ผ้าทอเกาะยอ ภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองสงขลา

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 1 สิงหาคม 67 / อ่าน : 539


ผ้าทอเกาะยอ ภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองสงขลา

 

 

เกาะยอ เป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลา และมีฐานะเป็นตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประชากรในพื้นที่ประกอบอาชีพหลากหลาย ได้แก่ ประมง ทำสวน ทอผ้า เกาะยอ มีงานหัตถกรรมผ้าทอมือที่เลื่องชื่อ นั่นก็คือ การทอผ้า เป็นงานภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มีอายุร้อยปี ต้องอาศัยความประณีตเพราะมีความสลับซับซ้อนในกระบวนการทอ

 

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่ามีชาวอินเดีย และชาวอาหรับ เข้ามาสอนการทอผ้าให้กับชาวเกาะยอ เมื่อก่อนมีเพียงผ้าโจงกระเบน โสร่ง ผ้าขาวม้า ซึ่งในการทอระยะแรกจะทอผ้าเป็นแบบธรรมดาเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย แต่ระยะหลัง ๆ มีการคิดลวดลายขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือลายราชวัตร เป็นลายผ้าที่มีความสลับซับซ้อนและวิจิตรงดงาม ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งผ้า” ทั้งยังมีประวัติ ความเป็นมาเกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ของไทย เมื่อครั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จแหลมมลายูครั้งที่ 2 ผ่านบ้านทวดก่ำ คนที่ทอผ้าในตอนนั้นจะเรียกชื่อตามลวดลายที่คล้ายกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวหนึ่งในลายผ้าคือลาย “คอนกเขา” เมื่อพระองค์ท่านเสด็จผ่านมาเห็นทรงพอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “ลายราชวัตร” ซึ่งแปลว่า กิจวัตรหรือการกระทำ จึงเป็นชื่อทางการของผ้าทอเกาะยอที่เรียกสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ในนามผ้าทอ “ลายราชวัตร”

 

นอกจากลายราชวัตรแล้ว ผ้าเกาะยอก็ยังมีลายอื่น ๆ อีกเช่นกัน เช่นลายที่เกี่ยวกับพรรณไม้ ได้แก่ ลายดอกรสสุคนธ์ ลายดอกพิกุล ลายดอกผกากรอง แต่เดิมนั้นวัตถุดิบหลักที่นำมาเป็นเส้นใยในการทอผ้าก็คือ ฝ้าย ที่ชาวบ้านปลูกกันเองในท้องที่ และใช้สีจากธรรมชาติมาย้อมโดยเป็นสีจาก เปลือก ต้น ผล รากของพืชชนิดต่าง ๆ  เช่น สีแดงจากรากต้นยอ สีม่วงจากลูกหว้า เป็นต้น

 

ผ้าทอเกาะยอ จะใช้การทอด้วยกี่มือ ที่มีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่ และใช้ ตรน แทนลูกกระสวย ในปี 2482 ได้มีครูจากเซี่ยงไฮ้สองคนมาสอนทอผ้าโดยใช้กี่กระตุกแบบจีนแทนการใช้กี่มือ ชื่อว่านายยี่หลุ่น และนายพุดดิ้น และมาคิดลวดลายขึ้นมาทีหลังเป็นร้อย ๆ ลาย มีการสอนการทอผ้าไปทั่วเกาะยอในขณะนั้น และยังเป็นการสร้างอาชีพติดตัวให้กับชาวบ้านบนเกาะยอ นำรายได้เข้าหล่อเลี้ยงชุมชน

 

พ.ศ. 2516 คุณหญิงชื่นจิตต์ สุขุม นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดสงขลา ขณะนั้น ได้นำเส้นด้ายใยโทเรเข้ามาใช้จากการขาดแคลนเส้นด้ายบนเกาะยอ และยังนำด้ายดิบมาหัดย้อมให้ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้เรื่องการย้อมด้าย พ.ศ. 2516 นับเป็นยุครุ่งเรืองของการทอผ้าบนเกาะยอ แต่เมื่อสังคมมีความเจริญมากขึ้น ผู้คนต่างทยอยไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้งานภูมิปัญญาชิ้นนี้ถูกปล่อยปละละเลย ในปี 2541 มีกลุ่มราชวัตถ์ ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูรื้อฟื้น ให้คงอยู่ ได้สร้างคุณค่า-มูลค่าเพิ่ม กลายเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ ของชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา เฉกเช่นผ้าทอจากทั่วแคว้นแดนไทย

 

ผ้าทอเกาะยอ นอกจากชาวเกาะยอที่นิยมสวมใส่แล้ว ชาวจังหวัดใกล้เคียงอย่าง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง ก็ยังนิยมสวมใส่เช่นกันโดยเฉพาะในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันลอยกระทง หรืองานสัมมนาต่าง ๆ  ผ้าทอเกาะยอสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งผ้าคลุมไหล่ตัดชุดไทย ทำกระเป๋า วัสดุตกแต่งภายอาคารสถานที่  หรือแม้แต่ "ถุงหอม 3 วัฒนธรรม" บรรจุแผ่นน้ำหอม โดยใช้ผ้าทอเกาะยอภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองสงขลา โดย SKA Heritage

 

อ้างอิง

ฉัตรดาว  ไชยหล่อ และจริยาทรงพระ, (2560), การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของขวัญของที่ระลึกจากผ้าทอพื้นเมืองเกาะยอ จังหวัดสงขลา. คณะศิลปศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

ชาญชัย ปาณูปกรณ์, พรศักดิ์ พรหมแก้ว และจำเริญ แสงดวงแข. (2548). ศึกษาผ้าทอเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา. วารสารปาริชาติ (ฉบับบัณฑิตศึกษา), 18(3), 65.

เทคโนโลยีชาวบ้าน. “ราชวัตร” เอกลักษณ์ลายทอผ้าประจำถิ่น ของชาวเกาะยอ สงขลา. ค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_169654.

แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ. ผ้าทอเกาะยอ. ค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=DewpN4UEFN4

สถาบันทักษิณคดีศึกษา. ผ้าทอเกาะยอ. ค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567 จาก https://ists.tsu.ac.th/menuDetail.php?pid=497

AWAKE MEDIA. มรดกตกทอด | "ผ้าทอเกาะยอ" ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ สร้างงานสร้างอาชีพและความภาคภูมิใจให้แก่ลูกหลานไทย.ค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=comN4MTKhNU

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]