“สินไซ ศิลป์สร้างสุข”

หมวดหมู่ กิจกรรมล่าสุด , โดย : , 11 กันยายน 58 / อ่าน : 2,711



              

 

“สินไซ ศิลป์สร้างสุข”

 

          “สินไซ” หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “สังข์ศิลป์ชัย” เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านสองฝั่งโขงที่ยังปรากฏอยู่และสืบค้นได้ ว่ากันว่าสินไซนี้ได้เค้าโครงเรื่องมาจากปัญญาสชาดก หรือ “พระเจ้าห้าสิบชาติ” คือชาดกในลำดับที่ 29 เรื่อง “ท้าวพยากุดสะราดชาดก”

          สำหรับอีสานบ้านเรา เรื่องราวการต่อสู้ของสามพี่น้องฝ่ายธรรมะ คือ สังข์ สินไซ และสีโห กับฝ่ายอธรรม ได้ถูกแปรรูปและเข้าไปบูรณาการเป็นเนื้อเดียวกับศิลปะและวัฒนธรรมหลายแขนง ทั้งหมอลำ การเทศน์ การแหล่ หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสาน ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง

          ความแยบคายเชิงสุนทรียะของวรรณกรรมเรื่องนี้ อยู่ที่การรับรู้ การตีความและพื้นภูมิทางธรรมของผู้อ่านเป็นสำคัญ

คนที่พอใจแค่ “เปลือก” ก็จะได้ลิ้มรสเพียงความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจไปกับการผจญภัย การชิงรักหักสวาท การชิงไหวชิงพริบ ครบทุกรสชาติของปุถุชน

          คนที่ไปถึง “กระพี้” ก็จะได้ข้อคิด แนวทาง แนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้กับการดำเนินชีวิต การครองตน และการครองใจผู้อื่น รวมถึงการได้รู้จักรากเหง้าของตนเอง ได้ซึมซับและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ   

แต่ถ้าไปจนถึง “แก่น” แล้วไซร้ สินไซ ก็คือ อภิธรรมขั้นสูง อันหมายถึง แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อสั่งสมปัญญาบารมีไปสู่โลกุตรธรรม

           ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สินไซยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็น “แบบเรียน” เพื่อการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เด็กและเยาวชน สำหรับประเทศไทย สินไซดูจะมีความสำคัญที่แผ่วเบาลงไป ไม่ว่าจะในฐานะของวรรณกรรมพื้นบ้าน หรือวรรณกรรมที่แฝงด้วยหลักพระพุทธศาสนา แผ่วเบาไปพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกกลืนหายไปกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเด็กและเยาวชนคนอีสานรุ่นใหม่ฟังเพลงสตริงลูกทุ่ง แทนหมอลำ ดูซีรีย์เกาหลีแทนหนังบักตื้อหรือหนังประโมทัย ชมภาพยนตร์ในซีเนเพล็กซ์แทนจิตรกรรมตามฝาผนังโบสถ์

          วัดไชยศรี บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม อายุมากกว่า 100 ปี เดิมทีเป็นโบสถ์มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ มีปีกยื่นออกไปสองข้างตามแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาเมื่อหลังคาเริ่มทรุดโทรม จึงได้รื้อและทำขึ้นใหม่เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ แต่ที่สำคัญ ฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงปรากฏภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูปแต้ม” เป็นเรื่องราวของสินไซ ที่สมบูรณ์ สวยงาม และเด่นชัด

          ท่านพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี เป็นทั้งพระนักพัฒนา และผู้นำด้านจิตวิญญาณที่ยังคงอนุรักษ์ สืบสาน เชื่อมร้อย และต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอีสาน หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างกลมกลืน

          เช่นเมื่อครั้งเดือนสี่ .... ฉันเคยมาร่วมงานประเพณีข้าวจี่งานบุญผะเหวดที่นี่

ฝ่าลมหนาวเข้ามาถึงวัดตอนตีสี่ ก็เข้าใจว่าเช้ามากแล้ว แต่ทั้งลานวัดที่ฟ้ายังไม่ทันสว่าง กลับปรากฏ เงาตะคุ่มรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม เป็นหย่อม ทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่กำลังนั่งจี่ข้าวกันอย่างตั้งใจ ค่อยบรรจงปั้นข้าวเหนียว ทาด้วยไข่ปรุงรส และจี่ด้วยไฟอ่อน ๆ กลิ่นข้าวหอมฟุ้งไปทั่วลานกว้าง แต่บ้างก็มานั่งให้กำลังใจ และบ้างก็มาเพื่อขออังไฟอุ่นให้คลายหนาว

