เปิดสูตรขนมพื้นบ้านย่านเมืองเก่าสงขลา ชุมชนมัสยิดบ้านบน เรียก ขนมกุหลี

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 16 สิงหาคม 67 / อ่าน : 550


เปิดสูตรขนมพื้นบ้านย่านเมืองเก่าสงขลา ชุมชนมัสยิดบ้านบน เรียก ขนมกุหลี

 

 

สงขลา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่างที่มีความหลากหลายทางสังคม โดยเฉพาะย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นเมืองสำคัญอันทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาหาร วิถีชีวิต และเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของกลุ่มคน 3 ศาสนา คือ ชาวไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม

ชาวมุสลิม ในบริเวณเมืองเก่าสงขลานั้น มีบทบาทมาตั้งแต่สงขลาในยุคแรกเริ่ม ในสมัยอยุธยาตอนกลางที่เรียกว่า “ซิงกอรา” ซึ่งมีสุลต่านมุสลิม ปกครองเป็นเจ้าเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง หลังซิงกอราแตก ผู้คนที่เป็นมุสลิมบางส่วนก็ได้โยกย้ายไปทางทิศตะวันตกของหัวเขาแดง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมอยู่มาก่อนแล้วที่เรียกว่า “บ้านหัวเขา” จากการบันทึกของ เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2230 ในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์ ที่ได้มาสำรวจเขียนแผนที่ในเมืองซิงกอรา ได้วาดชุมชน หมู่บ้าน ปรากฏสองพื้นที่ในแผนที่ คือ “บ้านหัวเขา” และ “ชุมชนบ้านบน” ซึ่งอยู่ฝั่งตำบลบ่อยางในปัจจุบัน สองพื้นที่นี้เชื่อว่าเป็นชุมชนกลุ่มมุสลิมดั่งเดิมของเมืองสงขลา

ชุมชนมัสยิดบ้านบน ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ใจกลางย่านเมืองเก่าสงขลา สถานที่ตั้งของมัสยิดบ้านบน หรือมัสยิดอุสาสนอิสลาม สถาปัตยกรรมสวยงามทรงคุณค่าซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมทางศาสนาของคนในชุมชนมายาวนานกว่า 170 ปี นอกจากความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม ย่านชุมชนมัสยิดบ้านบนเมืองเก่าสงขลายังมีอาหารหวานขนมพื้นบ้านจัดว่าเด็ดที่ เช่น ขนมบอก ขนมปาดา ขนมบูตู ขนมกุหลี เป็นต้น

ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักและเปิดสูตรขนมกุหลีขนมโบราณหาทานยาก ข้อมูลจาก ONG ART CAFÉ กล่าวว่า ขนมกุหลี หรือขนมปอหลี (ชื่ออาหารภาษามลายู ปอลี หรือ กาโต) กรรมวิธีคล้ายขนมคนทีแต่ไม่ใส่ใบคนที ขนมชนิดนี้รับประทานตอนเที่ยง หรือตอนเย็น ๆ นิยมรับประทานเดือนบวชอิสลามช่วงฝนตก อากาศเย็น กินได้ทุกวัย ส่วน คำว่า กุหลี นั้น ไม่แน่ใจว่ามาจากการที่กรรมกรแบกหามนิยมทานหรือไม่ เพราะทานแล้วแน่นอิ่มท้องพกพาสะดวกเก็บไว้ได้นาน

ขนมกุหลีมีเนื้อสัมผัสหนุบหนับ มีความเหนียวหนึบคล้ายโมจิญี่ปุ่น และรสชาติอร่อยกลมกล่อม ซึ่งได้ความหวานจากน้ำตาลโตนด ความมันจากมะพร้าวขูด และความหอมจากข้าวคั่ว หากทานคู่กับชาร้อน หรือกาแฟร้อน จะช่วยชูรสชาติของขนมให้มีความโดเด่นยิ่งขึ้น

 

ส่วนประกอบ

แป้งข้าวเหนียว

แป้งมันสำปะหลัง

น้ำเปล่า

มะพร้าวมะพร้าวทึนทึกขูด

ข้าวคั่ว

น้ำตาลตโนด (เคี้ยวจนเป็นยวง)

 

วิธีการทำ

  1. นำแป้งข้าวเหนียว ใส่น้ำนวดผสมให้เข้ากันจนเนื้อเนียน ให้ลักษณะแป้งมีความเหนียวหนืดติดมือ
  2. นำแป้งที่นวดจนได้ที่ใส่ใบตองหรือแม่พิมพ์เพื่อนำไปนึ่งในหม้อซึ้งที่ตั้งไฟจนน้ำร้อนพร้อมนึ่งจนแป้งสุก ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับความหนาของแป้งในแม่พิมพ์
  3. เมื่อสุกแล้วยกหม้อซึ้งลงจากเตา และนำแป้งที่นึ่งสุกแล้วออกมาพักให้เย็นตัวลง เคล็ดไม่ลับในขั้นตอนนี้ ขณะที่พักแป้งให้เย็นต้องใช้ผ้าสะอาดคลุมหน้าแป้งไว้ด้วยเพื่อไม่ให้หน้าแป้งแข็งตัว
  4. พอแป้งเย็นตัวได้ที่ให้ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมพอดีคำ คลุกฝุ่นด้วยแป้งมันสำปะหลัง
  5. จัดลงจาน และราดน้ำตาลโตนดที่เคี้ยวจนเป็นยวง โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด และข้าวคั่ว พร้อมเสิร์ฟให้รับประทาน

ทุกท่านยังสามารถหารับประทานขนมกุหลีได้ที่ ร้านขนมปะดา ตรอกสุเหร่า ถนนนางงาม เมืองเก่าสงขลา หรือติดต่อพี่บ๊ะ ธัญพิมล จินเดหวา โทร 086 693 1618 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจ เฟซบุ๊ก SKA Heritage 

 

อ้างอิง

แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). โดนัทมุสลิม @ ถนนนางงาม สงขลา. ค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2567. จาก https://www.artculture4health.com/pun/clipvdos/view/281.

วิกิชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2566). ย่านเมืองเก่าสงขลา. ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2567 จาก https://wikicommunity.sac.or.th/community/349.

สดายุตม์ เกกินะ  และคณะ. (ม.ป.ป.). Multiculturalism "ชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา". ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2567.  จาก https://anyflip.com/lfnnq/msls/basic.

ONG ART CAFE. 2563. ขนมกุหลี หรือ ขนมปอหลี. ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2567. จาก https://shorturl.asia/3B5uL.

Pakk Taii Design Week. 2566. ชุมชนมัสยิดบ้านบน สัมผัสวัฒนธรรมมุสลิมแดนใต้ในมุมมองใหม่ที่ "มัสยิดบ้านบน”. ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2567. จาก https://shorturl.asia/ZJvaI.

Thai PBS. 2567. จากรากสู่เรา: มุสลิมเมืองสงขลา อัตลักษณ์และชาติพันธุ์สัมพันธ์. ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2567. จาก https://www.thaipbs.or.th/program/JakRakSuRao/episodes/100930.

ธัญพิมล จินเดหวา. สัมภาษณ์. 13 สิงหาคม 2566.



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]