กาลเวลาพา “หนังบักตื้อ” เปลี่ยน
หนังบักตื้อ เป็นศิลปะการละเล่นพื้นบ้านของภาคอีสานในประเทศไทย ถูกถ่ายโยงวัฒนธรรมจากการละเล่นหนังตะลุงทางภาคใต้มาสู่ภาคอีสานของไทยมาผนวกเข้าด้วยกันได้ปรับเปลี่ยนวิธีการแสดง ดนตรีประกอบการขับร้อง การพากย์ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นถิ่นอีสานของตน
หนังบักตื้อ เรียกแตกต่างกันหลายชื่อ บ้างก็เรียก หนังประโมทัย บ้างก็เรียก หนังบักตื้อ เหตุที่เรียกว่าหนังบักตื้อมีที่มาจากตัวตลกสำคัญคือ “บักตื้อ” หรือ “ปลัดตื้อ" ซึ่งในเรื่องจะเป็นตัวประกาศเรื่องที่จะแสดงให้ได้รู้กัน และยังเป็นตัวหนังที่ถือได้ว่ายอดนิยมในหมู่คนดู
ลักษณะการแสดง จะเป็นการเชิดตัวหนัง ผู้ชมจะอยู่ด้านหน้าของจอหนังโดยเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู การเกริ่นเป็นกลอนลำไหว้ครู ดำเนินเรื่องด้วยการร้องแบบกลอนลำอีสาน การพากย์ออกแนวตลกขบขัน มีดนตรีให้จังหวะขณะท่อนการเปลี่ยนอากัปกิริยาของตัวละคร อีกทั้งในช่วงของการเปลี่ยนฉากหรือเปลี่ยนตัวหนัง ให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพลงที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงหนังบักตื้อ ได้แก่ เพลงเชิด เพลงออกแขก หนังบักตื้อนิยมแสดงในงานมหรสพต่าง ๆ ของประเพณีท้องถิ่น สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับคนดูเป็นอย่างมาก เรื่องที่ใช้ในการแสดงเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น ผาแดงนางไอ่ สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น พญาคันคาก และการะเกษ เป็นต้น
สาระสำคัญที่หนังบักตื้อได้สื่อสารต่อสังคมซึ่งซ่อนอยู่ในการแสดงแต่ละครั้งนั้นมีในหลายแง่มุม อาทิ สื่อให้เห็นถึงคุณค่าทางคุณธรรม จริยธรรม เนื่องจากเรื่องราวจากวรรณกรรมพื้นบ้านเหล่านั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรมแม้ในช่วงต้น ๆ ของเรื่องฝ่ายธรรมะจะเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำไปบ้างแต่สุดท้ายก็จะเป็นฝ่ายชนะ เพราะมีคุณความดีที่ได้ทำเอาไว้มาช่วยหนุน ทั้งสื่อให้เห็นถึงการอบรมฝึกฝนเรียนรู้รูปแบบการแสดง การแต่งบทกลอน การเชิด การพากย์ แม้กระทั่งการตัดตัวหนังซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีกว่าจะออกมาเป็นรูปร่างของตัวละครตามที่ตนต้องการ
ปัจจุบันหนังบักตื้อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงมากขึ้น มีการร้องเพลงผสมผสานกลอนลำ การพากย์ รวมถึงเนื้อเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นภาษาสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมตามยุคสมัยปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนเป็นสื่อการเรียนรู้ นำมาเป็นเครื่องมือเพื่อขัดเกลาปัญหาเด็กเยาวชนในพื้นที่ ตัวอย่างพื้นที่ แดกศิลป์ อาร์ต สเปซ ตำบลจีกแดก อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ถูกออกแบบมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดกภัยสำหรับเด็ก ๆ เพิ่มพื้นที่สุขภาวะในชุมชนจากสภาพปัญหาของเด็ก ๆ เยาวชนติดโทรศัพท์มือถืออันเนื่องมาจากความพร้อมใช้งานและการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้เวลากับอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น โดยมักจะละเลยแง่มุมที่สำคัญอื่น ๆ ของชีวิต ซึ่ง แดกศิลป์ อาร์ต สเปซ ได้ใช้สื่อ “หนังบักตื้อใบไม้” ตัวละครที่สร้างสรรค์จากใบไม้ และวัสดุธรรมชาติรอบตัว ผนวกกับสื่อศิลปะสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ มาออกแบบกระบวนการอันประกอบด้วย ขั้นตอนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแต่งนิทาน “สร้างสรรค์เรื่องราวนิทานใบไม้” และกิจกรรมกระบวนการนิทานใบไม้ “สร้างสรรค์นิทานหุ่นเงาใบไม้” (หนังบักตื้อใบไม้) เพื่อการฟื้นฟูและเยียวยา ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ เยาวชนที่เข้าร่วมได้ผ่อนคลาย ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ผ่านการลงมือทำกิจกรรมศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญเด็ก ๆ จะได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ โดยการส่งกำลังใจ และความปรารถนาดีไปยังผู้ร่วมกลุ่ม และการรับกำลังใจ เป็นช่องทางของความเมตตากรุณา ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ทั้งยังสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และปลอยภัยให้เพิ่มขึ้นกับชุมชนดังที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง...
อ้างอิง
จักรกฤษณ์ เรือนวุฒิ. (2555). การศึกษาดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย ของคณะเพชรโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ: ปริญญานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. หน้า 3, 12 26
ชื่น ศรีสวัสดิ์. (2550). รูปแบบและการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมของหนังบักตื้อต่อสังคมในเขตพื้นที่ชนบทอีสานตอนล่าง :อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ. โครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. หน้า 16, 34, 75 และ 77
ทินกร อมรสินทร์ และคณะ. (2553). โครงการฟื้นฟูศิลปะการแสดงหนังประโมทัย (หนังบักตื้อ) เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นบ้านขามป้อม ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว).
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]