สสส. ร่วมกับ ศสช. และ กมธ.การศาสนาฯ วุฒิสภา เดินหน้างานปฏิรูปด้านศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมเชิดชูคนทำงานมอบรางวัลเกียรติคุณแก่บุคคล/องค์กรต้นแบบ 4 ด้าน เป็นพลังขับเคลื่อน Soft Power ไทยก้าวสู่สากล
(วันที่ 3 พฤษภาคม 2567) ห้องประชุม 402 - 403 อาคารสว. รัฐสภา คณะอนุกรรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ซึ่งมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน ด้วยความร่วมมือกับภาคีหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม อาทิ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส., มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน (ศสช.) เวทีสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรม ของคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลเกียรติคุณแก่บุคคล/องค์กรต้นแบบที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการปฏิรูปศิลปะและวัฒนธรรมขึ้น
โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมหลากหลายทั้งภูมิภาษาและวรรณศิลป์ ภูมิบ้านภูมิเมือง และภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าอันเป็นรากฐานของประเทศมาอย่างยาวนาน และมีความหลากหลายตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่เราไม่สามารถผลักดันให้จิตวิญญาณความเป็นไทยไปสู่สากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถส่งออกสินค้าวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศได้ นั่นก็เพราะ 1.ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมยังไม่ตรงกัน 2.ยังขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะราชการ ภาคธุรกิจเอกชนหรือประชาชนทั่วไปแม้กระทั่งศิลปินก็มีความเข้าใจไม่ตรงกัน 3.ค่านิยมในเรื่องวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เด็กเยาวชน หรือสถานศึกษา ต้องร่วมมือกันเรียกว่า “ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม” การมีไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นดุลยภาพอย่างหนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนทุกเรื่องมันมีพลังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“คณะอนุกรรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม จึงมีข้อเสนอแนะให้เกิดการปฏิรูปศิลปะวัฒนธรรมโดยเน้นไปที่ 3 ฐานหลัก ได้แก่ รากฐาน = ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน , พื้นฐาน = พื้นที่ และภูมิฐาน = ภูมิพลังวัฒนธรรม ทั้งสามอย่างนี้หากบกพร่องต้นไม้ก็ไม่สามารถเจริญงอกงาม ไม่ออกดอกออกผลเท่าที่ควร ดอกผลนั้นคืองานวัฒนธรรมเป็นงานของวิถีชีวิต โดยเปรียบเสมือนภาษิตจีนที่ว่า “หวังผลอย่าเด็ดดอก” การจัดทำแผนปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมได้ศึกษาข้อมูลในพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากกรณีศึกษาต่างๆ รวมถึงตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ตลอดระยะเวลา 5 ปีจนได้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 สำคัญสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน คือ 1.ด้านภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม 2. ด้านภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ภาษาเป็นตัวต้นกำเนิดของทุนวัฒนธรรม หากทุกคนเข้าถึงการอ่าน การเขียน การคิด ทุนทางวัฒนธรรมนี้จะแข็งแรงขึ้น ภูมิปัญญา ภูมิบ้าน ภูมิเมืองในหลายๆ เรื่องเป็นภาษาท้องถิ่น การสนับสนุนและทำงานด้านนี้จึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสนับสนุนการอ่านสนับสนุนการเขียนกันคิดในเชิงภูมิปัญญามากขึ้นโดยใช้ภาษาไทยก่อน ถ้าภาษาไทยแตกฉานแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ อีกมากมายตามมา 3. ด้านภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ จากคำพูดที่ว่า “ของเก่าก็หายของใหม่ก็หมด” เพื่อให้มรดกของไทยยังคงอยู่ ชุมชนหวงแหน และอนุรักษ์ไว้อย่างถูกต้องเพื่อให้คงคุณค่าเอาไว้อย่างยั่งยืนได้ “เก็บของเก่าไว้ให้คงคุณค่าแต่อยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันได้” 4.ด้านภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ (Soft Power) เพราะเราควรจะสัมพันธ์กับเรื่องวัฒนธรรมให้มากขึ้น แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่งออกสิ่งดีสิ่งงามระหว่างกันได้ด้วย เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม คงคุณค่าของทุนดั้งเดิมของไทยเอาไว้ ทั้ง 4 เรื่องนี้จะส่งไม้ต่อให้มีกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 ซึ่งมีกฎหมายที่สำคัญอยู่ 2 ฉบับที่ต้องนำเสนอเพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทำงาน กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ในเรื่องของภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม สาระสำคัญมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกเป็นเรื่องของคนในพื้นที่หรือชุมชนจะต้องมีความตระหนักรู้ รู้สึกรักแล้วก็หวงแหน เข้าใจในเรื่องของการนำทุนวัฒนธรรมมาสร้างเป็นมูลค่า สร้างหรือพัฒนาแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่จะช่วยทำให้งานไตรภาคีในเรื่องของภูมิพื้นที่ดำเนินการต่อไปอย่างไม่ติดขัด ซึ่งเรื่องของการเปิดภูมิพื้นที่แบบไตรภาคี รูปธรรมเป็นเรื่องของตลาดนัดวัฒนธรรม เป็นพื้นที่กายภาพที่จะทำให้คนทั้ง 3 วัยในชุมชนมารวมตัวกันจัดแสดงภาพวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมอันนี้เป็นรูปธรรม ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจมากในหลายพื้นที่ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดคุณค่าเรื่องของการอนุรักษ์เท่านั้น ยังไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยพบว่าในหลายพื้นที่เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น เศรษฐกิจของรายบุคคลดีขึ้น โดยภาพรวมได้ทั้งคุณค่าและมูลค่า ส่วนเรื่องของภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน พบว่า ภูมิภาษาและวรรณศิลป์มีการใช้ทั้งภาษาถิ่นไปจนถึงภาษาระดับชาติ , ภูมิบ้านภูมิเมือง มีการสะท้อนเป็นเรื่องเล่าที่อยู่ในพื้นที่ บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความเป็นมา วิถีวัฒนธรรม ส่วนเรื่องภูมิปัญญาแผ่นดินสิ่งที่สะท้อนหรือบ่งบอกความมีปัญญาของคนในยุคหนึ่งๆ ที่เอามาใช้ในการดำรงชีวิตมันอาจจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การรักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เป็นรากฐานของชีวิตทั้งหมดนี้บางเรื่องอาจจะห่างหาย บางเรื่องอาจจะกำลังเลือนหาย สิ่งที่ควรจะต้องทำคือต้องอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาต่อให้คนรุ่นใหม่รู้จัก สามารถเชื่อมไปสู่เศรษฐกิจของชุมชนต่อไป ซึ่งการที่จะทำให้ทั้ง 3 ภูมินี้เกิดขึ้นดำรงอยู่พัฒนาเพื่อไปเป็นเครื่องมือในเรื่องของเศรษฐกิจต่อไปได้จะต้องมีกลไกหลักที่จะมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการนั่นก็คือการจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) ขึ้นมานั่นเอง
ซึ่ง ดร.ดนัย หวังบุญชัย คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า บทบาทที่สำคัญของสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) จะทำหน้าที่หนุนเสริมในทุกภาคส่วนและทำให้การดำเนินงานทางด้านศิลปะวัฒนธรรมไทยเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการบูรณาการทรัพยากรบุคคลตั้งแต่คนทำงาน ศิลปิน ปราชน์ชาวบ้าน ผู้ปฏิบัติงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดการสร้างคุณค่าอย่างเป็นระบบ จากคนในระดับล่างจะขึ้นสู่ข้างบนเพื่อไปรองรับการหนุนเสริมจากคนข้างบนซึ่งก็คือภาพนโยบายมาสู่ข้างล่างและจะเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการทั้งหมดของพื้นฐานที่มาจากรากฐานทั้งหมด ให้ความสำคัญมิติที่รอบด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะทำให้จิตวิญญาณของความเป็นไทยแต่ว่าใจสากล เข้าใจและนำความเป็นสากลมาสู่การทำงานในระดับท้องถิ่นได้ หากเปรียบประเทศไทยเหมือนดังต้นไม้ เศรษฐกิจคือราก สังคมคือลำต้น การเมืองคือเรือนยอด ศิลปวัฒนธรรมก็คือดอกผลเป็นสิ่งที่สะท้อนความงามและความเจริญของมนุษย์ทุกยุคสมัย จากนั้นการปฏิรูปสิ่งที่เป็นดอกผลให้งอกงามเกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสานและพัฒนาต่อจึงเป็นสิ่งที่คณะทำงานมุ่งหวังและรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิรูปศิลปะวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การทำให้ต้นไม้นั้นเติบโตออกดอกผลเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้คนไทยทั้งประเทศต่อไป
ทั้งนี้เพื่อเป็นพลังในการทำงานให้กับคนทำงานทางคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้เปิดให้คนในสังคมทั่วทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อบุคคล / องค์กรต้นแบบที่มีผลงานโดดเด่นด้านการปฏิรูปศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อรับรางวัล “ภูมิวัฒนธรรมแผ่นดิน” ใน 4 สาขา ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า มีผู้เสนอชื่อทั้งบุคคลและองค์กรต้นแบบเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่มีผู้ที่โดดเด่นและได้รับรางวัล ดังนี้
สาขาภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม
ประเภทบุคคล สาขาภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม
นางถนอม คงยิ้มละมัย
ประเภท หน่วยงาน องค์กร / สาขา ภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม
บริษัทสินไซโมเดล จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคม
.
สาขาภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน
ประเภทบุคคล สาขาภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน
ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์
ประเภท หน่วยงาน องค์กร / สาขา ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
.
สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้
ประเภทบุคคล สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้
นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์
ประเภท หน่วยงาน องค์กร / สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้
บ้านนักเขียนห้องเรียนสีสันศิลปะ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ : หลาดใต้โหนด
.
สาขาภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power)
ประเภทบุคคล สาขาภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power)
นายบุญสม สังข์สุข
ประเภทหน่วยงาน/ องค์กร สาขาภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power)
ทีม ช. ชราภาพ โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
.
ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย จากนี้การขับเคลื่อนงานของคณะอนุกรรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จะเป็นอย่างไรต่อไปติดตามได้อย่างต่อเนื่องที่ แฟนเพจ : มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สศช. : แฟนเพจ : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ต่อไป
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]