น่าห่วง ! คนไทย 1 ใน 3 ใช้อินเทอร์เน็ตนาน 8 ชั่วโมงต่อวัน พบ เด็ก-เยาวชน-คนสูงวัยกว่า 60% ยังขาดทักษะด้านดิจิทัล เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องในสัปดาห์การรู้เท่าสื่อ สสส.-สสย.-กองทุนพัฒนาสื่อฯ-มจธ. สานพลังภาคี 30 องค์กร จัดงาน MIDL Week 2024 ติดอาวุธความรู้ประชาชนให้รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ พร้อมขับเคลื่อนระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ยั่งยืนในสังคมไทย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ต.ค. 2567 ที่อาคาร Knowledge Exchange for Innovation Center กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และภาคี 30 องค์กร จัดงาน “สัปดาห์การรู้เท่าสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567” หรือ “MIDL Week 2024” ภายใต้แนวคิด “A(m)I Connext ? พลเมืองสื่อ: เชื่อมโยงสู่โลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลง” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์การทำงานด้านการขับเคลื่อนประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะ โดยยูเนสโกกำหนดให้มีการจัดงาน Global Media Information Literacy Week ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อดูมิติด้านการรู้เท่าทันสื่อจากผลการสำรวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทย พบว่า คนไทยมีสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อ ในระดับดี โดยสมรรถนะที่ควรส่งเสริมพัฒนาคือ การเข้าถึงดิจิทัล และเมื่อเจาะลึกทักษะด้านดิจิทัล พบว่า คนไทยกว่า 60% อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ ดังนั้น สสส. จึงต้องสานพลังภาคีทุกภาคส่วนเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคใหม่
“สสส. มุ่งสร้างระบบนิเวศสื่อที่เอื้อต่อการสร้างวิถีสุขภาวะ 4 มิติ ด้วยการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อ เป็นผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้เผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเป็นระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เช่น การพัฒนากลไกสื่อสารสุขภาวะและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่ออย่างมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายระดับชุมชนและสังคมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ การจัดงานครั้งนี้ มีหมุดหมายสำคัญ คือ การแสดงพลังที่เข้มแข็งของเครือข่ายที่ทำงานด้านการรู้เท่าทันสื่อ เป็นพื้นที่ในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำพาสังคมไทยไปสู่นิเวศสื่อสุขภาวะ ที่พลเมืองทุกคนอยู่ร่วมกับโลกของการสื่อสารและความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งได้อย่างปลอดภัย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของภัยออนไลน์ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน คือ การพนัน และการล่อลวง ซึ่งการสร้างทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนในหลักสูตรการศึกษายังไม่เป็นไปตามแผนการปฏิรูป จากสถานการณ์นี้ จึงเป็นที่มาแนวคิดการจัดงาน MIDL Week 2024 ที่เชื่อมร้อยไปกับประเด็นการรู้เท่าทันสื่อในระดับสากล มุ่งสร้างความตระหนักและส่งเสริมความสามารถของคนทุกกลุ่มวัย ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ทั้งนี้ งาน MIDL Week 2024 จัดระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค. 2567 และจะขยายผลจัดงานต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.ศรีสะเกษ จ.สงขลา ในระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค. 2567 เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ได้มีส่วนในการร่วมรณรงค์ด้วย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า งานครั้งนี้เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละภาคีมาร่วมรณรงค์ให้ไทยเป็นสังคมของการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการหาแนวทางเพื่อให้การรู้เท่าทันสื่อสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมและโลก ซึ่งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยฯ ได้นำประเด็นเรื่อง “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อขับเคลื่อนสังคม” ที่ทำงานร่วมกับภูมิภาคมาถอดบทเรียน พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงานรู้เท่าทันสื่อร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีโมเดลสำหรับเด็กเล็กเรื่อง “สภาพแวดล้อมเชิงบวกในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเด็กปฐมวัย” ที่ขับเคลื่อนร่วมกับภูมิภาคมานำเสนอด้วย จากการทำงานที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า การทำงานร่วมกับภูมิภาคสำคัญมาก เพราะเรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนก็สำคัญเช่นกัน
รศ. ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้สนับสนุนและดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อในภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มของอาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นปี รวมถึงยังได้พัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อให้กับสังคม สำหรับงาน MIDL Week 2024 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมกับ สสส. จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจะมีโอกาสสร้างความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพในระดับประเทศและนานาชาติ นำไปสู่ความร่วมมือในการทำวิจัยและบริการวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อที่ส่งผลต่อสังคมและความต้องการของชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]