการ หรือบันไดไต่สู่ฝัน คือ ส่งเสริมการรวมตัว จัดกลุ่ม จัดระเบียบสื่อ เพื่อให้เกิดการควบคุมหรือตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหา ที่เน้นคุณภาพ ไม่ใช่เน้นที่ความเร็วเหมือนปัจจุบัน หรืออาจใช้ประเด็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งประเด็นนี้ต้องผลักดันควบคู่กับแนวทางที่ให้ "เจ้าของสื่อp ผู้บริหารธุรกิจสื่อสารมวลชน" เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการรณรงค์และผลักดัน การดำเนินงานให้เป็นนโยบายของบริษัท เพื่อนำไปสู่การต่อยอดที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากรภายในบริษัทให้เป็นคนข่าวที่มีคุณภาพ ส่วนแนวทางการสร้างโรงเรียนสังคม ด้วย "สื่อ" ต้องคิดถึงการขยายฐานการให้ความรู้ลงสู่ชุมชนให้มากกว่า การระดมกำลังจากส่วนเมืองหลวงเท่านั้น ขณะที่แนวทางของการปฏิบัติจริง ซึ่งถูกจำกัดความไว้ว่า "ให้ความช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาสื่อให้เป็นโรงเรียนสังคม" แนวคิดที่ถูกถ่ายทอด คือ
หน่วยงานรัฐ องค์กร ที่มีกำลัง มีทรัพยากร และงบประมาณ ให้ความร่วมมือสนับสนุนปฏิบัติการของ "สื่อมวลชน" เช่น สสส. หรือบริษัทเอกชนร่วมทำงานภายใต้โครงการซีเอสอาร์ เพื่อขยายฐานการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน หรือยกให้เป็นพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชนแต่ละพื้นที่เพราะลำพังงบประมาณของท้องถิ่นคงไม่เพียงพอที่จะยกระดับความรู้ของประชาชน รวมถึงต้องต่อยอดการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรมชั่วคราว ที่คล้ายไฟ ไหม้ฟาง ทั้งนี้เมื่อส่องความคิด "ให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม" ถือเป็น 1 ในโมเดลการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่กลุ่มไตรภาคีคณะกรรมาธิการปฏิรูป:สื่อ การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ในสปช. ที่มี "เครือข่ายนักวิชาการ-ศิลปิน อาทิ จุมพล รอดคำดี, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุกัญญา สุดบรรทัด" อดีตสมาชิก สปช. เป็นกำลังขับสำคัญหลังจากที่เคยรวมพลังเสนอแผนการปฏิรูปด้านสื่อไปแล้วในสภาปฏิรูปฯ โดย ดร.กันยิกา ชอว์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เผยแผนโมเดลปฏิรูปการเรียนรู้ ว่ามีทั้งสิ้น 5 ด้าน คือ การศึกษาพลเมือง สร้างโรงเรียนของชาติ, นโยบายภาครัฐ สร้างห้องเรียนชุมชน, สื่อ สร้างห้องเรียนสื่อ-สร้างสรรค์, ครอบครัว สร้างห้องเรียนครอบครัว และวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อสร้างห้องเรียนทางวัฒนธรรม-ศาสนา "สำหรับด้านสื่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความเห็นของสื่อมวลชน นักวิชาการ และพลเมืองใน 4 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งดำเนินการแล้ว และเหลือภาคเหนือที่เตรียมจัดเวทีระดมความเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งข้อมูลที่ได้ทั้งหมด ทางคณะทำงานจะนำมาประมวลเข้าด้วยกันกับทั้ง 4 โมเดล ไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนนโยบาย ส่งต่อให้รัฐบาล ซึ่งระยะเวลาที่ทำงานนั้นจะทันการณ์กับการนำไปปฏิบัติภายใต้รัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ ถือว่าตอบยาก แต่เชื่อว่าแผนนโยบายที่จะถูกถ่ายทอด ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนของสังคม นั่นจะเป็นแรงกดดันให้แผนนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง" ดร.กันยิกา ระบุปิดท้าย
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
|