ปอยต้นธี สัญลักษณ์งานประเพณีแห่งการเริ่มปีใหม่
ปอยต้นธี สัญลักษณ์งานประเพณีแห่งการเริ่มปีใหม่
กะแย กะยัน กะยอ มีพิธีกรรมอย่างหนึ่งคือ “กั่งควัง” หรือ ปอยต้นธี เป็นประเพณีทางวัฒนธรรมหรืองานเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวเผ่ากะเหรี่ยง “ปอยต้นธี” มาจากภาษาไทยใหญ่ คำว่า ปอย หมายถึง งาน คำว่า ต้นธี หมายถึง ต้นไม้ที่มีการแกะสลัก และมีการประดับตกแต่งให้สวยงามโดยมีลักษณะคล้ายร่ม (ธี เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่าร่ม) งานปอยต้นธี หมายถึง งานประเพณีปีใหม่ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มปีใหม่ เริ่มวงจรการดำเนินชีวิตตามวิถีรอบใหม่ และเป็นการระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษการ แสดงความเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยต้นธีที่ใช้ในการประกอบพิธี ทำจากไม้ลูกหว้า หรือไม้สะเป่ (ภาษาไทใหญ่) ตะมอเหมาะ (ภาษากะเหรี่ยงแดง) กะเม่มา (ภาษากะเหรี่ยงคอยาว) การนำต้นหว้ามาเป็นสื่อสัญลักษณ์ ในการประกอบพิธีกรรม เนื่องจากมีความเชื่อว่าต้นหว้าเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่บังเกิดขึ้นในโลก อันมีนัยยะแห่งการกำเนิด การมีชีวิตใหม่ และความบริบูรณ์ กล่าวได้ว่าสามารถนับระยะเวลาการก่อตั้งชุมชนได้จากจำนวนต้นธีที่ชุมชนตั้งในลานศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ลานกั่งควัง” เพราะชาวเผ่ากะเหรี่ยงจะมีพิธีตั้งต้นธีทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง/ต้น ตั้งแต่เริ่มแรกตั้งชุมชน
งานประเพณีปอยต้นธีนั้น ตามความเชื่อจะถือปฏิบัติกัน 3 วัน มีลักษณะกิจกรรม ดังนี้
วันที่ 1 วันตัดต้นธี (โกวกะควาง)
ชาวบ้านจะทำพิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อเลือกต้นธีที่จะนำมาปรกอบพิธีกรรม โดยอาจารย์ผู้รู้ศาสตร์การทำนายที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น (กะควางปูจา) จากนั้นโปรยข้าวสารเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดี ขอขมาสิ่งต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทำการตัดต้นธีลง ต่อด้วยการตัดต้นไผ่เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการขนย้ายต้นธี เมื่อขนย้ายต้นธีลงมาด้านล่างจะปอกเปลือกต้นธีและตัดแต่งต้นธี เมื่อสำเร็จแล้วจึงแห่ต้นธีเข้าหมู่บ้าน ผู้หญิงจะนำยอดต้นหว้าชุบน้ำส่มป่อยมาพรมต้นธี เพื่อต้อนรับความโชคดีและสิ่งดีงาม จากนั้นเคลื่อนขบวนมาที่ลานต้นธี วางต้นธีไว้บนไม้ค้ำ จัดให้มีคนนอนเฝ้า เพื่อระวังสุนัข สัตว์เลี้ยงหรือผู้หญิงไม่ให้เข้าใกล้ต้นธี
วันที่ 2 วันประดับตกแต่งต้นธี (หม่ากะควางเกลอ) เพื่อจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ของต้นธี ประกอบด้วย
*เกล็ดตัวนิ่ม สื่อถึงความพยายามช่วยเหลือผู้อื่น
*เมล็ดข้าวเปลือก อาหารที่ใช้ในการดำรงชีวิตควรนึกถึงพระคุณ
*ปลา กินพืช ไม่ทำร้ายสัตว์อื่น แสดงถึงคุณธรรม
*ใยแมงมุม ที่อยู่อาศัยชั่วครรวของเทพ รับฟังคำขอของมนุษย์
*ดวงดาวประจำเมือง ดวงดาวที่ส่งที่สุดสามารถมองเห็นได้แม้ยามค่ำคืน
*ยอดไม้สะเป้ ยอดอ่อนที่ติดใบ ใช้ในการบูชา
วันที่ 3 พิธีปลูกต้นธี (เบาถ่างกะควาง)
เริ่มจากขุดหลุมการเตรียมปลูกต้นธี ต่อด้วยพิธียกต้นธี ชายหนุ่มในหมู่บ้านจะช่วยกันยกต้นธีเพื่อฝังต้นเสาลงไปในหลุม จากนั้นจะมีพิธีทำนายดวงชะตาของหมู่บ้าน ใช้ไก่ 2 ตัว (ตัวผู้-ตัวเมีย) ในการทำพิธีก็จะมาดูกระดูกไก่ทำนายในวันขึ้น ปีใหม่ว่าหมู่บ้านมีอุปสรรค หรืออยู่เย็นเป็นสุข หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในรอบปีให้ทราบ โดยเสี่ยงทายจากลักษณะของกระดูกขาไก่สองท่อนที่เสียบด้วยก้านไม้ไผ่จากไก่ที่ชาวบ้านนำมาบูชายัญ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเล่นดนตรีกะเหรี่ยง เต้นรำรอบต้นธี ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมเฉพาะ ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเฉลิมฉลองและอวยพรปีใหม่ พร้อมเลี้ยงอาหารรับรองแขกที่มาทำพิธี ก่อนกลับหมู่บ้าน ของตนเอง ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านอื่นจะเต้นอวยพรหน้าบ้านทุกหลัง พร้อมกับพรมน้ำส้มป่อยอวยพร
ชุมชนศิลปวัฒนธรรม เติมใจสร้างสุข สู่วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เชิญชวนทุกท่านร่วมงานปีใหม่กะยันของหมู่บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 18-20 เมษายน นี้ พบกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวกะยันที่ยึดถือปฏิบัติมาทุกปีด้วยความศรัทธาต่อต้นธี ความเชื่อที่มีมาแต่บรรพบุรุษจวบจนถึงปัจจุบัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 087-104-2616, 093-191-2920 หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ @สวัสดีห้วยปูแกง
อ้างอิง
พัทธวรรณ ละโป้. (2561). ผลของการใส่ห่วงคอต่อการทํางานของระบบทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดและการไหลของเลือดสู่สมองในหญิงกะเหรี่ยงกะยันในประเทศไทย. การศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 85
ลูกพีช Channel. สงกรานต์กะเหรี่ยงแดง ปอยอิลู ประเพณีต้นธี ออกอากาศ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2022 . ค้นเมื่อ 13 เมษายน 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=QLuPcUK1HmU.
ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและสื่อดิจิทัลล้านนา. ปอยต้นธี (Poi Ton Tee) บ้านห้วยปูแกง ออกอากาศ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2018 . ค้นเมื่อ 12 เมษายน 2567 จาก https://www.youtube.com/watch?v=licoAHrawdk.
สำนักวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. กิจกรรม ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณี “กั่งควัง” . ค้นเมื่อ 13 เมษายน 2567 จาก https://www2.m-culture.go.th/maehongson/ewt_dl_link.php?nid=1668
NATIONAL GEOGRAPHIC. ปอยต้นธี เสาศักดิ์สิทธิ์ วิถีแห่งความเชื่อ. ค้นเมื่อ 13 เมษายน 2567 จาก https://ngthai.com/photography/10-photography-contest/35669/poytonthee/.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]