รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์   บุคคลต้นแบบ รางวัล “ภูมิวัฒนธรรมแผ่นดิน” สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 11 พฤษภาคม 67 / อ่าน : 1,359


รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์  

บุคคลต้นแบบ รางวัล “ภูมิวัฒนธรรมแผ่นดิน”

สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้

มอบโดย :  คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

 

รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ เกิดปี พ.ศ. 2507 ที่เชียงใหม่ เรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม ได้เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนสิริกรศิลปวิทยา, วิทยาลัยช่างศิลปและศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร (พ.ศ. 2530) หลังจากนั้น ได้เข้าไปศึกษากับสล่าบ้านถวาย และเรียนรู้วิถีชุมชน นำไปสู่ผลงานศิลปะยุคบุกเบิกแนวนีโอล้านนา

จากพื้นฐานเป็นคนที่มีใจมุ่งมั่น จึงได้ทำงานอย่างหนักจนถึงขั้นล้มป่วย และในระหว่างที่พักฟื้น รักษาตัวได้ศึกษาพุทธศาสนา รวมทั้งแนวคิดของศิลปะจัดวาง ที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมและกระบวน  การจัดแสดงผลงานในพื้นที่สาธารณะ

สืบเนื่องจากประสบการณ์ในการทำงานกับชาวบ้านตลอด ทำให้รุ่งโรจน์เป็นที่รู้จักในการสร้างสรรค์ศิลปะ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและชุมชนในยุคของศิลปะชุมชนและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะ เขาได้เริ่มก่อตั้ง กลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา กับเพื่อนศิลปิน และ สถาปนิกชาวล้านนนา โดยทำการสำรวจบ้านเก่าของคนไตเขิน ไตลื้อ ยอง ในบริเวณบ้านเกิดของเขา ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 กลุ่มศิลปินนี้ได้ทำงานสืบค้น วิจัย และ สัมภาษณ์เจ้าของบ้านไม้พื้นเมือง ที่สร้างสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มสูญหา ไปในช่วงโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ซ่อมแซมบ้านที่เริ่มเสียหายไปตามกาลเวลา  เขาได้รวบรวมข้อมูล และทำหนังสือออกมาสู่สาธารณชน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Thailandbiennale Chaing Rai 2023 https://www.thailandbiennale.org/artists/roongroj-paimyossak/ Thailandbiennale

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลงานที่เป็นที่ภาคภูมิใจ

1. ผลงานยุคศิลปะชุมชนเฮือนโบราณ

รุ่งโรจน์ ได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มทำงานร่วมกับชุมชนและภาคส่วนอื่น ๆ สืบค้น วิจัย สัมภาษณ์ เจ้าของ บ้านพื้นเมืองที่สร้างสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มสูญหายไปในช่วงโลกาภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ซ่อมแซมบ้าน  ที่เริ่มเสียหายไปตามกาลเวลาและได้รวบรวมข้อมูลทำเป็นหนังสือออกมา สู่สาธารณชน

1.1 โครงการ 101 เฮือนโบราณสันป่าตอง

ปฏิบัติการศิลปะชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของคณะทำงานกับชุมชน ประกอบด้วย ปฏิบัติการ,กระบวนการทางสังคมและสื่อหลายแขนง เช่น ภาพวาด, ภาพถ่าย, วิดิโอ, หนังสือและอื่น ๆ ใน 11 ตำบล 120 หมู่บ้านของอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปีที่สร้าง พ.ศ.2560-2562

1.2 โครงการศิลปะชุมชนเฮือนโบราณ สันป่าตอง-ลำพูน-เชียงใหม่ เป็นการขยายขอบเขตการทำงานสํารวจ วิจัย สืบค้นเฮือนโบราณไปถึงเขต อ.ดอยหล่อ, อ.แม่วาง ของจังหวัด เชียงใหม่ และ อ.ป่าซาง  ของจังหวัดลำพูน โดย กระบวนการและปฏิบัติการศิลปะชุมชนเพื่อให้ ตระหนักถึงวิกฤตการณ์รื้อเฮือนโบราณในชุมชนเป็นวงกว้าง ปีที่สร้าง พ.ศ. 2563-2564

1.3 โครงการเรือนพื้นถิ่นล้านนา “เฮือนเก่า เฮาฮักษา” เป็นการขยายขอบเขต ความร่วมมือกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุมชนสันป่าตองและศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ ในการเชื่อมโยง ปฏิบัติการศิลปะชุมชนกับกระบวนการเชิดชูเกียรติ ผู้อนุรักษ์เฮือนโบราณ และเห็นถึงคุณค่าความหมายมรดกบรรพชน ปีที่สร้าง พ.ศ. 2565

1.4 โครงการเฮือนโบราณสันกลาง ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, องค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง, ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ และชุมชนตำบลสันกลาง เพื่อกระจายกระบวนการศิลปะชุมชนเฮือนโบราณ เข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมชนของการปกครองท้องถิ่นระดับตำบล ปีที่สร้าง พ.ศ. 2565

1.5 โครงการเฮือนโบราณสันป่าตอง ร่วมดำเนินการกับเทศบาลตำบลสันป่าตอง, ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณและชุมชนสันป่าตอง เป็นการทำงานในพื้นที่ชุมชนระดับเทศบาล เพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมาย การพัฒนาและอนุรักษ์ไปในทิศทางที่มีเป้าหมายที่สอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ปีที่สร้าง พ.ศ. 2566

1.6 โครงการ SAVE เฮือนโบราณเชียงรายกับปฏิบัติการศิลปะชุมชนในการลงพื้นที่สํารวจ วิจัย สืบค้น เฮือนโบราณในจังหวัดเชียงราย 18 อำเภอ 124 ตำบล 1941 หมู่บ้าน โดยได้คัดเลือก 50 หลัง ในโครงการนี้เพื่อจัดแสดงในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติเชียงแสน จ.เชียงราย ปีที่สร้าง พ.ศ. 2566

 

2. ผลงานการซ่อมแซม ฟื้นฟูและอนุรักษ์เฮือนโบราณ

ในกระบวนการศิลปะชุมชนเฮือนโบราณ ซึ่งมักพบปัญหาจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา  ของเฮือนโบราณ และมีอุปสรรคอีกหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องมรดก, ขาดแคลนสล่าช่างไม้รวมทั้ง การขาดความรู้หรืออื่น ๆ ทำให้เกิดการรวมตัวของศิลปิน สล่าล้านนา วิศวกร สถาปนิก เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และสนับสนุนการซ่อมแซม ฟื้นฟู ในการอนุรักษ์เฮือนโบราณตามชุมชนต่าง ๆ เริ่มแรกจาก ปี พ.ศ. 2550 ตั้งเป็นกลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา และต่อมา ปี พ.ศ. 2560 ได้ก่อตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ  อยู่ที่หมู่บ้านช่างกระดาษ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยทำงานอาสา ให้คำปรึกษา แนะนํา และร่วมดำเนินการฟื้นฟูเฮือนฯ หรือผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์เฮือนโบราณในระยะเวลาต่อมามากกว่าหนึ่งร้อยสถานที่

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]