รู้จักชาว “กะยัน” ประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อของ “กะเหรี่ยงคอยาว” อาศัยกระจายตัวอยู่ตามหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 1 เมษายน 67 / อ่าน : 215


รู้จักชาว “กะยัน” ประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อของ “กะเหรี่ยงคอยาว” อาศัยกระจายตัวอยู่ตามหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

 

 

“กะยัน” และ “แลเคอ” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง คำว่า แลเคอ แปลว่า “ตอนบนของ ลำธาร” อันหมายถึงถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาในรัฐคะเรนนี สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อของ “กะเหรี่ยงคอยาว”

ชาวกะยัน หรือชาวกะเหรี่ยงคอยาว เริ่มอพยพเข้าประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา โดยเข้ามาบริเวณพรมแดนไทย - ประเทศพม่า ตรงข้ามกับพื้นที่ตำบลผาบ่องและตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวกะยันเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยที่ห้วย พูลอง บ้านน้ำเพียงดิน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่แรก ปัจจุบันในจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบชาวกะยันอาศัยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) บ้านห้วยเสือเฒ่า และบ้านในสอย ทั้งนี้ยังพบชาวกะยัน หรือชาวกะเหรี่ยงคอยาว อาศัยกระจายตัวอยู่ตามหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

“ชาวกะยัน” เป็นคนกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้านการแต่งกายที่ผู้หญิงจะสวมใส่ห่วงทองเหลือง  ขดเรียงกันหลายชั้นบริเวณรอบคอ ซึ่งอาจจะมีมากถึง 25 ห่วง การใส่ห่วงทองเหลือง ตามคำบอกเล่าที่สืบต่อ กันมา เชื่อว่า ผู้หญิงชาวกะยันสวมห่วงทองเหลืองไว้เพื่อป้องกันการถูกฉุดจากชนเผ่าอื่น อีกทั้งเพื่อความสวยงาม หรือแสดงถึงความอยู่ดีกินดี ยิ่งมีห่วงทองเหลือมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงมั่งคั่งร่ำรวย หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ชายต้องหาทองเหลืองมหาให้ฝ่ายหญิงที่เขาต้องการแต่งงานด้วย ฝ่ายชายต้องเสนอให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง ยิ่งให้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้ผู้หญิงมาครอบครองมากขึ้น

วิถีชีวิตของชาวกะยัน ผู้ชายส่วนมากจึงรับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์หรือหาของป่ามาขาย และผู้ชายบางคนที่เก่งงานฝีมือก็อาจจะทำการแกะสลักตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาว เพื่อจำหน่าย ส่วนผู้หญิงและเด็กก็จะทอผ้าพันคอรวมถึงจำหน่ายของที่ระลึก เสื้อ หรือสินค้าอื่น ๆ

ในส่วนความเชื่อ พิธีกรรม ซึ่งความเชื่อในเรื่องวิญญาณ และเรื่องของภูตผีปีศาจ ชาวกะยันเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นที่อาศัยของจิตวิญญาณที่สามารถละทิ้งบุคคลไป จิตวิญญาณที่สองนี้ จะเรียกว่า ajola ซึ่งอาจหมายถึงจิตวิญญาณ หรือ เงา หรือ ภาพที่เห็นในความฝัน เมื่อมีคนป่วยก็เป็นสัญญาณว่า ajola จะหายไปหรืออยู่ห่างไกลออกไป โดยร่างกายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่อาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน หาก ajola ไม่กลับมาผู้นั้นก็จะตายได้ ก็จะมีการเรียกเอาวิญญาณกลับมา โดยจะละเลงเลือดไก่บนหน้าผากของครัวเรือนสมาชิก ก่อนที่หมอจะเอาไก่ออกจากหมู่บ้าน และจัดพิธีเรียกวิญญาณกลับมา มีการฆ่าหมู โดยบางส่วนของหมูก็จะมอบให้ผู้ทำพิธี ส่วนที่เหลือจะถูกนำมารับประทานร่วมกัน และจะมีการผูกด้ายรอบข้อมือเพื่อเป็นการผูกวิญญาณ

