คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: หวังผลอย่าเด็ดดอก - มติชนสุดสัปดาห์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 12 พฤษภาคม 60 / อ่าน : 2,054


คอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์: หวังผลอย่าเด็ดดอก (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


          เคยเปรียบประเทศเป็นต้นไม้ว่ามีสามส่วนสำคัญคือ ลำต้นคือสังคม รากคือเศรษฐกิจ เรือนยอด (กิ่งก้านใบ) คือการเมือง
          เราจะกล่าวถึงสามส่วนสำคัญของประเทศเสมอว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งฟังดูเหมือนแยกเป็นเรื่องๆ เป็นส่วนๆ ไป ที่จริงแล้วทั้งสามส่วนเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนไม้ต้นหนึ่ง ดังยกมาเปรียบนั้น
          จะเรียกลำต้นกิ่งใบราก ก็คือไม้ต้นเดียวกันนั่นเอง จะสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ก็คือประเทศโดยรวมนี่เอง
          มองแยกส่วนเมื่อไร ก็อาจเห็นแต่ผลไม่เห็นเหตุ
          ที่ยกต้นไม้เปรียบประเทศก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงส่วนสำคัญอีกส่วนคือ ศิลปวัฒนธรรม    ซึ่งเป็น "ผลผลิต" ของสังคม ถ้าจะเปรียบกับต้นไม้ ศิลปวัฒนธรรมก็เป็นดัง "ดอกผล" ของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งจะ "ผลิดอกออกผล" ตามขั้นตอนก่อนหลังคือ ออกดอกแล้วจึงออกผล
          ภาษิตจีนมีว่า "หวังผลอย่าเด็ดดอก"
          กลับกัน ก็เหมือนจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่อยากได้ผลจงเด็ดดอกออกเสียก่อนเถิด
          ศิลปวัฒนธรรมก็เช่นกัน ล้วนเป็นผล ผลิตของสังคมนี้เอง
          ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ศิลปะเป็นดอก วัฒนธรรมเป็นผล
          ศิลปะนั้นมีผู้นิยามความว่า คือสิ่งสะท้อนความจัดเจนในการทำงานของคนทุกเรื่อง ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันจรวดนั่นเลย
          ศิลปะที่ดีที่สร้างสรรค์จึงเป็นอลังการของสังคมโดยแท้ เฉกเช่นดอกไม้งามเป็นสง่าแห่งไม้นั้น
          ส่วนวัฒนธรรมที่ว่าเป็นดังผลนี้มุ่งจำเพาะเป้าหมายของวัฒนธรรมอันนำไปสู่อารยะหรือหายนะเท่านั้น มิได้หมายเฉพาะเหตุที่เป็นความหมายอย่างกว้างของงานวัฒนธรรม ซึ่งกินความไปแทบจะทุกเรื่องนั่นเลย เช่น วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมทางการเมือง ฯลฯ
          ดังโวหารว่า "ทุกเรื่องเป็นวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมไม่เป็นทุกเรื่อง"
          เช่น ศาสนาเป็นวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมมิได้เป็นเฉพาะศาสนาเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น
          พิจารณาเฉพาะศิลปวัฒนธรรมเป็นดอกผลของสังคม ดังดอกผลของต้นไม้ ก็เพื่อให้เห็นและให้รู้ว่า อะไร "ควรเด็ด" และอะไร "ไม่ควรเด็ด" ดังภาษิตที่ว่า "หวังผลอย่าเด็ดดอก" นั้น
          เคยมีวาทะคติต่อเรื่องทำนองนี้ในหมู่นักวัฒนธรรมว่า
          ทัศนะต่อชาติตน ต้องมีลักษณะ
          นำอดีตรับใช้ปัจจุบัน หรือเก่ารับใช้ใหม่ ไม่พึงมีลักษณะนำอดีตครอบปัจจุบัน
          ทัศนะต่อต่างชาติ ต้องมีลักษณะ
          นำต่างชาติรับใช้ชาติเรา ไม่พึงมีลักษณะนำต่างชาติครอบชาติเรา
          ทั้งต่อชาติและต่อต่างชาติ ล้วนต้องมีวิจารณญาณในสาระสำคัญคือ
          เลือกที่จริง ทิ้งที่เท็จ
          ฝากความข้างต้นไว้กับใครก็ตามผู้มีบทบาทในงานด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นแนวคิดที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมตามเหมาะสมด้วย
          ยุคหนึ่ง "จิตร ภูมิศักดิ์" รจนากวีเรื่อง "ดาวกลางคืน" ถึงการที่ไทยเป็นทาส   วัฒนธรรมฝรั่งไว้เจ็บแสบดีนัก ดังบางตอนว่า
          คนเศษประวัติศาสตร์
          ชโลมชาติด้วยไฟกาม
          คนดีอย่าคลั่งตาม



          จงรู้สึกสำนึกตน
          ชีวิตในยุคนี้
          ช่างชาชืดและมืดมน
          เจียนชาติจะอับจน
          อย่าซ้ำริบให้ฉิบหาย
          จงช่วยจรรโลงชาติ
          ประเพณีอันเพริศพราย
          ประเพณีที่ควายอาย
          จากเมืองเทศจงเฉดไป ฯ
          นี่จิตรเอา "ควาย" เป็นมาตรวัดวัฒนธรรมต่างชาติเลยนะ
          ยุคนี้เป็นยุค "ฝุ่นฟุ้งทางวัฒนธรรม" ด้วยเป็นสังคมไร้สาย โลกไร้พรมแดน ผู้คนแสวงหา "ความเป็นอื่น" ในลักษณะ
          ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่
          คนไทยแทบทุกวัยวันนี้ ดูจะออกอาการนี้กันไปหมด คืออาการ "ติดหวัดทางวัฒนธรรม" นี่แหละ
          มีคำของผู้รู้วิเคราะห์สังคมอย่างน่าคิดว่า
          สังคมเลวนั้นไม่ใช่เพียงเพราะมีคนชั่วมากขึ้น หรือมีคนดีน้อยลงเท่านั้น หากแต่ที่สังคมมันเลวก็เพราะคนในสังคมมันไม่รู้แล้วว่าอะไรดี อะไรชั่ว
          ดอกไม้งามนั้นนอกจากเป็นอลังการของสังคมแล้วยังเป็นชัยชนะของแผ่นดินด้วย เพราะเป็นผลมาจากเมล็ดพันธุ์ดีที่แผ่นดินได้ฟูมฟักให้งอกงามจากความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินโดยแท้
          จิตร ภูมิศักดิ์ เตือนไว้ด้วยกวีว่า
          จงสร้างวิญญาณคน
          และอย่าปล้นวิญญาณใคร
          จงปลุกวิญญาณไทย
          อย่างองอาจเพื่อชาติเรา!.


มติชนสุดสัปดาห์
 ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]