ประมวลภาพ : กิจกรรมพิธีเปิดตัว "Spark U ภาคอีสาน @ ตลาดท่าพระร้อยปี" ความร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลตำบลท่าพระ / แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสขภาพ (สสส.) / องค์ภาคีเครือข่ายฯ และพี่ น้อง ชาวเทศบาลตำบลท่าพระ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560
ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง #อีสาน ใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี(สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ดึง “ท่าพระ” จุดประกายเปิดพื้นที่ต้นแบบ ปลุก ปรับ เปลี่ยนเมือง โดยใช้“สถานีรถไฟเก่า” มาสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน พร้อมเดินหน้าดึงพลังเชิงบวกของเด็กและเยาวชนพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ต่อยอดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างแหล่งเรียนรู้ ชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก่อนประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับเครือข่าย สสส. ปักธงเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระยะยาว
(3 พฤษภาคม 2560) นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการมหกรรมการเรียนรู้ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง(SPARK U) เป็นโครงการภายใต้การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์และสร้างวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีการขับเคลื่อนงานด้วย 3 แผนงานหลัก คือแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ, แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน และแผนงานการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี(สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) และการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้และมีส่วนร่วม เป็นทิศทางเชิงรุก ที่ดึงพลังเชิงบวกของเด็กเยาวชน ครอบครัว และทุกฝ่ายในชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนงานในมิติและประเด็นต่างๆ อย่างได้ผล ด้วยหนังสือ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ปีนี้เกิดขึ้นใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบหลักของการดำเนินงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) และได้เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากมีภาคีเครือข่ายของ 3 แผนงานทำงานอยู่ ทั้งยังมีภาคีเครือข่ายใหม่ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ โดยจะเชิญชวนประชาชนในเมืองมาร่วมคิดร่วมออกแบบ และสร้างการเปลี่ยนพื้นที่หรือเมือง ตั้งแต่พื้นที่เล็กๆ ในชุมชนเพื่อสุขภาวะ หาคุณค่าความหมายและมองไปสู่อนาคตร่วมกัน
นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า ภาคอีสานมีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายพื้นที่ จากความร่วมมือทั้งภาคประชาสังคม, สื่อสารมวลชน, เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เลือกเทศบาลตำบลท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ให้เป็นพื้นที่โมเดลต้นแบบมาทำงานตามโครงการมหกรรมการเรียนรู้ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง(SPARK U) ภาคอีสานครั้งนี้ ซึ่งจากรูปแบบที่เทศบาลตำบลท่าพระกำลังดำเนินการอยู่นั้นมีความชัดเจนในการดึงเด็ก-เยาวชน และชุมชนมามีส่วนร่วมในการปรับและเปลี่ยนเมือง ผ่านของดีที่มีอยู่ ทั้งสถานีรถไฟเก่า ตลาดท่าพระร้อยปี และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ในชุมชน ซึ่งหวังว่าจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสานต่อ ช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ในระยะยาวต่อไป
โดยนายพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ กล่าวว่า จากที่การทางรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีแนวการพัฒนาก่อสร้างรถไฟทางคู่ผ่านพื้นที่สถานีรถไฟท่าพระ ส่งผลกระทบให้ต้องรื้อถอนสถานีรถไฟท่าพระอาคารไม้ดั้งเดิมที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2476 ทั้งสถานีออกเพื่อก่อสร้างเป็นทางรถไฟ หากไม่มีการใช้งานจะถูกรื้อทิ้ง ด้วยความรักและหวงแหน เทศบาลท่าพระเลยใช้โอกาสตรงนี้ดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนว่าจะย้ายสถานีรถไฟเก่าท่าพระมาเป็นศูนย์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นพื้นที่ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมต่อไปยังถนนคนเดินเพื่อสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์แล้วจะนำเอาไก่ย่างท่าพระมาเป็นจุดขาย จากนั้นจะดึงการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนให้รักบ้านเกิดด้วยทำงานต่อยอดกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นที่อยากจะให้ประชาชนในเขตชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง มุ่งพัฒนารายได้ พัฒนามิติการท่องเที่ยว พัฒนาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับชุมชนสืบไป
ด้านนางสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน กล่าวว่า โครงการมหกรรมการเรียนรู้ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง(SPARK U) ภาคอีสานครั้งนี้มีความร่วมมือจาก 2 เครือข่าย คือ 1.เครือข่ายการทำงานของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วมา ปลุก เปลี่ยน ปรับ ในสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น 2.เป็นเครือข่ายใหม่ที่เป็นภาคองค์กรส่วนท้องถิ่นมาทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนชุมชนด้วยการมองเป้าหมายร่วมกัน เป็นการปลุกใจของคนทั้งเมืองให้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งเดียวกันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าต่อไป
“การทำงานร่วมกันทั้ง 2 เครือข่ายในครั้งนี้รวมพื้นที่ทั้งหมดเป็น 6 โครงการ 6 พื้นที่ อาทิ 1.ศาลาประชาคม เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น, 2. โครงการ “สืบค้นเมืองเก่า บ้านเราศรีฐาน” ชุมชนศรีฐาน จ.ขอนแก่น, 3.โครงการปลุก – เปลี่ยน – เมืองตลาดท่าพระร้อยปีและศูนย์เรียนรู้ตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลท่าพระ จ.ขอนแก่น, 4.โครงการปลุกคุณธรรมในใจไทนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม, 5.โครงการ 4 ป.ภูมิใจไทอีสาน (ปลุก ปรับ เปลี่ยน ปลื้ม) ต.สาวะถี จ.ขอนแก่น และ 6.โครงการรู้ ทำ นำ สุข กลุ่มหน่อไม้หวาน อ.เชียงคาน จ.เลย แม้แต่ละพื้นที่จะมีแผนในการทำงานที่แตกต่างกันแต่ทุกโครงการวางเป้าหมายเอาไว้เหมือนกัน และถือเอาฤกษ์งามยามดีในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “จะร่วมกันปลุกใจคนทั้งเมืองให้หันมาสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อสังคมของตนเอง ด้วยหัวใจหลักว่าจะปลุก ปรับ เปลี่ยนเมืองให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และร่วมกันเป็นเครือข่ายในระยะยาวต่อไป” ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน กล่าว
ติดตามการทำงานของโครงการมหกรรมการเรียนรู้ สื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง(SPARK U) ภาคอีสาน อย่างต่อเนื่องที่ www.artculture4health.com แล www.facebook.com/DekBandanJai
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]