บ้านนักเขียนห้องเรียนสีสันศิลปะ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ : หลาดใต้โหนด องค์กรต้นแบบ รางวัล “ภูมิวัฒนธรรมแผ่นดิน” สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 11 พฤษภาคม 67 / อ่าน : 436


 

บ้านนักเขียนห้องเรียนสีสันศิลปะ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ : หลาดใต้โหนด

องค์กรต้นแบบ รางวัล “ภูมิวัฒนธรรมแผ่นดิน”

สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้

มอบโดย : คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

 

 

บ้านนักเขียนห้องเรียนสีสันศิลปะ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2553 หลังจากที่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เสียชีวิต ญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งบ้านนักเขียนขึ้นที่บ้านเกิดของกนกพงศ์ ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เปิดกึ่งสาธารณะ สำหรับชุมชนได้พักผ่อน ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ดนตรี ตามแนวคิดของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2539 และเสียชีวิตในปี 2549 โดยได้จัดห้องสมุด มุมพักผ่อน มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ทำเป็นประจำโดยเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ เช่นการสอนวาดภาพ การสอนดนตรี การละเล่นต่าง ๆ จัดกิจกรรมเข้าค่าย เป็นต้น โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะจัดงานรำลึก กนกพงศ์ ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ทั้งจัดค่ายนักเขียนให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 2วัน  1 คืน โดยทุกปีจะได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดค่ายศิลปะ การวาดภาพด้วยสีน้ำ สีเทียน ให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และพิธีประทับมือศิลปินแห่งชาติ เพื่อเชิดชูศิลปินและให้คนได้รู้จักประวัติและผลงาน ซึ่งรอยมือที่ประทับก็จะจัดวางไว้ที่บ้านนักเขียน พร้อมรูปถ่ายและคิวอาร์โค้ดเพื่อสแกนประวัติและผลงาน

 

 

 

 

หลาดใต้โหนด (Tainod Green Market &Community) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 เปิดเฉพาะ วันอาทิตย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ผืนเดียวกับบ้านนักเขียน ห้องเรียนสีสันศิลปะ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์โดยเจ้าของพื้นที่คือพระวนิช วรธฺมโม (สงสมพันธุ์) บิดาของกนกพงศ์ เล็งเห็นว่าคนในชุมชนมีผลผลิตเชิงชีววิถี ทางการเกษตรมาก ทั้งผัก ผลไม้ ข้าวสาร รวมถึงงานฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และอื่น ๆ จึงได้อนุญาต ให้สร้างตลาดในพื้นที่บ้านนักเขียน เพื่อเป็นตัวกลางและได้ช่วยเหลือชาวบ้านในการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยเริ่มจากการทำตลาดเล็ก ๆ ให้คนในหมู่บ้านประมาณ  10 ร้านมาขายของที่ตนเองมี เช่นผัก ผลไม้ เป็นต้น ปัจจุบันมีร้านค้ารวม  120 ร้าน ในพื้นที่  12 ไร่ (โดยแบ่งทำเป็นที่จอดรถของลูกค้าอีกส่วนด้วย)

แนวคิดหลักของการจัดตั้งหลาดใต้โหนด คือ ต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ การบริหาร ใช้หลักการแบบสากลทั่วไป โดยหาวิธีการที่เหมาะสม ลงตัวกับที่นี่ ใช้หลักการระเบิดจากข้างใน มีกรรมการกำกับดูแลโดยคัดเลือกจากผู้ผลิต หมายถึง ร่วมกันร่างกฎหมาย ข้อกำหนด กติกา ระเบียบข้อบังคับ และตั้งเป้าไว้ว่าต้องเป็น “ชุมชนยั่งยืน” โดยทั้งหมดใช้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเกณฑ์

 

