มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 |
ระหว่าง 19-24 มีนาคมที่ผ่านมา มีงานสำคัญสองงาน มีโอกาสไปร่วมทั้งสองงาน งานแรก คือการลงพื้นที่ปรึกษาหารือเรื่องบูรณาการงานศิลปวัฒนธรรมที่ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 19-21 ต่อมาเป็นงานศิลปินแห่งชาติสัญจรที่สงขลา 21-24 ต่อกันเลย เรื่องบูรณาการงานศิลปวัฒนธรรมที่ทุ่งสง เป็นงานต่อเนื่องจากโครงการ "เปิดพื้นที่" งานศิลปวัฒนธรรม ดำเนินต่อเนื่องจากสมัชชาปฏิรูปที่มี คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน แล้วสืบเนื่องถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ล้มไปนั้น แต่งาน "เปิดพื้นที่" ศิลปวัฒนธรรมไม่ล้ม ยืนหยัดอยู่กระทั่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะประกาศใช้อยู่นี้ รอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อไรจะโยงยาวสาวเรื่องให้ได้รู้กันเสียทีว่า งานปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมกว่าจะได้รับการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ทุ่งสง เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความพร้อมในการ "เปิดพื้นที่" คุณทรงชัย วงค์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีทุ่งสง เป็นหนึ่งในโครงการ "นำร่อง" เปิดพื้นที่ด้วยบูรณาการสานพลังสามภาคส่วนอย่างได้ดุลยภาพคือ ภาคราชการ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) และภาคประชาสังคม ทุ่งสงพร้อมทั้งสามภาค ราชการก็คือ ทั้งเทศบาลและสภาวัฒนธรรม เอกชน คือ ตระกูลของยิบอินซอย กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประชาสังคม คือ ชุมชนรถไฟหลายร้อยหลังคาเรือน ทุ่งสงไม่ใช่เมืองศิลปวัฒนธรรมโดยตรงแต่มีศักยภาพพร้อมจะเป็นศูนย์กลางพัฒนางานด้านนี้ ด้วยการแปร "คุณค่า" ของงานศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้เป็น "มูลค่า" ได้จริง สมหลัก "ประชารัฐ" ที่คำนึงถึงการ "สานพลัง" ของสามภาคส่วนดังกล่าว โดยเหตุที่ทุ่งสงเป็น "ชุมทาง" ทั้งคมนาคมและศูนย์กลางธุรกิจจากสองฝั่งทะเลทั้งตะวันตกและตะวันออก ทางรถไฟสายใต้จึงมาสุดที่ทุ่งสงเป็นสถานีปลายทางแห่งแรก บริษัทยิบอินซอยมาปักหลักด้วยธุรกิจค้าแร่จากสองฝั่งทะเลที่ทุ่งสงเป็นศูนย์รวม ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดสาขาต่างจังหวัดที่ทุ่งสงเป็นสาขาแรก ทุ่งสงจึงเป็น "ชุมทาง" สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจในลักษณะ "ประชารัฐ" นำร่องมาแต่เดิม การเปิดพื้นที่งานด้านศิลปวัฒนธรรมแบบบูรณาการในลักษณะ "ชุมทาง" ที่ทุ่งสงจึงเป็นงานนำร่องที่ท้าทายยิ่ง อีกงานคือ "ศิลปินแห่งชาติสัญจร" นี่ก็เป็นงานสำคัญควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยเป็นการใช้ศักยภาพของบุคลากรโดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติให้เป็นประโยชน์ นอกไปจากพลังสร้างสรรค์ส่วนตัวของศิลปินเอง งานครั้งนี้มีศิลปินแห่งชาติเข้าร่วมถึงยี่สิบคนครบทั้งสามสาขา คือ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง พิเศษคือ ท่านอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ไปร่วมเป็นประธานเปิดงานด้วย ในตำแหน่ง "ฐาปนันดรศิลปิน" หมายถึง ศิลปินผู้แต่งตั้ง คือเป็นผู้ริเริ่มให้มีศิลปินแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการครั้งกระโน้น กระนั้นแม้จนกระนี้ ตัวท่านชวน หลีกภัย เองก็เป็นศิลปินผู้สามารถคนหนึ่งด้วย ทั้งจิตรกรรม คีตกรรม และวรรณกรรม ภาพลายเส้นจากปลายปากานั้นน่าทึ่งนัก เคยจัดแสดงเป็นงานนิทรรศการมาแล้ว แม้วันเปิดงานครั้งนี้ ก็ได้เห็นกับตาด้วยมีโอกาสนั่งใกล้ท่านสเก๊ตซ์ร่างรูปพร้อมบันทึกรายละเอียดระหว่างนั่งเป็นประธานในพิธีนั้นตลอดเวลา คือทั้งฟังและดูแล้วแปรเป็นการบันทึกย่อด้วยลายมือจดบันทึกกับเขียนรูปประกอบ ...ทำได้ไงเนี่ย สำคัญของงานนี้นอกจากศิลปินแห่งชาติทั้งสามสาขาได้ถ่ายทอดความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนทั้งระดับประถม มัธยม ถึงอุดมศึกษาที่สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งแต่เดิมคือ มศว.สงขลา แล้วทั้งคณะยังมีโอกาสได้ลงพื้นที่ย่านเมืองเก่าของสงขลาด้วย เสน่ห์เมืองสงขลานั้นอยู่ที่ย่านเมืองเก่านี้เอง คนที่นั่นอาจคุ้นชินจนไม่รู้สึกถึงเสน่ห์อันทรงค่านั้น เข้าทำนอง "นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ" คนนอกพื้นถิ่นพื้นที่ซึ่งเป็นเสมือน "นกต่างฟ้า-ปลาต่างน้ำ" ต่างหากที่ได้เห็นและตื่นตะลึงกับเสน่ห์ย่านบ้านเก่าอันเป็นดั่ง "ภูมิบ้าน-ภูมิเมือง" ของสงขลาราชธานี ผู้เสกสร้างสงขลาให้เป็นภูมิเมืองขึ้นมาที่เราได้พบในวันนี้มีสองท่านสำคัญคือ คุณธีรพจน์ จรูญศรี ผู้เปิดนิทรรศศิลป์สถาน กับ คุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ผู้เปิดอาคารเก่าเป็นสถานพักแรมใหม่อันอลังการด้วยของเก่าล้ำเลอค่า ย่านเมืองเก่าสงขลาจึงเป็นพื้นที่วัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์และสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นตัวอย่าง "นำร่อง" ให้กับทุกเมืองได้จริง ยิ่งถ้าได้ "สานพลัง" ทั้งสามภาคส่วนอย่างมีดุลยภาคและคุณภาพด้วยแล้ว ตรงนี้แหละคือ ภูมิเมืองสงขลา ทุ่งสง ทุ่งสวรรค์ ทุ่งสง ทุ่งสวรรค์วิเศษศักดิ์ ชุมทางหลักแหล่งค้าพาณิชย์สมัย ฝั่งเลนอก ออกตกปกปักไผท อุดมดินสินใต้ เป็นใจเมือง น้ำทุงสง โสรจสรงองค์พระธาตุ นครศรีธรรมราชพระบาทเบื้อง ภูมิแผ่นดิน ภูมิธรรมอร่ามเรือง ทิพย์ประเทืองทุ่งสง มงคลนิรันดร์ |
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 |
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]