เด็กไทยอ้วนพุ่ง ติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน พบอายุ 6-14 ปี กินขนมรสเค็มมากที่สุด 84.1% คาดปี 73 เด็กทั่วโลก 50% เผชิญภาวะอ้วน-เสี่ยงป่วยโรค NCDs สสส. สานพลังภาคี จัดมหกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โชว์นวัตกรรมสื่อรณรงค์ลดอ้วน จากโรงเรียน 19 แห่งทั่วประเทศ หวังให้เป็นนวัตกรรมสื่อต้นแบบ ลดพฤติกรรมกินอาหารเน้นหวาน-มัน-เค็ม ในเด็ก-เยาวชนทุกคน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ร่วมกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส จัดงาน มหกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ภายใต้โครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ โชว์ผลงานจากโรงเรียน 19 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประกาศสุดยอดโรงเรียนต้นแบบสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน จากข้อมูลการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็ก (Health Data Center) ปี 2566 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบเด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 9.13% เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.4% เด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.2% สาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารที่เน้นหวาน มัน เค็ม และขาดการออกกิจกรรมทางกาย นำไปสู่การเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs สอดคล้องกับสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย ปี 2567 โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี กินขนมรสเค็มมากที่สุด 84.1% กินเฉลี่ย 1.35 ซองต่อวัน รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 1-5 ปี กินขนมรสเค็ม 76.5% กินเฉลี่ย 1.23 ซองต่อวัน จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 50%
“จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงสานพลังภาคี ขับเคลื่อนโครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” เพื่อสร้างค่านิยมเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องโภชนาการ ผ่านกระบวนการออกแบบสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบลดอ้วนในเด็ก เน้นสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา ครู ชุมชน ครอบครัว และนักเรียนแกนนำ ส่งเสริมการนำบริบทชุมชนมาออกแบบสร้างอัตลักษณ์และสอดแทรกองค์ความรู้ด้านสุขภาพเข้าไปในกระบวนการ ตอบโจทย์เป้าหมายในเรื่องของการมีสุขภาวะดีทั้ง 4 มิติ ทั้งนี้ สำหรับผลงานสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้นแบบที่ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลพิเศษ WOW Awards จะถูกนำไปใช้ขยายผลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กไทยมีสุขภาพดีต่อไป ” นางญาณี กล่าว
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการสื่อสร้างสรรค์ฯ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ขับเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 5 ที่ผ่านมา มีการนำกระบวนการทำงานสร้างนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เข้าไปบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มของสถานศึกษา ซึ่งสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.นวัตกรรมกระบวนการการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร ได้สื่อสารนวัตกรรมสื่อรณรงค์ให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน 2.นวัตกรรมของสื่อ ต้องเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เช่น ท่าออกกำลังกาย นวัตกรรมเมนูอาหารสุขภาพที่ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ 3.นวัตกรรมการยกระดับและการขยายผล โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการออกแบบโภชนาการและกิจกรรมที่เหมาะสม ทำให้เด็กไม่เนือยนิ่ง และไม่บริโภคอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญา พร้อมเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.com
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในระยะเวลา 3-5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมที่จับต้องได้ คือ 1.สื่อสร้างสรรค์ที่โดนใจเด็ก ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน เด็กสามารถนำความรู้ไปใช้เป็นแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง และลดความอ้วนได้ 2.กระบวนการโน้มน้าวปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายของเด็ก โดยให้เด็กได้สร้างสรรค์และใช้สื่อนั้นด้วยตัวเอง นำไปใช้กับเพื่อน และพ่อแม่ เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน ตอบโจทย์ขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการและการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ช่วยให้เด็กไทยเติบโตมีสุขภาพดีสมวัย
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]