มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 |
|
เยธัมมา เหตุ ปภะวา สิ่งใดเกิดแต่เหตุ เตสัง เหตุม ตถาคะโต ตถาคตตรัสเหตุนั้น เตสัญจะ โย นิโรโธ จะพร้อมความดับซึ่งเหตุนั้นด้วย เอวัง วาที มหาสะมะโณฯ มหาสมณะ กล่าวเท่านี้ฯ |
นี้เป็นคาถาพระอัสสชิ เล่าว่า เมื่อมีผู้หนึ่งถามท่านพระ อัสสชิว่า ศาสดาของท่านกล่าวหลักธรรมใดที่เป็นหัวใจ ของคำสอนในศาสนาของท่าน |
พระอัสสชิจึงกล่าววาทะนี้ ที่เรียกขานกันต่อมาว่าเป็น "คาถาพระอัสสชิ" |
คาถาพระอัสสชิจารึกอยู่ใต้ฐานองค์พระเจดีย์นครปฐม คือพระปฐมเจดีย์ ศรีสง่าแห่งจังหวัดนครปฐม |
จารึกนี้เป็นอักษรปัลวะแห่งอินเดียใต้ กล่าวกันว่าเป็นต้นเค้าของอักษรไทย ลาว เขมร พม่า นี่เอง |
นัยยะสำคัญของคาถาพระอัสสชิคือปริศนาธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยแท้ |
ถือเป็นบรรทัดฐานตัดสินหลักธรรมในพุทธศาสนาและในทุกศาสนาได้ทั้งหมดทั้งสิ้นได้จริง ไม่ยกเว้น "ลัทธิธรรมกาย" ที่ท้าทายสัจธรรมอยู่เวลานี้ |
น่าสนใจคือ องค์พระปฐมเจดีย์ ที่มีตำนานว่าพระโทณะและพระอุตระ เถระผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ โดยเฉพาะที่ประเทศไทย ที่นครปฐม |
ตามประวัติว่าองค์พระปฐมเจดีย์สร้างราว พ.ศ.350 ซึ่งก็คือหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานราวสามร้อยกว่าปีนั่นเอง น่าสังเกตคือ ร่วมสมัยกับองค์พระเจดีย์ชเวดากองที่พม่าหรือเมียนมาด้วย |
ตรงนี้ฝากท่านนักประวัติศาสตร์โบราณคดีช่วยคิดต่อละกันประเด็นที่อยากกล่าวถึงคือ ความสำคัญของความเป็นองค์พระปฐมเจดีย์ในแง่ของแก่นธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ตรงนี้มีตำนาน ตำนานแห่งองค์พระปฐมเจดีย์ก็คือเรื่อง "พญากง พญาพาน" ที่ผูกพันระหว่างสองเมืองคือ นครปฐมกับเมืองกาญจน์ |
ดังรู้กันคือพญากงแห่งเมืองนครปฐมได้บุตรซึ่งถูกทำให้ต้องลอยแพจนยายหอมเก็บได้เด็กน้อยที่มีแผลพานโขกศีรษะจึงชื่อพญาพาน ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองกาญจน์ยกทัพมาตีนครปฐมโดยไม่รู้ว่าเจ้าเมืองนครปฐมคือพญากงเป็นพ่อ ชนะศึกฆ่าบิดาแล้วได้มเหสีคือแม่ตน จนได้รู้ถึงบาปกรรมนี้จึงฆ่ายายหอมด้วยเหตุไม่บอกความจริง |
พญาพานได้สำนึกผิดจึงสร้างพระปฐมเจดีย์ล้างบาปที่ฆ่าบิดา แล้วสร้างพระประโทณเจดีย์ล้างบาปที่ฆ่ายายหอม เรารู้ตามๆ กันมาดังนี้ |
น่าสนใจคือเรื่องพญากงพญาพานไปพ้องกับเทพนิยายกรีก ซึ่งเป็นที่มาของปมจิตวิทยาที่เรียกว่า "ปมอิดิปุส" หรือ "อิดิปัส"...ไม่รู้นะ |
ว่าอิดิปุสฆ่าพ่อเหมือนพญาพานฆ่าพ่อพญากงนั่นเลย ต่างแต่อิดิปุสสำนึกผิดแล้วควักลูกตาสองข้างออก ทำให้ตาบอด แต่พญาพานสร้างพระเจดีย์ ตรงนี้เป็นปริศนาธรรมทั้งอิดิปุสและพญาพานสำนึกผิดที่ฆ่าพ่อ เสมือนมีดวงตาแต่หาได้เห็นความจริงไม่ |
อิดิปุสจึงล้างบาปด้วยการควักดวงตาของตนออกเพื่อประจานความบอดปัญญาของตนเอง |
พญาพานสร้างพระเจดีย์ล้างบาปตามคติศรัทธาในพุทธศาสนา ปริศนาธรรมคือ พระเจดีย์นี้คือ"องค์พระปฐมเจดีย์" คำว่า "ปฐม" หมายถึง "เบื้องต้น" หลักธรรมที่เป็น "หัวใจ" ของพุทธศาสนานั้นคือ "อริยสัจสี่" มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เป็นผล สมุทัย เป็นเหตุ นิโรธ เป็นผล มรรค เป็นเหต อริยสัจเป็นหลักการของตรรกะที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้น ในส่วนของมรรค ที่เรารู้คือ มรรคมีองค์แปดนั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงซึ่งความดับทุกข์ |
หลักปฏิบัติโดยทั่วไปของการปฏิบัติธรรมมีขั้นตอนคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่หลักมรรคแปดลำดับจากปัญญา-ศีล-สมาธิ คือ เริ่มต้นด้วยปัญญา แทนที่จะลำดับปัญญาอยู่ท้ายสุด |
นี่คือปริศนาธรรม องค์ปฐมมรรค หรือมรรคแปด เริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ แปลว่า "ความเห็นชอบ" ตรงข้ามสัมมาทิฏฐิ คือมิจฉาทิฏฐิ หมายความว่า โดยหลักปฏิบัตินั้นต้องมี "สัมมาทิฏฐิ" เป็นองค์นำ ดุจเป็น "องค์ปฐมมรรค" นั่นเอง |
ผิดจากนี้ย่อมเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" คือ ทั้งศีล สมาธิ ถ้าไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" แล้วก็จะเป็นมิจฉาศีล มิจฉาสมาธิ ไปโดยทันที |
ดังกรณีธรรมกาย ที่เน้น "สมาธิ" ในลักษณะที่เป็น "มิจฉาสมาธิ" จนพาคนลงเหวไปทั้งขบวนอยู่เวลานี้ สัมมาทิฏฐิอันเป็นองค์ "ปฐมมรรค" จึงนอกจากยืนยันโดยนัยยะแห่งปริศนาธรรมจากตำนานเรื่อง "พญากงพญาพาน" ซึ่งพ้องเรื่องอิดิปุสจนกลายเป็นปมทางจิตวิทยาแล้ว สัมมาทิฏฐิก็ยังคงเป็น "องค์ปฐมมรรค" อันสำคัญสุด ในแง่ของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนาที่แท้ด้วย |
น่าสลดใจคือสังคมไทยปล่อยให้ "มิจฉาทิฏฐิ" มีบทบาทนำ "สัมมาทิฏฐิ" ในแทบจะทุกเรื่อง เรามักแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งที่เรามีองค์พระปฐมเจดีย์โดดเด่นเป็นสง่า เป็นมิ่งขวัญ มีคาถาพระอัสสชิเป็นรากฐาน แต่เราหาได้สนใจไม่ |
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 |
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]