หลาดใต้โหนดเป็นตลาดชุมชนที่ได้รับการประกาศให้เป็นตลาดต้องชม ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นตลาดแรกของจังหวัดพัทลุง ดังนั้นจึงมีงบสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ส่วนหนึ่งตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ส่วนงบจากหน่วยงานอื่นของภาครัฐไม่ได้รับการสนับสนุน ดังนั้นทางตลาดจึงต้องบริหารจัดการทรัพยากรด้วยตนเองทุกด้าน เช่น การบริหารจัดการน้ำ และไฟฟ้า : ตลาดติดตั้งโซลาเซลล์ เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าสูบน้ำจากคลองไปใช้ในตลาด และยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นตัวอย่างในการใช้พลังงานแบบประหยัดให้กับชาวบ้านและชุมชนอื่น ๆ

การลดต้นทุนการผลิต : มีการตกลงร่วมกันในกลุ่มผู้ผลิตว่าสินค้าที่นำมาขายจะต้องผลิตเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้วัสดุธรรมชาติทำบรรจุภัณฑ์จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตลาด ต้นทุนจึงน้อย กำไรมากขึ้น

การขอสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ : ตลาดขอความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนวิทยากรให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การทำบรรจุภัณฑ์ การคัดแยกขยะ การขายออนไลน์ เป็นต้น

การบริหารจัดการขยะ : ได้มีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยรับฝากขยะจากลูกค้าและนำไปแยก สำหรับทำปุ๋ยหมัก และทำถ่าน

หลาดใต้โหนด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยผู้ก่อตั้งตลาด ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน จึงได้ชักชวนชุมชนคิดทำตลาดในเชิงชีววิถี เน้นการขายของพื้นบ้านที่ไม่เจือปนสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นตลาดปลอดโฟม ให้ใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น บรรจุภัณฑ์ทำจากวัสดุธรรมชาติ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน มีกติกาในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในช่วงแรก ๆ ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่จำนวน 14 ราย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง/ผู้บริหาร ที่ต้องการให้ชุมชนยั่งยืน จึงได้วางแนวในการบริหาร จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน และนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ภายในเวลา 6 เดือน ต้องขยายพื้นที่ตลาดรับผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยว รวม ทั้งสิ้น 91 ราย และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าเต็มพื้นที่ 120 ราย ในการดำเนินกิจกรรมของตลาดจะใช้รูปแบบการบริหารงานให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการบริหารร่วมกันตั้งแต่ต้น โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานของตลาด ตามหลักการแบบประชาธิปไตย จากการมีส่วนร่วม สู่ความยั่งยืน

แนวคิดหลักของหลาดใต้โหนด คือ ทุกคนเป็นเจ้าของตลาดร่วมกัน ดังนั้นผู้ผลิตทุกคนจึงต้องทำหน้าที่บริหารจัดการตลาดด้วยตนเอง เริ่มจากการสรรหากรรมการตลาด การวางแผนงานร่วมกัน การกำหนดกติกา หรือข้อตกลง จนทำให้มี “ธรรมนูญ” ของตลาดเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหาร มีการประชุมคณะกรรมการหลังจากเลิกตลาดทุกครั้ง เพื่อสรุปปัญหา และหาแนวทางแก้ไขในนัดถัดไป มีการประชุมย่อยหลังจาก เลิกตลาดเดือนละครั้ง มีการพัฒนาใหญ่ (ทุกคนมาพัฒนาร่วมกัน) และประชุมใหญ่ 3 เดือนต่อครั้ง การดูแลตลาดเป็นหน้าที่ของทุกคนทั้งในเรื่องอาคารสถานที่ การปรับภูมิทัศน์ ความสวยงาม ความสะอาด การจัดการเรื่องขยะ น้ำ การปลูกผักในแปลงสาธิตของตลาด เป็นต้น ไม่มีการจ้างคนงาน ทุกคนจะมาดูแลร่วมกันตามนัดหมาย เช่น ทุกวันเสาร์ทุกคนต้องมาเตรียมตลาดเพื่อรองรับลูกค้า ทุก3 เดือนมีการพัฒนาใหญ่และประชุมใหญ่ เป็นต้น ในการประชุมใหญ่แต่ละครั้งจะมีหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาให้ความรู้อยู่เสมอ เช่น สาธารณสุขอำเภอ ธนาคาร(เรื่องการใช้บัตรสวัสดิการต่างๆ) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เทศบาล เป็นต้น