และความเชื่อเรื่อง ตาแหลว รูปแบบของไม้ไผ่จะสานเห็นหลุมหกเหลี่ยม อันเป็นสัญลักษณ์ป้องกัน และรักษาโรค หากมีคนเจ็บป่วยหรือมีเด็กคลอดใหม่ ในกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรง และมีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้นหรือมีเหตุการณ์ฝันประหลาดที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ก็จะมีการนำไม้ไผ่มาสานเป็นตาแหลว โดยอาจติดไว้หน้าบ้าน หรืออาจจัดหมาก พลู ยาสูบ เพื่อส่งวิญญาณชั่วร้ายออกไป

นอกนี้ชาวกะยันในประเทศไทย นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเทวดาและ  นับถือบรรพบุรุษ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

งานประเพณี งานปอยต้นธี  ซึ่งมาจากภาษาไทยใหญ่ คำว่า ปอย หมายถึง งาน คำว่า ต้นธี หมายถึง ต้นไม้ที่มี การแกะสลัก และมีการประดับตกแต่งให้สวยงามโดยมีลักษณะคล้ายร่ม ( ธี เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่าร่ม ) งานปอยต้นธี หมายถึง งานประเพณีปีใหม่ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มปีใหม่ เริ่มวงจรการดำเนินชีวิตตามวิถีรอบใหม่ และเป็นการระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ โดยในพิธีมีการนำต้นหว้ามาเป็นสื่อสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรม เนื่องจากมีความเชื่อว่าต้นหว้าเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่บังเกิดขึ้นในโลก อันมีนัยยะแห่งการกำเนิด การมีชีวิตใหม่ และความบริบูรณ์ กล่าวได้ว่าสามารถนับระยะเวลาการก่อตั้งชุมชนได้จากจำนวนต้นธีที่ชุมชนตั้งในลานศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ลานกั่งควัง” เพราะชาวกะยันจะมีพิธีตั้งต้นธีทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง/ต้น ตั้งแต่เริ่มแรกตั้งชุมชน 

ในปัจจุบันชาวกะยัน หรือชาวกะเหรี่ยงคอยาว นับว่าเป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้เห็นแง่มมุมต่าง ๆ ที่เราอาจจะยังไม่รู้ ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ สังคม วัฒนธรรม และประเพณี ที่แสดงถึงสังคมแห่งพหุวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ

ชุมชนศิลปวัฒนธรรม เติมใจสร้างสุข สู่วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เชิญชวนทุกท่านไปท่องเที่ยวหาชาวกะยันที่ “บ้านห้วยปูแกง” 1 ใน 3 หมู่บ้านที่มีชาวกะยันอาศัยอยู่ ปีนี้ทางเรามีโอกาสได้เข้าไปสร้างความตระหนักถึงรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มีความเป็นมา เกิดความอยากรักษาธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาความรู้ที่ดีของบรรพบุรุษ อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านห้วยปูแกงเกิดความน่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้น และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนเกิดสุขภาวะที่ดีทั้ง กาย จิต สังคม ปัญญา

ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจเฟซบุ๊ก สวัสดีห้วยปูแกง Sawasdee Huay Pu Keng Village 

 

อ้างอิง

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : กะยัน. ค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567. https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/158/.

ไทยพีบีเอส. รายการสารคดีชุด คนชายขอบ ตอน ห่วงคอวงสุดท้ายของกะยัน ออกอากาศวันอาทิตย์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563. ค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2567. https://www.thaipbs.or.th/program/KonChayKhob/episodes/72057

Peary Ch. “กะเหรี่ยงคอยาว” อีกหนึ่งชนเผ่าผู้ลี้ภัยที่ถูกไทยกักไว้เพื่อจัดแสดง “สวนสัตว์มนุษย์” ค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2567. https://www.wethink.social/2020/12/18/kayan-refugee-thai-not-free/?fbclid=IwAR3ejDt7-3MS9Bi40790w0ERq4cf4AOFLweBmPtpN9RRBsutSd5rePyMmuw_aem_Aat9wmcio9OA8yeVA8UWO3pvjozEke2qt_Xp6bSDpRAFUV45Seh0ZxyS5JbVu-gz9eEVD5URoG3Fzw_eJeagAJ_0

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]