สสส.สานพลังภาคี ขับเคลื่อนโครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” เผยเด็กไทยอ้วนพุ่ง ติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน เหตุพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ อายุ 6-14 ปี กินขนมรสเค็มมากที่สุด 84.1% คาดปี 73 เด็กทั่วโลก 50% เผชิญภาวะอ้วน-เสี่ยงป่วยโรค NCDs
เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ร่วมกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส จัดงาน มหกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)”
ภายใต้โครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ โชว์ผลงานจากโรงเรียน 19 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประกาศสุดยอดโรงเรียนต้นแบบสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน จากข้อมูลการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็ก (Health Data Center) ปี 2566 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบเด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 9.13% เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.4% เด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.2% สาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารที่เน้นหวาน มัน เค็ม และขาดการออกกิจกรรมทางกาย นำไปสู่การเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs
สอดคล้องกับสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย ปี 2567 โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี กินขนมรสเค็มมากที่สุด 84.1% กินเฉลี่ย 1.35 ซองต่อวัน รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 1-5 ปี กินขนมรสเค็ม 76.5% กินเฉลี่ย 1.23 ซองต่อวัน จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 50%
"จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงสานพลังภาคี ขับเคลื่อนโครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” เพื่อสร้างค่านิยมเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องโภชนาการ ผ่านกระบวนการออกแบบสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบลดอ้วนในเด็ก เน้นสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา ครู ชุมชน ครอบครัว และนักเรียนแกนนำ ส่งเสริมการนำบริบทชุมชนมาออกแบบสร้างอัตลักษณ์และสอดแทรกองค์ความรู้ด้านสุขภาพเข้าไปในกระบวนการ ตอบโจทย์เป้าหมายในเรื่องของการมีสุขภาวะดีทั้ง 4 มิติ" นางญาณี กล่าว
สำหรับผลงานสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบที่ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลพิเศษ WOW Awards จะถูกนำไปใช้ขยายผลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กไทยมีสุขภาพดีต่อไป
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ขับเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 5 ที่ผ่านมา มีการนำกระบวนการทำงานสร้างนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เข้าไปบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มของสถานศึกษา ซึ่งสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.นวัตกรรมกระบวนการการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร ได้สื่อสารนวัตกรรมสื่อรณรงค์ให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน
2.นวัตกรรมของสื่อ ต้องเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เช่น ท่าออกกำลังกาย นวัตกรรมเมนูอาหารสุขภาพที่ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้
3.นวัตกรรมการยกระดับและการขยายผล โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการออกแบบโภชนาการและกิจกรรมที่เหมาะสม ทำให้เด็กไม่เนือยนิ่ง และไม่บริโภคอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญา พร้อมเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.com
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในระยะเวลา 3-5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมที่จับต้องได้ คือ
1.สื่อสร้างสรรค์ที่โดนใจเด็ก ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน เด็กสามารถนำความรู้ไปใช้เป็นแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง และลดความอ้วนได้
2.กระบวนการโน้มน้าวปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายของเด็ก โดยให้เด็กได้สร้างสรรค์และใช้สื่อนั้นด้วยตัวเอง นำไปใช้กับเพื่อน และพ่อแม่ เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน ตอบโจทย์ขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการและการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ช่วยให้เด็กไทยเติบโตมีสุขภาพดีสมวัย