ขันหมากเบ็ง เครื่องสักการะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาวอีสาน

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 1 กรกฎาคม 67 / อ่าน : 3,894


ขันหมากเบ็ง  เครื่องสักการะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาวอีสาน

 

 

ขันหมากเบญจ์ หรือขันหมากเบ็ง เครื่องสักการะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาวอีสาน เป็นงานประดิษฐ์ที่ทำด้วยมือ มีความประณีต ละเอียดลออ ที่ทำอย่างบรรจงโดยฝีมือของมนุษย์ที่สืบทอด กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ใช้บูชาในพิธีกรรมและบูชาพระรัตนตรัยในวัดอุโบสถ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการนำไปบูชาวิญญาณ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำไปวางไว้ตามธาตุสำหรับบรรจุอัฐิธาตุ เพื่อแสดงออกถึงความนอบน้อม แสดงออกถึงการคารวะ การเคารพบูชา

 

อภิชิต แสนโคตร ให้ความหมายของขันหมากเบ็งผ่านคอลัมน์ ส่องซอด ในนิตยสารทางอีศาน ว่า คำว่า หมาก หมายถึง กอง, หน่วย, ผล คำว่าหมาก ณ ที่นี้ ไม่เกี่ยวกับหมากสำหรับเคี้ยวหรือหมากที่ใช้ทำหมากสุ่ม ในวัฒนธรรมล้านนาแต่ประการใด และคำว่าหมากนี้ตรงกับคำว่า ขันธ์ ในภาษาบาลี ส่วนคำว่า เบ็ง บ้างเขียนเป็น เบ็งจ์ หรือ เบงจ์ หมายถึง จำนวน 5 หรือเลข 5 มาจากคำว่า เบญจ ปัญจ ในภาษาบาลี และมีความหมายเดียวกันกับคำว่า เบ็น เบญ เบ็ญ ในภาษาลาวที่รับมาจากภาษาบาลี ดังนั้น คำว่า หมากเบ็ง จึงหมายถึง กองทั้ง 5 ซึ่งหมายถึง ขันธ์ 5 ในพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

 

ขันหมากเบ็ง นิยมทำหลายรูปแบบ ทั้งยังยึดทำแบบดั้งเดิมหรือแบบโบราณ เรียกว่าขันหมากเบ็งแบบเป็นกาบ โดยใช้ใบตองมาพับให้เป็นสามเหลี่ยมซ้อนทับกันรอบกรวยทั้งสี่มุมคล้ายเจดีย์ ยังมีขันหมากเบ็งแบบนิ้ว โดยใช้ใบตองมาม้วนให้เป็นกรวยคลายนิ้วมือของคน หรือเรียกนิ้วบายศรีทำเป็นแม่สี่มุม ปัจจุบัน มีการพัฒนามาจากรูปแบบของขันหมากเบ็งแบบดั้งเดิม ขันหมากเบ็งประเภทนี้ ส่วนใหญ่เรียกว่า ขันหมากเบ็งประยุกต์จะมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายของศิลปะงานใบตองที่วิจิตรมากขึ้น

 

สำหรับเครื่องบูชา 5 อย่าง ประกอบในขันหมากเบ็ง ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอกดอกไม้ อย่างละ 5 คู่ นิยมใช้เป็นเครื่องประกอบในการสักการบูชาหรือเครื่องพลีกรรม ดอกไม้ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น ดอกดาวเรือง (จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง) ดอกสามปี (ดอกบานไม่รู้โรย) เชื่อว่าจะทำให้อายุมั่นขวัญยืน ดอกรัก (ทำให้เกิดความรัก) ดอกบัว (พระรัตนตรัย)

 

การถวายหมากเบ็งต่อสิ่งที่ตนให้การสักการะและบูชานั้น ผลแห่งบุญกุศลจะบังเกิด ดังพุทธประวัติตอนหนึ่ง กล่าวว่า ศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ราชคฤห์ ทรงปรารภพระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงถวายหมากเบ็งบูชา โดยเป็นใจความว่าในสมัยหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงตบแต่งดอกไม้ของหอม และขันหมากเบ็งมีข้าวพันก้อนเป็นต้นด้วยความประณีต เสด็จไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อถวายเสร็จแล้วพระองค์ได้กราบทูลถามถึงอานิสงส์ของการถวายหมากเบ็งบูชาว่ามีเป็นประการใดพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ดูกรมหาบพิตร การบูชาด้วยหมากเบ็งนั้น มีอานิสงส์เป็นลำดับชั้นตามขั้น หมากเบ็งคือ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะไปอุบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เมื่อเครื่องจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชแล้วก็ไปอุบัติขึ้นในชั้นดุสิต เมื่อเคลื่อนจากชั้นดุสิตแล้วจะไปอุบัติชั้นยามา เมื่อเคลื่อนจากชั้นยามาแล้วจะไปอุบัติชั้นนิมมานรดีเมื่อเคลื่อนจากชั้นนิมมานรดีแล้วจะไปอุบัติขึ้นในชั้นปรนิมมิตวสวัตดี จนถึงชั้นกามาวจรภพเป็นที่สุด เสวยทิพยสมบัติอยู่ในเทวโลกนาน 9 ล้านปี มีนางเทพธิดาแวดล้อมเป็นบริวาลมีวิมานอันงามวิจิตร และเมื่อมาเกิดในแดนมนุษย์ จะมีรูปร่างสิริโฉมงดงามยิ่งนักด้วยประการนี้ (พรรษชล แข็งขัน และคณะ, 2561)

 

อ้างอิง

คิด วรุณดี. (2557). ความเชื่อเรื่องขันหมากเบ็งในวัฒนธรรมชาวอีสาน กรณีศึกษาอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พรรษชล แข็งขัน และคณะ. (2561). รายงานผลการดำเนินโครงการบริการวิชาการแก่สังคมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการ “ขันหมากเบญจ์” วัฒนธรรมความเชื่อของชาวอีสานมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดอุดรธานี ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน เงินแผ่นดินในการดำเนินโครงการบริการวิชาการแก่สังคมโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น.

สถาบันศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2562). คู่มือการการจัดพิธีแห่ข้าวพันก้อนในงานประเพณีเทศน์มหาชาติ (บุญผะเหวด). หน้า 15.

อภิชิต แสนโคตร. ส่องซอด : ความหมายของขันหมากเบ็ง ลาวล้านช้างโบราณ. นิตยสารทางอีศาน. 4 : 17 ; 2558.



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]