ผ้าขาวม้ากับชาวไทยเบิ้ง (โคกสลุง) ความสัมพันธ์ตั้งแต่เกิดจนตาย
ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นผ้าที่อยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย เคียงข้างวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านานควบคู่กับวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ของคนไทย มีการทอผ้าขาวม้าใช้เองในครัวเรือน แลกเปลี่ยนกันในหมู่บ้าน มอบให้แก่ผู้ใหญ่ และใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่เข้าถึงง่ายด้วยประโยชน์ใช้สอยมากมายจนครองตำแหน่ง “ผ้าสารพัดประโยชน์”
ชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี กลุ่มชนที่ใช้ภาษากลางมีสำเนียงเพี้ยนเหน่อ ผสมผสานกันระหว่างภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง มีเอกลักษณ์เป็นของตน ทั้งภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ การละเล่นรวมทั้งการทอผ้า
“ผ้าขาวม้า” หนึ่งในผ้าทอที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวไทยเบิ้งโคกสลุงเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในประเทศไทย เพราะผ้าขาวม้าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าหากได้มีโอกาสมาเที่ยว หรือมาเรียนรู้ที่โคกสลุง อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูดคำว่า “ผ้าขาว” ซึ่งก็คือผ้าขาวม้าที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกกัน
“ผ้าขาว” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างนึงของชาวไทยเบิ้ง ในสมัยก่อนเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ชาวบ้านจะนำผ้าขาวมาปูรองกระด้งรับเด็กเกิดใหม่ ใช้ผูกเพื่อให้ให้คนเป็นแม่จับดึงเบ่งลูก และจะใช้สำหรับผูกอู่ให้ลูกกะเล็กด้วย ผู้ชายจะใช้ผ้าขาวนุ่งอาบน้ำ หรือนุ่งอยู่บ้าน แทนการใส่กางเกง พาดบ่า เคียนเอว เมื่อไปทำบุญใส่บาตร ผู้หญิงใช้สไบเฉียงเมื่อไปทำบุญที่วัด คนที่ไปไร่ไปนาจะใช้ผ้าขาวห่อของ ห่อสัมภาระไปไร่ไปนา ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็จะนำผ้าขาวมาปูรองนอน หรือใช้เป็นผ้าเช็ดตัว และเมื่อมีคนตาย สมัยก่อนชาวบ้านจะนำผ้าขาวมาม้วนเป็นก้อนกลม ๆ แล้วโยนข้ามกองฟอนสามรอบตอนเผาศพถือว่าเป็นการตัดขาดจากภพภูมิกับผู้ตายเมื่อครั้งยังมีชีวิต
ดังนั้น ชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ใช้ผ้าขาว หรือผ้าขาวม้า เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันปัจจุบันชาวบ้านได้พัฒนาปรับปรุงการทอผ้าขาวม้ามาตามลำดับ ทั้งด้านวัสดุและสีสั้น การออกแบบลวดลายจึงดูสดใสขึ้น การทอผ้าขาวม้าของชาวไทยเบิ้งโคกสลุงนอกจากจะมุ่งประโยชน์ใช้สอยแล้วชาวบ้านยังมีกระบวนการคิดออกแบบสีสันและลวดลายที่แฝงไว้ซึ่งความงามที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวบ้านเอง และเป็นเอกลักษณ์แบบฉบับของชาวไทยเบิ้งเอง
อ้างอิง
ชาติชาย อนุกูล. (2554). วัฒนธรรมการห่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลพบุรี : กรณีศึกษา ศิลปอัตลักษณ์และ ความหมายแฝง. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ด. (ศิลปวัฒนธรรมวิจัย). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ. หน้า 23
สุรชัย เสือสูงเนิน. (2548). การศึกษางานศิลปหัตถกรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี. หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. หน้า 94, 97
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน).งานศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าขาวม้าร้อยสี-ผ้าขาวม้า. ค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567 จากhttps://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/1264dbec13e4c46523e30782ad31727f/_dad7bf7737c7ad75ec00ec5506317dfe.pdf
กรุงเทพประกันชีวิต. ผ้าขาวม้าทอมือ คุณค่าและภูมิปัญญาจากชุมชน. ค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.bangkoklife.com/blahappygift/Article
ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง. ผ้าขาวชาวไทยเบิ้ง กับความสัมพันธ์ตั้งแต่เกิดจนตาย. ค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/thaibuengkhoksalung/posts/pfbid02MLQ2jV12NJ8SRKMt2nNnYKbrUoqLcMDcBCdmmde7Mndy7DVvBvErYwwaqEtL6FyHl
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]