          ... มาถึงเดือนเจ็ด ฉันกลับมาที่นี่อีกครั้งกับ “โครงการสินไซโมเดล แห่งบ้านสาวะถี” นำร่องศิลป์อีสานสร้างสุข เพื่อการสร้างพื้นที่ดีวิถีสุข ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

          “ค่ายศิลป์อีสานสร้างสุข” เป็นค่ายที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ รวม 5 แห่งในละแวกนี้ อาทิ 1.โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฎิ์) 2.โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ 3.โรงเรียนบ้านลาดนาเพียง 4.โรงเรียนบ้านโนนกู่ และ 5.โรงเรียนบ้านงิ้ว จำนวนกว่า 130 ชีวิต ได้มาเรียนรู้เรื่องราวของสินไซ และสร้างสรรค์สินไซในแบบฉบับของตนเอง ภายใต้บริบทของศิลปะและวัฒนธรรมที่ตนสนใจ โดยมีการจัดเป็นฐานปฏิบัติการการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวม 9 ฐาน ได้แก่ วาดรูป แต่งเพลง เล่นดนตรีกันตรึม ทำหนังประโมทัย ทอผ้า เขียนและร้องเพลงกล่อมลูก วารสาร สารคดี และหนังสั้น

          ใน ฐานวาดรูป เด็กๆ ได้รับแจกกระเป๋าผ้าดิบ คนละหนึ่งใบ จากนั้นวิทยากรก็จะสอนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการวาด และให้เด็ก ๆ ได้วาดภาพตามแบบจิตรกรรมฝาผนังรอบโบสถ์ โดยเลือกเพียงรูปใดรูปหนึ่งที่ตนสนใจ นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวของสินไซ และคุณค่าในเชิงคุณธรรม จริยธรรมไปพร้อมกันด้วย

          ฐานหนังประโมทัย หรือหนังบักตื้อ หรือหนังตะลุงอีสาน สิ่งที่ฉันได้ประจักษ์ก็คือ ความสุข ความรักและความสามัคคีที่ก่อตัวขึ้นในระหว่างการทำงานร่วมกัน สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในการประกอบสร้างเรื่องราวและการละเล่นดังกล่าว คือ การลดทอนความสำคัญของ “บุคคล” ให้ไปอยู่ที่ “กลุ่มบุคคล” ความสำเร็จไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยระบบ “ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว” แต่มันจะต้องไปด้วยกันทั้งองคาพยพ เบื้องหน้าของฉากขาวใต้เงาไฟที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมนั้น ด้านหลังฉาก คือ ความพร้อมเพียงของทั้งคนเชิด คนร้อง คนให้จังหวะสัญญาณ รวมทั้งดนตรี และภายใต้ความพร้อมเพรียงนั้น ก็มีสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมอยู่มากมาย ทั้งเรื่องวินัย ความเอื้อเฟื้อ ความกล้าหาญ หรือกล้าที่จะทำดี ความอดทน ตลอดจนการเป็นผู้นำและผู้ตาม

          สำหรับ ฐานหมอลำหุ่น ได้เริ่มจากการให้เด็ก ๆ เข้าไปในหมู่บ้าน และขอรับบริจาคข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมาประดิษฐ์ เป็น “ฉาก” และ “ตัวละครหุ่น” จากนั้นก็มาช่วยกันออกแบบและประดิดประดอยอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ตั้งอกตั้งใจจนกระติบข้าวหลายๆ ใบและสิ่งของเหลือใช้ กลายเป็น “หุ่น” ที่มีชีวิตเหมือนตัวคนเชิด ส่วนฐานอื่นๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ การเรียนรู้เรื่องสินไซ การเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอสินไซในจินตนาการผ่านงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม

