มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560 |
ครู่หนึ่งถึงชะวากชากลูกหว้าล้วนพฤกษายางยูงสูงไสวแต่ล้วนทากแต่ละรากลำพูไพรไต่ใบไม้ยูงยางมากลางแปลงกระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบถีบกระทืบมิใคร่หลุดสุดแสยงปลดที่ตีนติดขาระอาแรงทั้งขาแข้งเลือดโซมชโลมไป ฯ |
นิราศเมืองแกลงของท่านกวีเอกสุนทรภู่แต่งเมื่อไปหาบิดาซึ่งเป็นพระอยู่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง เมืองระยอง ราว พ.ศ.2350 สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนิราศเรื่องแรกของท่าน |
บรรยายภาพตัวทากได้ "สุดแสยง" ดีนัก คณะเรามีโอกาสได้ไป "ป่าวังจันทร์" อำเภอวังจันทร์ เมืองระยอง เมื่อศุกร์ 17 เสาร์ 18 กุมภาพันธ์นี้ ในโครงการสถาบันปลูกป่าของ ปตท. นำโดย คุณประเสริฐ สลิลอำไพ และพี่ใหญ่ของคณะเราคือ คุณสัญลักษณ์ เทียมถนอม มี คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง เป็นแม่งาน |
น่าสนใจที่ ปตท. สนใจพิทักษ์ผืนป่าโดยถือเป็นภารกิจสำคัญควบคู่ไปกับธุรกิจเรื่องพลังงาน |
"การปลูกป่าคืนพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ถือเป็นภารกิจหลักสำคัญของ ปตท. เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่า ในฐานะที่เราดำเนินธุรกิจโดยนำทรัพยากรพลังงานในรูปฟอสซิลมาใช้ ซึ่งนำเข้าและผ่านกระบวนการผลิต จัดจำหน่ายให้กับประชาชนในรูปของพลังงาน ที่สุดท้ายปลายทางจะแปรสภาพกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำมาซึ่งภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง ล้วนเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งสิ้น |
ปตท. ได้ตระหนักรู้ในความรับผิดชอบ เพื่อบรรเทาผล กระทบร่วมกัน จึงนำมาสู่บทสรุป 'โครงการปลูกป่า' ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้ดีที่สุด" |
นี่เป็นบทสัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธาน จนท.บริหาร และ กก.ผจก.ใหญ่ของ ปตท. |
น่าสนใจด้วยเวลานี้เรามีปัญหาความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่อยู่พอดี |
ถ่านหินเป็นหนึ่งในฟอสซิลที่อาจก่อให้เกิดสภาพ "ก๊าซเรือนกระจก" ได้อย่างไรหรือไม่ |
แล้ววันนี้เรากำลังพยายามจะ "ฟอกถ่าน" กันอยู่หรือไม่ หรืออย่างไร |
อย่างไรก็ตาม เราสนับสนุนโครงการปลูกป่าของ ปตท. เต็มที่ อจากการมีโอกาสเยี่ยมชม "โครงการป่าวังจันทร์" ที่ระยอง ในพื้นที่กว่าสามร้อยไร |
โครงการปลูกป่านี้ ปตท. ดำเนินการอย่างจริงจังมาแต่ปี พ.ศ.2537 โดยร่วมปลูกป่าจำนวนหนึ่งล้านไร่ รวมกว่า 417 แปลงใน 48 จังหวัด ทั่วประเทศ ป่าวังจันทร์เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งจะเป็นการเริ่มล้านไร่ ต่อจากยี่สิบปีแรกต่อไป พิเศษคือ โครงการป่าวังจันทร์ เป็นศูนย์เรียนรู้ดังเป็น "ห้องเรียนใหญ่" มีธรรมชาติเป็น "ขุมคลังความรู้" ให้ได้ศึกษา นำข้อมูลมาเป็นองค์ความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทาง "นำร่อง" ขยายสู่สถาบันและชุมชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย |
พื้นที่โครงการมีเทือกเขาขุนอินทร์อันเชื่อมต่อจากเทือกเขาพนมศาสตร์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำใหญ่น้อยสู่แม่น้ำประแสร์ของระยอง |
เขาขุนอินทร์จึงเป็น "ครูใหญ่" โดยธรรมชาติ ในพื้นที่เดียวกันนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษากับมหาวิทยาลัยอีกด้วย คือโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับมหาวิทยาลัยวิทยสิรเมธี ซึ่งได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
การบริหารจัดการด้านวิชาการนั้น ประกอบด้วย นักวิชาการด้านป่าไม้และการเกษตร เป็นหลัก มีรายงานว่า |
"จากงานวิจัยผลสัมฤทธิ์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระ เกียรติฯ ปตท. 1 ล้านไร่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2538-2557) โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าผืนป่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ 24.22 ล้านตันออกซิเจน |
ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าคิดเป็นมูลค่า 7,830 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 391.5 ล้านบาท รวมถึงมีฐานมวลชนปกป้องดูแลผืนป่าในโครงการ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตมวลชนที่อยู่รอบแปลงปลูกป่าให้ดีขึ้น" |
เป้าหมายต่อไปคือตั้งแต่ปี พ.ศ.2567 คือ สิบปีหลังจากเริ่มโครงการช่วงใหม่ (2557-2567) ตั้งเป้าให้ป่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ให้ได้ 2.1 ล้านตันต่อปี |
ป่าและต้นไม้ให้คุณค่าแก่คน แก่ชุมชนและแก่โลกถึงปานฉะนี้ |
สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ท่านเคยลิขิตสเป็นใจความว่า สิ่งแวดล้อมคือชีวิต เมื่อใดเราเริ่มรู้สึกว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นเรากำลังแยกสิ่งแวดล้อมออกจากชีวิตแล้ว คือสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องรักษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์หรือนำมารับใช้ชีวิตนั่นเอง |
คือเรายังไม่ตระหนักว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่อาจแยกจากกันได้เลย แม้ลมหายใจของเราก็คืออากาศหรือลมที่แวดล้อมเราอยู่นี่เอง |
การได้ตระหนักในเรื่องนี้โดยเฉพาะคุณค่าแห่งป่านี่แหละ สมดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้เราช่วยกัน |
"ปลูกป่าในใจคน" "ใจวังจันทร์" ป่าวังจันทร์ ประจำอยู่ ภูขุนอินทร์ รู้ใจไม้ ใจดิน รู้ถิ่นเก่า รู้แหล่งน้ำ รักน้ำ ร่วมลำเนา ป่าคือเรา เราคือป่า มาโยงใย ธรรมชาติคือธรรมที่กำหนด อันเป็นกฎความจริงที่ยิ่งใหญ่ อันหนึ่งอันเดียวกันอันเป็นไป มีธรรมะอยู่ใน ใจวังจันทร์ ฯ |
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560 |
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]