          หลาดใต้โหนดเป็นตลาดที่รวมกิจกรรมและเรื่องอื่น ๆ เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ห้องสมุด ไว้ด้วยกัน มีรอยประทับมือของศิลปินแห่งชาติสาขาต่าง ๆ มุมแสดงผลงานจิตรกรรม มีห้องสมุดให้อ่านหนังสือทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ มีโนรา หนังตะลุง และดนตรีแสดงให้ชมทั้งวัน จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ มีความแปลกกว่าตลาดอื่น ๆ มีการบริหารเป็นรูปแบบกรรมการอย่างชัดเจน โดยผู้ผลิตคัดเลือกจากผู้ผลิตด้วยกัน ประกอบด้วย

 1. ผู้บริหาร/ ผู้จัดการ/ ประธาน

2. คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ฝ่ายควบคุมราคาสินค้า

3. หัวหน้าโซน

4. คณะกรรมการที่ปรึกษา: เลือกจากบุคคลในภาคส่วนต่าง ๆที่ไม่มีส่วนได้เสียกับตลาดมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งกรรมการต้องคุณสมบัติที่สำคัญ คือมีความเสียสละ มีเวลาให้กับตลาด และเข้าใจในกระบวนการการทำงาน

จากหลักการทำงานดังกล่าว ทำให้หลาดใต้โหนดได้รับการยกย่องและยอมรับ ให้เป็นสถานที่ดูงาน ในเรื่องต่างๆ เช่น การบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม การจัดการเรื่องขยะ การบริหารจัดการน้ำ และพลังงาน เป็นต้น การปลูกจิตสำนึกที่ดีหลาย ๆ อย่าง การนำวัสดุธรรมชาติในพื้นถิ่นมาใช้แสดงถึงภูมิปัญญาและการประหยัด ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชาวบ้านนำไปใช้ที่บ้าน ขยายผลกว้างออกไปให้เพื่อนบ้านได้เห็นตัวอย่าง

การดำเนินงานของหลาดใต้โหนดพบว่า รายได้ของชุมชนมีเพิ่มขึ้น โดยประเมินจากลูกค้าที่มากขึ้น จึงทำให้ชุมชนเห็นว่าตลาดสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้ จึงได้มาเข้าร่วมขายสินค้าในตลาดมากขึ้น ผู้บริหารได้ให้ผู้ผลิตหัดทำบัญชีรับ-จ่ายในการขายสินค้า เพื่อให้ได้เห็นว่าแต่ละนัดมีกำไรเท่าไร พอเลี้ยงครอบครัวหรือไม่ ถ้ากำไรน้อยไปไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ก็จะปรึกษาหารือในคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหา เช่น ให้เพิ่มสินค้าที่จำหน่าย ให้ลดรายจ่ายในการซื้อวัตถุดิบบางอย่าง แล้วหาอย่างอื่นที่ ต้นทุนต่ำ มีคุณภาพใกล้เคียงมาแทน เป็นต้น ประชาชนใกล้เคียง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการได้ขายสินค้าหน้าบ้านตนเอง รายได้จากการให้บริการที่จอดรถ รายได้จากการเป็นเครือข่ายสินค้าของผู้ผลิต รายได้จากการรับจ้างเป็นผู้ช่วยขาย เป็นต้น ประชาชน/องค์กร/หน่วยงานอื่น ๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมัน โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในจังหวัดพัทลุง

หลาดใต้โหนดเป็นตลาดที่ได้รับการยอมรับจากทั่วประเทศ ทั้งในเชิงการท่องเที่ยวและรูปแบบ การบริหารจัดการ จึงมีตลาดอื่น ๆ เป็นจำนวนมากที่มาศึกษาดูงานและนำโมเดลของหลาดใต้โหนดไปใช้ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง เช่น ตลาดสวนไผ่ ตลาดต้นไม้ชายคลอง ตลาดกรีนมุ้งมิ้ง เป็นต้น และต่างจังหวัด ก็มีหลายที่ที่มาศึกษาดูงาน และนำโมเดลของตลาดไปใช้ เช่น ตลาดใต้เคี่ยม จังหวัดชุมพร เป็นต้น ทำให้รายได้ของจังหวัดจากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลให้ตลาด เป็นตลาดตัวอย่างของตลาดอื่น ๆ อย่างยั่งยืน

หลาดใต้โหนดได้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น เปลี่ยนทัศนคติ ของชาวบ้านสู่ทางที่ดีขึ้น ในเรื่องการอยู่ร่วมกัน ศีลธรรม วัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมให้มีการผลิตวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง โดยจัดหาตลาดรองรับให้ ชาวบ้านมีการตื่นตัว และเห็นช่องทางการหารายได้ มีการ “ปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้”เกือบทุกบ้าน ลูกหลานมีงานทำ ไม่มีเวลายุ่งเกี่ยวกับอบายมุข หรือยาเสพติด ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่มีหนี้สิน ส่งลูกเรียนได้ ซื้อรถ ผ่อนบ้าน ไถ่ถอนจำนองบ้านได้ ลดการใช้โฟมในระดับหมู่บ้านและหันมาใช้วัสดุธรรมชาติแทน สิ่งแวดล้อม บรรยากาศใน หมู่บ้านดีขึ้น ชุมชนยั่งยืนและเข้มแข็ง เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ทำให้จังหวัดมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จนปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็น เมืองรอง อันดับ 1 ของประเทศ

ลักษณะกิจกรรม และวิธีการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคี ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เครือข่าย และการบูรณาการที่เกี่ยวข้องในการทำงาน การจัดสร้างตลาดชุมชนโดยเฉพาะตลาดที่เป็นเชิงท่องเที่ยว และอนุรักษ์วัฒนธรรม มีความจำเป็นจะต้องประสานงานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งหลาดใต้โหนดได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ดังนี้

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง แนะนำ ดูแล ในการประชาสัมพันธ์ ร่วมจัดกิจกรรมกับตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยการเน้นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่นให้เครือข่ายในอำเภอต่างๆหมุนเวียนมาร่วมทำกิจกรรมเดือนละ  1 ครั้ง ประสานงานกับชมรม การท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงในการทำกิจกรรมของจังหวัด เป็นต้น

สำนักงานสาธารณสุข ทั้งในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ ดูแลเรื่องสุขอนามัยและคุณภาพสินค้า ให้การอบรมแก่แม่ค้าตามโอกาสและสถานการณ์ เช่น การอบรมผู้สัมผัสอาหาร การอบรมเรื่องลดหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาด โควิด 19 ได้จัด อสม.มาช่วยบริการลูกค้าและนักท่องเที่ยว เป็นต้น

การศึกษานอกโรงเรียน ได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่นำวัสดุอุปกรณ์ไปร่วมกิจกรรมของตลาดทุกนัด เพื่อให้ลูกค้าได้มีมุมพักผ่อนในการอ่านหนังสือ ทำสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะมีมุมหนังสือ มุมของเล่น เป็นต้น

องค์กรท้องถิ่น เช่น จังหวัด อำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร่วมวางแนวทางในการช่วยเหลือผู้ผลิต จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และวิทยากรให้ความรู้กับผู้ผลิต

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม : ให้ความรู้ ติดตามเรื่องคุณภาพสินค้า ขยะ และพลังงาน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัด : ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ตลาด ส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ เช่นจัดหาที่ขายของเพิ่มเติม จัดโครงการ



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]