          ซึ่งน้องเมย์ นางสาวสุชาดา สุดตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมฐานวรรณศิลป์ บอกว่า โครงการสินไซโมเดล แห่งบ้านสาวะถี เป็นโครงการที่ดีที่ทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้นำความรู้เรื่องของสินไซที่มีอยู่มาสื่อสาร และถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ยังรู้ไม่ชัดเจน และคนภายนอกที่สนใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องสินไซเพิ่มมากขึ้นผ่านสื่อ 4 ฐานใหญ่ (9 ฐานย่อย) อาทิ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และหัตถศิลป์ ศิลปะการแสดง และสารคดี ซึ่งส่วนตัวแล้วเลือกเรียนรู้เรื่องวรรณศิลป์ เพราะชอบเขียนมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยผลงานที่ได้ในกิจกรรมครั้งนี้ มีเนื้อหาว่า ไชยศรีมีของดี อย่ารอรีมาเร็วไว ไชยศรีมีสินไซ ผู้มีใจกตัญญู ฮูปแต้มถิ่นเรานี้ ล้วนมากมีสิมความรู้ สีโหคนเชิดชู แหล่งเรียนรู้ถิ่นไทยเรา และบทที่เขียนถึง นางเกียงคำ (นางกินนรีที่ศิลป์ชัยหลงรัก) ว่า เกียงคำช่างงามนัก มีรูปลักษณ์อรชร มารยาทก็งามงอน ไม่บั่นทอนจิตใจใคร กินรีชื่อเกียงคำ นางผู้นำพาสุขใจ สินไซแสนสดใส ที่ได้ใจนางกินรี ...ซึ่งตนหวังว่าคนที่ได้อ่านจะเข้าใจตัวละครในสินไซมากขึ้น

          ด้านน้องไหม เด็กชายไหมไทย เยาวระ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฎิ์) จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมฐานศิลปะการแสดงหมอลำหุ่น รับบทเป็นผู้เชิดสีโห บอกว่า ถึงแม้ว่าตนจะเรียนอยู่ชั้น ป.6 แล้วแต่ตนก็ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยออก แต่แปลกใจมากไม่รู้ว่าเพราะอะไร เวลาตนเข้าร่วมกิจกรรมในฐานนี้ตนสามารถจดจำและสามารถทำหุ่นที่เชิดได้เอง แถมยังออกมาสวยด้วย ซึ่งหุ่นที่ชื่อสีโหนี้ตนได้ประดิษฐ์มาตามลักษณะของภาพวาดตัวสีโหที่อยู่ในสิมภายในวัดไชยศรี และจินตนาการว่าถ้าออกมาจะเป็นรูปร่างอย่างไร? ด้วยเทคนิคที่ครูเซียง จากหมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดาสอนให้ จึงออกมาเป็นสีโห กระติ๊บข้าวเหนียวและวัสดุเหลือใช้ที่หาได้จากชุมชนตัวนี้ หลังจากจบกิจกรรมตนจะนำความรู้ที่ได้รับไปสอนเพื่อนๆ คนอื่นๆ ในโรงเรียนต่อทั้งความรู้เรื่องสินไซ การทำหุ่น และการเชิดหุ่น เพื่ออนุรักษ์ของดีที่มีอยู่ในชุมชนของเราไม่ให้สูญหายต่อไป..

          ส่วนน้องกอล์ฟ นายบุรินทร ป้องจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมฐานคีตศิลป์ บอกว่า โครงการสินไซโมเดล แห่งบ้านสาวะถี นี้ทำให้ตนและเพื่อนๆ เรียนรู้ประวัติของสินไซมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรมที่มี ไม่ว่าจะ ความกล้าหาญ ขยัน พอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์ และกตัญญู นอกจากนี้ในความรู้เฉพาะด้านคีตศิลป์ที่ได้รับจากโครงการนี้ทำให้ตนมีเทคนิคในการแต่งเพลงเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้เรื่องโน๊ต และจังหวะดนตรีเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าหลังจากจบโครงการนี้ตนจะสามารถเขียนเพลงเป็นแน่นอน จากนั้นตนจะนำความรู้ที่ได้รับนี้ไปแต่งเพลงเพื่ออนุรักษ์ของดีที่มีในชุมชนและเพยแพร่เพื่อรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ ให้คงอยู่สืบต่อ และตกทอดไปสู้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

         “...คุณครูเป็นผู้ให้ความรู้ พวกเราจะปฏิบัติตามที่คุณครูบอกและให้ไว้ตลอดไป” น้องกอล์ฟฝากไว้

สำหรับฉันแล้ว นับได้ว่าโดยกระบวนการดังกล่าวนี้ได้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันดีงามด้วย “ความสุข” เป็นการเรียนรู้แบบ by heart” มิใช่ “by head” ซึ่งจะเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ฝังลึกอยู่ในตัวตนของเขา มิใช่เป็นเพียงความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือหรือการท่องจำตามตำรา

 

“สินไซ” ได้ถูกปลุกให้มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความคิดของเด็ก ๆ แล้ว สิ่งที่เหลือก็คือ เราจะต่อยอดและขยายผลเรื่องนี้กันอย่างไร... ให้ความสุขนี้เป็นสุขที่ยั่งยืน .... 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]