คอลัมน์ คนในข่าว: ครั้งแรก!! 'รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ 2560'เป็นนักแปลจีน-อังกฤษ : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ - คม ชัด ลึก

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 12 พฤษภาคม 60 / อ่าน : 2,156


 
คอลัมน์ คนในข่าว: ครั้งแรก!! 'รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ 2560'เป็นนักแปลจีน-อังกฤษ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) 


          5 พฤษภาคม ทุกปี เป็น "วันนักเขียน" ที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และมิตรน้ำหมึกยึดถือมายาวนาน นอกจากเป็นวันพบปะชาววรรณกรรมแล้ว ยังเป็นวันที่ "กองทุน ศรีบูรพา" มอบ "รางวัลศรีบูรพา" ให้แก่นักคิดนักเขียนนักประพันธ์อีกด้วย
          โดยปีนี้  คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา นำโดย ประยอม ซองทอง ประธานฯ มีมติมอบ "รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ" แก่ ดร.เดวิด สไมท์ และ ศ.หลวน เหวินหัว 2 นักแปลผลงานศรีบูรพาเป็นภาษาต่างชาติ ผู้สนับสนุนให้โลกได้รู้จักศรีบูรพาก่อนใคร เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน
          "นักแปลทั้งสองจึงนับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะสะพานเชื่อมความเข้าใจของคนสองชาติผ่านภาษา เป็นผู้ทำให้คนในชาติของตนได้รู้จักและเข้าถึงงานของ "ศรีบูรพา" อย่างลึกซึ้ง เป็นการเผยแพร่ สนับสนุนให้ชื่อเสียงของศรีบูรพาได้ปรากฏในอีกซีกโลกหนึ่ง" ส่วนหนึ่งของคำประกาศเกียรติยศ
          ดร.เดวิด สไมท์ เป็นชาวอังกฤษ จบปริญญาเอกและเป็นอาจารย์ประจำด้านไทยศึกษาของ School of Oriental and African Studies แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน สนใจเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยในยุคบุกเบิก มีผลงานศึกษาว่าด้วยกุหลาบ สายประดิษฐ์ และแปลนวนิยายไทยเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของ ศรีบูรพา และเรื่องสั้นเด่นๆ ของ ศรีบูรพา อาทิ ขอแรงหน่อยเถอะ, คนพวกนั้น, เขาตื่น เป็นต้น
          "ผมรู้สึกว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูงมาก อย่างที่ผมไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับ" ดร.เดวิด สไมท์ กล่าวถึงความรู้สึกต่อรางวัลที่ได้รับ ผ่านวารสารฉบับพิเศษ "ศรีบูรพา"
          เขาได้รู้จักศรีบูรพา ผ่านงานของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, เสถียร จันทิมาธร, วิทยากร เชียงกูล ฯลฯ แรกๆ สนใจรายละเอียดชีวิต



ศรีบูรพา นอกจากนี้ยังได้เลือกเรื่องราวของ "ศรีบูรพา" เป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอีกด้วย
          จุดประสงค์หลักคือ อยากให้มีคนไม่รู้ภาษาไทยได้รู้จักนวนิยายสำคัญของศรีบูรพา
          ทั้งนี้ ดร.เดวิด ยังได้ศึกษาค้นคว้าและแปลงานของนักเขียนไทยคนอื่นๆ ไว้อีกหลายเรื่อง เช่น หญิงคนชั่วของ ก.สุรางคนางค์, ความฝันของนักอุดมคติ ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, จนตรอก ของ ชาติ กอบจิตติ เป็นต้น
          ส่วน ศ.หลวน เหวินหัว หรือ "ครูหลวน" นั้น เกิดที่เมืองจี๋หลิน แต่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 10 ปี มากกว่านั้นคือได้แปลผลงานวรรณกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักอ่านภาษาจีนมากขึ้น โดยครูหลวนนั้นเริ่มเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งแต่ 57 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นรุ่นแรกๆ ที่ศึกษาภาษาไทย
          หลังจบการศึกษาได้ทำงานวิจัยวรรณกรรมไทย ที่สำนักวิจัยวรรณกรรมต่างประเทศแห่งสภาบัณฑิตยสถานแห่งประเทศจีน ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 หรือ 35 ปีที่แล้ว ได้เข้าศึกษาภาษาไทยและทำงานวิจัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ปี วิจัยวรรณกรรมไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 1 ปี จากนั้นเป็นอาจารย์ประจำสอนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 8 ปี กระทั่งปี 2548 เกษียณอายุจึงกลับบ้านที่ปักกิ่ง
          ครูหลวนมีคุณูปการในการถ่ายทอดวรรณกรรมไทยอย่างยิ่ง โดยแปล "ข้างหลังภาพ" ของศรีบูรพา และงานวรรณกรรมไทยอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย" ถือเป็นประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยภาคภาษาจีนเล่มแรก ส่วน "ประวัติศาสตร์วรรณกรรมตะวันออก 2 เล่ม ได้รับรางวัลจาก หอสมุดแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ยังมีผลงานของ ชาติ กอบจิตติ อีก 2 เล่ม คือ คำพิพากษา และเรื่องธรรมดา ตลอดจน รวมเรื่องสั้นไทย รวมนิทานของศรีธนญชัย และบทกวีไทยอีกหลายคน
          กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์แรงกล้า มีชีวิตที่ระหกระเหินต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ทำให้ผลงานไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเท่าที่ควร กว่าจะได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญ ของโลกเมื่อปี 2548 ก็ถึงแก่ชีวิตไปแล้วถึง 31 ปี การที่นักแปลทั้งสองให้ความสนใจ ผลงานของ "ศรีบูรพา" ตั้งแต่ยังไม่ได้รับการประกาศเกียรติระดับโลก นั่นหมายความว่า ทั้งสองคนได้เป็นผู้สนับสนุนให้โลกได้รู้จักศรีบูรพาก่อนใคร
          ในวาระครบรอบ 112 ปีศรีบูรพา(กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา จึงเห็นสมควรประกาศเกียรติให้ทั้ง  2 นักแปล เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ ในปี 2560 ในที่สุด
          ที่ผ่านมานั้น ผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ล้วนเป็นนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไทยทั้งสิ้น อาทิ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์), อำพัน ไชยวรศิลป์ (อ.ไชยวรศิลป์), นิลวรรณ ปิ่นทอง, อาจินต์ ปัญจพรรค์, สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์), กรุณา กุศลาสัย, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วิทยากร เชียงกูล, สุรชัย จันทิมาธร, วัฒน์ วรรลยางกูร ฯลฯ ถือว่า ดร.เดวิด และ ศ.หลวน เป็นนักแปลสองคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้
          สำหรับพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในงาน "วันนักเขียน"  5 พฤษภาคมนี้ ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ในงาน กองทุนศรีบูรพา มีวารสาร "ศรีบูรพา" มอบให้แก่ผู้ร่วมงานด้วยขอบคุณภาพจาก กองทุนศรีบูรพา, สำนักพิมพ์ชนนิยม และ นิตยสารทางอีศาน

          บรรยายใต้ภาพ 
          ดร.เดวิด สไมท์
          ศ.หลวน เหวินหัว



คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]