รำปะเรเร ไปกับชาวญัฮกุร
การแสดงในประเพณีแห่หอดอกผึ้ง จ.ชัยภูมิ
การแสดงปะเรเร ศิลปะการร้องรำที่สืบทอดมานานกว่า 100 ปี เป็นการร้องเพลงและสร้างความสนุกสนานของชาวญัฮกุร (ยัก-กุน) ที่แปลว่า คนภูเขา เป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษามอญโบราณ คนไทยในเมืองเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ชาวบน โดยจะใช้เครื่องดนตรีในการตีควบคุมจังหวะ (ม่องแมว) เมื่อร้องถูกใจหรือโดนใจตัวเองก็จะปรบมือพร้อมทั้งออกมาแสดงความสนุกสนานร่าเริง ในการใช้จังหวะดนตรีที่สื่อถึงความเป็นผู้มีสุนทรีทางด้านอารมณ์และความงามของการร่ายรำ
ปะเรเร เป็นการแสดงที่มีมาตั้งแต่โบราณ จะรำเป็นคู่โต้ตอบกัน ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เนื้ออร้องเป็นภาษาญัฮกุรทั้งหมด เนื้อหาเกี่ยวกับการพูดคุยสอบถามสารทุกข์ การทักทาย การสรรเสริญ การขอบคุณ โต้ตอบ ซักถาม ผู้คนที่มาเยือน หอดอกผึ้ง การเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง นอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำเอาวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานมาดัดแปลงเป็นเนื้อร้องด้วย
คำว่า ปะเรเร หมายถึง การร้องเพลงเกี้ยวกัน ปะ แปลว่า ทำ เรเร แปลว่า ร้องเพลง เดิมนั้นจะร้องเพลงโต้ตอบกัน ตอนเดินไปทำไร่ หาของป่า ล่าสัตว์หรือในฤดูเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว ท่ารำจึงมีการเลียนกิจวัตรประจำวัน เช่น ท่าเดิน ท่าม้วนมือ ท่าหงายมือ เป็นต้น คล้ายกับการแสดงลำตัดในภาคกลาง ผู้ชายแต่งกายด้วยผ้าขาวม้าหรือกางเกงสามส่วนสีดำ สวมเสื้อคอป่านหรือม่อฮ่อม เจาะใบหูกว้างพร้อมต่างหูเงินที่หูซ้าย ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อพ็อกสีดำปักลายด้ายรอบแขนและคอ ติดผ้าสีแดงที่ชายเสื้อแทนดอกกาวชุงพ็อก (ดอกพนมสวรรค์) ผมเกล้ามวย สวมเครื่องประดับเงินและสร้อยลูกเดือย ผ้านุ่งนิยมสีเข้ม เช่น แดง เขียว หรือม่วง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปรับท่า แถว และบทร้องให้ชัดเจน เป็นแสดงในวันสำคัญ งานประเพณี เช่น วันสงกรานต์ เดือน 5 ประเพณีแห่หอดอกผึ้ง หรือเทศกาลงานรื่นเริงต่าง ๆ
ในประเพณีแห่หอดอกผึ้งนั้น ชาวญัฮกุรจะเล่นปะเรเรในวันที่ 13 เมษายน ทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืนหลังจากการสร้างหอดอกผึ้งเสร็จ โดยจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ คือ โทนดินเผา ซึ่งนิยมให้ผู้หญิงจะเป็นคนตีกลองโทนให้จังหวะหลัก เพราะผู้หญิงจะมือเบาไม่ตีโทนแรงจนทำให้โทนแตก ส่วนผู้ชายจะเป่าใบไม้
ทั้งนี้การแสดงปะเรเร แม้มีการสืบทอดกันมาอย่างช้านานแต่ก็คงพบเห็นได้น้อย และอาจสูญหายไป จึงควรมีการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงที่สื่อถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญัฮกุร และถ่ายทอด เผยแพร่ ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมคู่ท้องถิ่นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://sju.ac.th/pap_file/2c1074df8cb1b022f97bd34cb14afb74.pdf
https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/6305/
https://langrevival.mahidol.ac.th/folkplay-nyahkur/
#แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สสส #วิสาหกิจเพื่อสังคม #SE #ปะเรเร #ภูมิปัญญา #ชัยภูมิ #ญัฮกุร
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่
Official Web : http://artculture4health.com/
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5
Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h
Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]