สงกรานต์ทั่วไทย ไม่ได้มีการละเล่นที่เหมือนกัน มาดูกันว่าแต่ละภาคฉลองสงกรานต์ยังไงบ้าง?”
แล้วมาถึงตอนต่อที่หลายคนรอคอย… มาดูกันว่า “ภาคกลาง” และ “ภาคใต้” เขาฉลองสงกรานต์กันอย่างไรบ้าง?
สงกรานต์ไม่ได้มีแค่สาดน้ำหรือเล่นแป้ง แต่เต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างลึกซึ้ง
ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง
เทศกาลสงกรานต์ของภาคกลาง จัดขึ้นในวันที่ 13–15 เมษายน ของทุกปีเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ และเป็น “วันขึ้นปีใหม่แบบไทย” ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ และ กิจกรรมในภาคกลางยังคงเน้นการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจัดงาน Water Festival 2025 ที่รวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและความบันเทิงไว้มากมาย
ก่อนเข้าสู่เทศกาล จะมีวันที่เรียกว่า “วันจ่าย” (12 เมษายน) ซึ่งเป็นวันที่ทุกบ้านออกไปซื้อของ เตรียมข้าวของทำบุญ ทำอาหารไว้เลี้ยงพระ แบ่งปันกันในชุมชน อาหารและขนมที่นิยมทำกัน เช่น ข้าวเหนียวแดง กาละแม ซึ่งมักจะกวนกันเป็นกิจกรรมใหญ่ภายในครอบครัว
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์
หรือที่ชาวมอญเรียกว่า “วันกรานต์ข้าวแช่” ในเช้ามืด ชาวมอญจะจัด “ศาลเพียงตา” นำ ข้าวแช่ ไปเซ่นรับนางสงกรานต์ จากนั้นนำไปถวายพระ และส่งต่อข้าวแช่ไปยังญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพ ก่อนจะมีการละเล่นที่สนุก ๆ อย่าง เล่นลูกช่วง เล่นสะบ้า
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา
เชื่อว่าเป็นวัน “หยุดนิ่ง” หรือ “วันพักผ่อนใจ” ผู้คนจะงดเว้นจากการใช้คำพูดหยาบคาย หรือ การทะเลาะเบาะแว้ง เป็นวันสำหรับเตรียมตัวทำบุญในวันรุ่งขึ้น มีการเเต่งชุดพื้นเมืองไปทำบุญ และเริ่มมีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในบางพื้นที่ โดยนิยมจัดในบ้านเรือนอย่างเรียบง่าย
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก
ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยอย่างแท้จริง มีพิธีสรงน้ำพระ บังสุกุลให้บรรพบุรุษ และที่แปลกตาคือการ “ขนทรายเข้าวัดแล้วราดตามถนนหนทาง” ซึ่งเชื่อกันว่าจะนำอายุยืนและสิริมงคลมาสู่ชีวิต และยังมีประเพณี “ค้ำต้นโพธิ์” ที่ชาวมอญเชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข
นอกจากนี้ในบางพื้นที่ของภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี หรือราชบุรี ยังมีการจัดขบวนแห่สงกรานต์และการแสดงพื้นบ้านอย่างสนุกสนาน ทั้งระบำ ฟ้อนรำ และศิลปะการละเล่นพื้นเมือง ที่ผสานความสนุกและความเป็นสิริมงคลไว้อย่างกลมกลืน
ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้
ภาคใต้เรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า “วันสงกราน” หรือ “วันตรุษไทย” โดยมีวันที่จัดหลัก คือ 13–15 เมษายน
แต่การให้ความสำคัญกับ “วันว่าง” และ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” จึงทำให้มีกิจกรรมที่เน้นเพียงแค่ 2 วัน คือ วันที 14 และ 15 เมษายน
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันว่าง
มาจากความเชื่อว่า ในวันนี้ยังไม่มีเทวดารักษาเมือง ชาวบ้านจึงหยุดการทำงานและไปทำบุญตักบาตร นำอาหารไปทำบุญถวายเพลที่วัด และมีการทำพิธีเรียกว่า “ทำขวัญข้าวใหญ่” คือ การมัดรวงข้าวนำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำมาหากิน และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รวมถึงทำบุญอัฐิเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่
บางท้องถิ่นเรียกว่า วันเบญจา หรือบิญจา เป็นวันรับเทวดาองค์ใหม่มาดูแลรักษาบ้านเมือง มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับใหม่ บางบ้านมีการจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพรเรียกว่า “พิธีจตุรมุข” โดยการรดน้ำของชาวใต้จะใช้ “น้ำอบไทย” ที่ใส่ในขันเงินหรือขันทองเหลือง ทำอย่างประณีตและมีความหมายลึกซึ้ง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส พร้อมเครื่องประดับที่เป็นมงคล
บางจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง หรือสุราษฎร์ธานี ยังมีการแห่พระพุทธรูปออกจากวัดให้ประชาชนสรงน้ำตามความเชื่อว่าเป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดี และเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สงกรานต์ทั้ง 4 ภาค ล้วนมีเสน่ห์ต่างกัน
จากเหนือจรดใต้ ทุกพื้นที่ของประเทศไทยล้วนมีประเพณีสงกรานต์ที่เต็มไปด้วยความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด รดน้ำดำหัว หรือการรวมญาติ สงกรานต์จึงไม่ใช่แค่เทศกาลของความสนุกสนาน แต่เป็นช่วงเวลาที่เราได้หันกลับมาเชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณี ความกตัญญู และสายใยแห่งครอบครัวอย่างแท้จริง
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ บ้านเกิดของคุณฉลองสงกรานต์กันแบบไหน? มาแชร์กันหน่อยน้า !
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่
Official Web : http://artculture4health.com/
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5
Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h
Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health
#สสส #แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สงกรานต์บ้านฉัน #เรื่องเบ่าประเพณีไทย
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]