แว่วเสียงแคน แห่งแดนอีสาน
เครื่องดนตรีที่เคยอยู่ในราชสำนักอยุธยา
หากพูดถึงเครื่องดนตรีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน แคนถือเป็นอันดับแรก ๆ ที่ หลายคนนึกถึง เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่สะท้อนจิตวิญญาณของชาวอีสาน มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านเสียงและการประดิษฐ์ที่ประณีต มีต้นกำเนิดที่เชื่อมโยงกับชนเผ่าไทย-ลาว และแพร่หลายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ แต่ครั้งหนึ่งแคนเคยเป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในวงบรรเลงแห่งราชสำนักอยุธยามาก่อน
ช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ได้รับความนิยมในราชสำนัก พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมเด็จพระราชอนุชาโปรดปรานการเล่นลาวแคนมาก จึงนิยมเล่นกันอย่างกว้างขวาง นำแคนผสมผสานเข้ากับการละเล่นพื้นบ้าน และใช้ในงานบันเทิงและพิธีการต่าง ๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าแคนที่มองว่าเป็นเครื่องดนตรีจากหัวเมืองลาว จะกลืนเอาศิลปะการดนตรีอื่น ๆ ของไทยไป เมื่อพระราชอนุชาเสด็จสวรรคต จึงมีพระราชโองการห้ามเล่นลาวแคนในปี พ.ศ. 2408 เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางดนตรีไทยไว้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ในอนิรุทธคำฉันท์ กล่าวถึง แคน ที่บรรเลงในดุริยดนตรี หรือเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประจำราชสำนัก เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ยืนยันได้ว่าแคนเคยมีบทบาทอยู่ในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมาก่อน
แคน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แคนเจ็ด มีจำนวนลูกแคน 14 ลำหรือไม้กู่แคน 7 คู่ มีเสียง 14 เสียง และแคนแปด เป็นแคนสำหรับเป่าประสานเสียงคลอไปกับการขับร้องหรือ “ลำ” ระบบของแคนแปดมีเสียงทั้งหมด 16 เสียง แต่มีเสียงที่ซ้ำกัน 2 เสียง คือ ซอล โดยลูกแคนทำจากไม้เฮื๊ยะ มีเต้าแคน กลมป่องหัวท้ายสอบ ทำจากรากไม้ประดู่ เพราะเจาะง่าย มีคุณสมบัติดับกลิ่นปากผู้เป่า ด้านในมีหลาบโลหะ เป็นแผ่นโลหะบาง ๆ ที่สกัดออกเป็นลิ้นแคน แล้วผนึกช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้าด้วย ขี้สูดหรือชันโรง ชี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าผึ้งเรียกว่าแมลงขี้สูด นิยมเล่นกันตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น บวงสรวงเทพเจ้า ประกอบการแสดง หรือการละเล่น และเรียกคนเป่าแคนอย่างชำนาญว่า หมอแคน
แม้เคยถูกลดบทบาท แต่แคนไม่เคยสูญหายไปจากชีวิตของชาวอีสาน ทุกวันนี้แคนยังคงเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอีสานที่เข้มแข็ง เป็นเสียงดนตรีที่ย้ำเตือนถึงความงดงามของภูมิปัญญาท้องถิ่น ถูกนำมาใช้ในงานประเพณีและการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การฟื้นฟูและอนุรักษ์แคนได้รับการส่งเสริมผ่านการแสดงหมอลำ การบรรเลงเพลงพื้นบ้าน และการเรียนการสอนในสถาบันดนตรีต่าง ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
http://m-culture.in.th/album
https://www.silpa-mag.com/culture/article_101217
https://isancenter.msu.ac.th/?p=1473
#แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #สสส #วิสาหกิจเพื่อสังคม #SE #แคน #เครื่องดนตรี #ภาคอีสาน
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่
Official Web : http://artculture4health.com/
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5
Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h
Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]